รัฐบาลทหารเมียนมา นิรโทษกรรมนักโทษ 2.3 หมื่นคน

เมียนมานิรโทษกรรมนักโทษ 2.3 หมื่นคน
ภาพโดย jplenio จาก Pixabay

เมียนมาได้เริ่มปล่อยตัวผู้ต้องขังหลายหมื่นคน ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา หลังการประกาศนิรโทษกรรม ซึ่งถือเป็นการปล่อยตัวผู้ต้องขังครั้งแรก ภายใต้รัฐบาลทหารชุดใหม่ 

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 สื่อต่างประเทศ รายงานว่า สภาปกครองแห่งชาติ (เอ็นเอซี) ซึ่งบริหารโดยผู้นำรัฐประหารและ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ประกาศว่า การนิรโทษกรรมนักโทษ 23,314 คน เป็นไปตามเหตุผลด้านมนุษยธรรม เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในงานวันสหภาพ ปีที่ 71 (ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ก.พ.)

เรดิโอ ฟรีเอเชีย รายงานว่า นายเอ หม่อง นักการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ยะไข่ ที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ในข้อหากบฏ เมื่อปี 2562 เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอินเส่งในนครย่างกุ้งด้วย

เขาถูกจับกุมเมื่อช่วงต้นปี 2561 และถูกตั้งข้อหาจากการกล่าวในงานสาธารณะว่า รัฐบาล ซึ่งนำโดย นางอองซาน ซูจี ปฏิบัติต่อชาวยะไข่ราวกับเป็น “ทาส”

รัฐบาลทหารเมียนมา เผยว่า นักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวครั้งนี้ มีชาวต่างชาติ 55 คน แต่ยังไม่ชัดเจนว่ามีนักโทษการเมืองกี่คนที่ได้รับการปล่อยตัวภายใต้การนิรโทษกรรมครั้งนี้

นอกจากนี้ ยังระบุว่า โทษจำคุกตลอดชีวิต จะลดลงเหลือ 40 ปี ส่วนโทษจำคุกที่สูงกว่า 40 ปี จะลดลงเหลือ 40 ปี ขณะที่โทษจำคุก 40 ปี จะลดโทษให้สั้นลงหนึ่งในสี่

สำหรับการนิรโทษกรรมครั้งนี้ถือเป็นการนิรโทษกรรมครั้งแรกภายใต้รัฐบาลทหาร ที่เพิ่งโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางซูจี โดยไม่เสียเลือดเสียเนื้อ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สภาซึ่งปกครองโดยทหาร ได้จับกุมเจ้าหน้าที่ของรัฐและข้าราชการหลายร้อยคน ที่เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร โดยไม่ใช่ความรุนแรง นับตั้งแต่การยึดอำนาจ

ผู้ที่อาศัยในเขตโอคกะละปาเหนือของนครย่างกุ้งหลายร้อยคน ได้มารวมตัวกันใกล้กับสถานีตำรวจ เมื่อช่วงดึกวันพฤหัสบดีที่แล้ว เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวกวีคนหนึ่ง ซึ่งถูกตำรวจลากตัวไประหว่างการประท้วงต้านรัฐประหาร

การประท้วงขนาดใหญ่ยังคงดำเนินต่อไปทั่วประเทศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการประท้วงติดต่อกันเป็นวันที่ 7

มีรายงานความตึงเครียดเกิดขึ้นที่เมืองเมาะลำเลิง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐมอญ หลังตำรวจยิงปืนเตือนและลากผู้นำการประท้วงบางคนออกไป เมื่อช่วงเช้าวันศุกร์