ตระกูล ‘ภูนวาลา’ เจ้าสัววัคซีนอินเดีย

ขณะที่รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศตอนนี้กำลังเร่งหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อหยุดการระบาดของโรค ซึ่งได้คร่าชีวิตไปมากถึง 2 ล้านคนทั่วโลกแล้ว ซึ่งความหวังของมนุษยชาติทั่วโลกอาจขึ้นอยู่กับ “สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย” (Serum Institute of India) ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 “โควิชีล์ด” ของ “แอสตร้าเซนเนก้า” ที่มีแผนการผลิต 1 พันล้านโดส ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. 2564

“สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย” ก่อตั้งโดย “ไซรัส ภูนวาลา” (Cyrus Poonawalla) เจ้าของฉายา “ราชาวัคซีนแห่งอินเดีย” และเป็นประธาน ไซรัส ภูนวาลา กรุ๊ป

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1966 “ไซรัส ภูนวาลา” เป็นเจ้าของฟาร์มเพาะพันธุ์ม้า และได้ส่งเซรุ่มของม้าที่เกษียณแล้วไปทำวัคซีน ซึ่งไซรัสได้เล็งเห็นว่าตอนนั้นอินเดียยังไม่มีโรงงานผลิตวัคซีนได้ในจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลใช้วิธีสั่งวัคซีนมาจากต่างประเทศ เมื่อเห็นช่องว่างในตลาด ไซรัสจึงเริ่มบุกเบิกสร้างโรงงานผลิตวัคซีน ด้วยเงินทุนเริ่มต้น 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 350,000 บาท) โดยร่วมมือกับน้องชาย “ซาวารี” และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 3 คน สร้างโรงงานฐานการผลิตที่เมืองปูเน่ รัฐมหาราษฏระ และก่อตั้งบริษัทสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียในที่สุด

จีคิวอินเดีย รายงานว่า ความสำเร็จของบริษัทมาจากการ “บุกเบิก” เป็นเจ้าแรกของประเทศที่สามารถผลิตวัคซีนได้จำนวนมาก ซึ่งการผลิตในปริมาณที่มาก ทำให้ราคาต้นทุนถูกกว่าการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศมาก โดยเริ่มต้นผลิตเซรุ่มต้านพิษงู วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ วัคซีนป้องกันหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน และได้ขยายไปสู่การผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น จนกลายเป็นผู้นำการผลิตวัคซีนรายใหญ่ของอินเดีย

ในปี 2011 “อดาร์ ภูนวาลา” ลูกชาย เข้ามารับตำแหน่ง “ซีอีโอ” แทน อดาร์เน้นขยายฐานลูกค้านานาชาติไปทั่วโลก เร่งจดทะเบียนสินค้าใหม่ให้ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยวัคซีนขององค์การอนามัยโลก และผลิตวัคซีนให้กับหน่วยงานของสหประชาชาติอย่าง “ยูนิเซฟ” และ “พาโฮ” (หน่วยงานสาธารณสุขทวีปอเมริกา) โดยบริษัทเน้นส่งออกวัคซีนที่ต้องฉีดในวัยเด็ก เช่น วัคซีนวัณโรคและโปลิโอ ด้วยกำลังผลิตมากถึง 1.5 พันล้านโดสต่อปี

นอกจากนี้ ตระกูล “ภูนวาลา” ยังคงธุรกิจเดิมไว้ซึ่งการเพาะพันธุ์ม้าที่ “วิลู ภูนวาลา กรีนฟิลด์ ฟาร์ม” และมีธุรกิจอื่น ๆ เช่น ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ธุรกิจให้เช่าเครื่องบินส่วนตัว กองทุนธุรกิจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งได้ไปซื้อบริษัทผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากประเทศเนเธอร์แลนด์ “บิลโทเว่น ไบโอโลจิคอล” ซึ่งธุรกิจเหล่านี้อยู่ภายใต้เครือ “ไซรัส ภูนวาลา กรุ๊ป”

และหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 บริษัทได้ร่วมมือกับบริษัท “แอสตร้าเซนเนก้า” ซึ่งได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งประเทศอินเดียได้เป็นหนึ่งในฐานการผลิตวัคซีนนี้ และเป็นหนึ่งในสองวัคซีนป้องกันโควิดที่รัฐบาลอินเดียได้เริ่มฉีดให้กับประชาชนตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลอินเดียมีเป้าหมายว่าจะฉีดให้ถึง 300 ล้านคนทั่วประเทศภายในเดือน ส.ค.นี้ นอกจากนี้ บริษัทยังได้ทำข้อตกลงเป็นฐานการผลิตวัคซีนให้บริษัท “โนวาแวกซ์” ของสหรัฐ อีกเจ้าด้วย

อดาร์เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า เขาไม่ได้แปลกใจกับการเกิดโรคระบาดทั่วโลก เพราะ “บิลล์ เกตส์” ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ได้พูดเตือนไว้ว่าจะเกิดโรคระบาดตั้งแต่ปี 2015 และบริษัทก็ได้วางแผนตั้งรับ ขยายฐานการผลิตเพื่อรองรับสถานการณ์แบบนี้มาตั้งแต่ตอนนั้น บริษัทจึงกลายเป็นผู้นำการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของโลก และถึงแม้เขาอยากจะไปพักผ่อนบนเรือยอชต์ ไปงานรถแข่ง ไปเทศกาลหนัง แต่การผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ทำอยู่ตอนนี้ ถือเป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตในการช่วยมวลมนุษยชาติ ซึ่งหาที่ไหนไม่ได้อีก