จาก “ทาคาตะ” ถึง “โกเบสตีล” คาใจ…มาตรฐานสินค้าญี่ปุ่น ?

กลายเป็นข่าวฉาวครั้งใหญ่ในวงการ “อุตสาหกรรมเหล็ก” หลังจากที่ “โกเบสตีล” ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของญี่ปุ่น ออกมายอมรับว่าปลอมแปลงข้อมูลคุณภาพสินค้า จนทำให้ความเชื่อมั่นในบริษัทญี่ปุ่นอื่น ๆ พลอยถูกหางเลขไปด้วย

วันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ถูกจารึกในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการคดโกงของ “โกเบสตีล” ผู้ผลิตเหล็กใหญ่อันดับสามของญี่ปุ่น ซึ่งเปิดทำธุรกิจมายาวนานถึง 112 ปี ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า การปลอมแปลงสเป็กสินค้า ได้สร้างความวิตกและลบล้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้าของโกเบสตีลไม่น้อย กว่า 200 บริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศ กำลังเริ่มมองหาวิธีการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่รับมาจากโกเบสตีลอย่างเร่งด่วน

กรณีฉาวเริ่มต้นจากที่ “นิสสัน มอเตอร์ส” ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่อันดับ 6 ของโกเบสตีล ได้ตรวจสอบความปลอดภัยและพบความผิดปกติ จึงเรียกรถคืนเพื่อตรวจสอบใหม่กว่า 1.21 ล้านคัน เมื่อต้นเดือน ต.ค. จนท้ายที่สุดซีอีโอของโกเบสตีล ก็ออกมายอมรับผิด

และจากการตรวจสอบการส่งมอบสินค้าลอตล่าสุดในช่วงเดือน ก.ย. 2016-ส.ค. 2017 พบว่ามี 4 โรงงานในเครือโกเบสตีล ได้ปลอมแปลงค่าความแข็งแรงและความทนทานของอะลูมิเนียมแผ่น จำนวน 19,300 ตัน อะลูมิเนียมชนิดอัดขึ้นรูป 19,400 ยูนิต และทองแดง 2,200 ตัน โดยยอดขายอะลูมิเนียมและทองแดงนั้น คิดเป็น 1 ใน 5 ของรายได้บริษัท

นอกจากนี้มีการตรวจสอบเพิ่มเติม และพบว่าอาจมีการปลอมแปลงข้อมูลผลิตภัณฑ์ผงเหล็กกล้า ที่นำไปผลิตรถยนต์หรือเครื่องจักรให้ได้ตามเกณฑ์ลูกค้ามานานกว่า 10 ปีด้วย

ทั้งนี้ บลูมเบิร์กรายงานว่า นักวิเคราะห์จาก “เจพี มอร์แกน” สถาบันการเงินการลงทุนชั้นนำของสหรัฐ ประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นของโกเบสตีลคาดว่าอยู่ที่ 90-130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่โกเบสตีล มีทรัพย์สินรวมมูลค่า 20,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“แม้ว่าความเสียหายที่ประเมินอาจยังไม่มาก แต่โกเบสตีลมีฐานลูกค้าในหลายธุรกิจ ตั้งแต่บริษัทรถยนต์ เครื่องบิน รถไฟ จนถึงเครื่องจักร และอาวุธ แม้กระทั่งชิ้นส่วนของกระสวยอวกาศที่ผลิตให้กับสำนักงานสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น (JAXA) ดังนั้นหากผลลัพธ์จากที่ลูกค้าเร่งตรวจสอบสินค้าจากโกเบสตีลพบว่าต่ำกว่ามาตรฐาน ก็อาจทำให้อนาคตของโกเบสตีลมืดสนิทในทันที”

รายงานยืนยันว่ากลุ่มลูกค้าของโกเบสตีล ที่เริ่มกระบวนการตรวจสอบหลังทราบข้อเท็จจริง ในกลุ่มรถยนต์อย่างเช่น โตโยต้า, ฮอนด้า, ฟอร์ด, นิสสัน, มิตซูบิชิ, ซูบารุ, เจนเนอรัลมอเตอร์ส และบางสำนักข่าวระบุว่ามี “เทสลามอเตอร์ส” ด้วย

ขณะที่ในกลุ่มการบิน เช่น โบอิ้ง และมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์ ก็ใช้อะลูมิเนียมจากโกเบสตีล มาผลิตปีกและลำตัวเครื่องบิน โดยล่าสุด สำนักงานความปลอดภัยด้านการบินยุโรป (EASA) ประกาศให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมการบินของยุโรปเตรียมระงับการใช้ผลิตภัณฑ์จากโกเบสตีล พร้อมแนะนำให้ผู้ผลิตมองหาซัพพลายเออร์รายอื่นแทน ขณะที่ “แอร์บัสกรุ๊ป” ยืนยันว่าบริษัทไม่เคยซื้อสินค้าจากโกเบสตีลโดยตรง แต่ต้องตรวจสอบที่มาของซัพพลายเออร์รายอื่นที่อาจใช้ผลิตภัณฑ์จากบริษัทดังกล่าว

ส่วน “กลุ่มรถไฟ” โดยเฉพาะ JR Central เจ้าของรถไฟชินคันเซ็น ที่ใช้อะลูมิเนียมมาผลิตรถไฟหัวกระสุน ยอมรับว่ากับเจแปนไทม์สว่าพบชิ้นส่วนบางอย่างที่ไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม แต่ยังไม่เจอปัญหาด้านความปลอดภัยที่ร้ายแรง รวมทั้ง “กลุ่มอาวุธยุทโธปกรณ์” ตั้งแต่เครื่องบิน รถถัง และขีปนาวุธ ที่คาดว่าทางมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์, คาวาซากิ

เฮฟวี อินดัสทรีส์ ผู้ผลิตอาวุธให้กับกองกำลังป้องกันตนเองของประเทศญี่ปุ่น กำลังเร่งตรวจสอบสินค้าที่รับมาจากโกเบสตีลเช่นกัน

นักวิเคราะห์เจพี มอร์แกน มองว่า สาเหตุที่ทำให้โรงงานของโกเบสตีลทำผิดพลาดเช่นนี้ น่าจะมาจากการแข่งขันในวงการธุรกิจเหล็กที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะกับบริษัทต่างชาติเช่น จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่มีราคาถูกกว่า โดยจะเห็นว่ากำไรของโกเบสตีล เริ่มลดลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2014 และขาดทุนในปี 2016 ประกอบกับญี่ปุ่นอยู่ในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองมานาน จำเป็นต้องควบคุมต้นทุนการผลิต

“ที่ผ่านมาญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพสินค้าที่สูงกว่ามาตรฐาน เมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่น ๆ แต่เมื่อเกิดเหตุฉาวเช่นนี้ ย่อมเกิดความไม่มั่นใจต่อลูกค้า หรืออย่างน้อยอาจต่อรองราคาให้ถูกลง ดังนั้นจึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ชะลอตัวไปอีก จากปีก่อนที่จีดีพีโตเพียง 1%”

ไม่เพียงเท่านี้ เจพี มอร์แกน ระบุว่า แม้โกเบสตีลประกาศว่าจะรับผิดชอบและชดเชยความเสียหายให้กับลูกค้า ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าผลการตรวจสอบของลูกค้าถึงที่สุดแล้วมูลค่าความเสียหายในครั้งนี้จะมีมูลค่ามากแค่ไหน และโกเบสตีลจะสามารถชดเชยได้จริงหรือ ซึ่งทำให้อนาคตของบริษัทอาจต้องเดินตามรอยของ “ทาคาตะ”ผู้ผลิตถุงลมนิรภัยในรถยนต์ ที่สุดท้ายความผิดพลาดทำให้บริษัทมีหนี้สินสูงถึง 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจนต้องขอยืนล้มละลายในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา