แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ ‘ไบเดน’ ผลงานมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

หลังจากถกเถียงกันเป็นเวลายาวนาน ในที่สุดวุฒิสภาสหรัฐก็ได้ลงมติอนุมัติร่างกฎหมาย “แพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐเคยสัญญาไว้ โดยวุฒิสภาได้ส่งร่างกฎหมายที่อนุมัติแล้วฉบับล่าสุด กลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติอีกครั้ง ก่อนที่จะให้ไบเดนเซ็นรับรองร่างกฎหมายนี้

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ร่างกฎหมายฉบับล่าสุดของแพ็กเกจดังกล่าว ผู้ใหญ่และเด็กที่มีรายได้น้อยกว่า 75,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี จะได้รับเงิน 1,400 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 43,000 บาท) ต่อคน และรัฐบาลจะต่ออายุโครงการมอบสวัสดิการช่วยเหลือบุคคลว่างงาน 300 ดอลลาร์สหรัฐต่ออาทิตย์ ไปจนถึงวันที่ 6 กันยายน 2564

ขณะเดียวกัน เงินก้อนนี้จะถูกแบ่งไปเป็นกองทุนช่วยเหลือหน่วยงานท้องถิ่น 3.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแบ่งออกเป็นเงินช่วยเหลือทั้ง 50 รัฐ, หน่วยงานของเขตและเมือง, “ชนเผ่า” ในประเทศ และดินแดน (territory) ของสหรัฐ

นอกจากนี้ แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจยังรวมถึงการขยายสวัสดิการแสตมป์แลกอาหาร, โครงการลดหย่อนภาษี ช่วยเหลือครอบครัวที่มีลูก, กองทุนช่วยเหลือสถานศึกษาให้เปิดได้อย่างปลอดภัย, ที่ต่ออายุโครงการสินเชื่อรายได้ต่ำสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก, กองทุนช่วยเหลือโครงการที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 และการช่วยเหลือสถานพยาบาลในถิ่นทุรกันดาร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ต้องส่งกลับร่างกฎหมายไปให้สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติอีกครั้ง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงบางส่วนของร่างกฎหมายเดิม แต่แหล่งข่าวระบุว่า สภาผู้แทนราษฎรน่าจะอนุมัติร่างกฎหมายฉบับล่าสุดนี้ ซึ่งหมายความว่าจะเป็นร่างกฎหมายสำคัญสุดทั้งในแง่เศรษฐกิจและนัยในทางการเมืองฉบับแรก หลังไบเดนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี

“ถึงแม้การอนุมัติร่างกฎหมายจะไม่สวยหรู แต่เป็นสิ่งที่ชาติต้องการ ประเทศได้รับความเดือดร้อนมานานเกินไปแล้ว” ไบเดนกล่าว

ทั้งนี้ วันที่ 6 มี.ค.ที่่ผ่านมา สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ ลงมติสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับล่าสุดด้วยคะแนนเสียง 50 ต่อ 49 โดยทั้ง 50 เสียงมาจาก ส.ว. พรรคเดโมแครตทั้งหมด ขณะที่ ส.ว.จากพรรครีพับลิกันทุกคนลงมติไม่สนับสนุนร่างกฎหมายแพ็กเกจนี้เลย

อย่างไรก็ตาม ภายในพรรคเดโมแครตเอง ถึงแม้จะอนุมัติร่างกฎหมายฉบับนี้กันทุกคน แต่ต้องปรับเปลี่ยนบางส่วนของแพ็กเกจ เนื่องจาก ส.ว.ภายในรัฐแต่ละรัฐมีความเห็นแตกต่างกัน อย่างโครงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ภายในปี 2025 ผู้สนับสนุนนำโดย ส.ว. “เบอร์นี แซนเดอร์ส” สมาชิกสภาอิสระฝ่ายเดโมแครต และหนึ่งใน ส.ว.ที่อยู่ในกลุ่มค่อนข้างซ้าย หรือ “โปรเกรสซีฟ” ต้องการให้มีโครงการนี้ในแพ็กเกจ แต่มี ส.ว.พรรคเดโมแครตถึง 8 คนที่ไม่อนุมัติโครงการนี้

นอกจากนี้ ส.ว. “โจ แมนชิน” จากพรรคเดโมแครต ที่อยู่ในกลุ่มที่มีแนวคิดกลางหรือ “โมเดอเรต” ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มเงินในโครงการสวัสดิการช่วยเหลือบุคคลว่างงานเป็น 400 ดอลลาร์สหรัฐต่ออาทิตย์ ทางพรรคจึงยอมปรับลดตัวเลขนี้กลับมาอยู่ที่ 300 ดอลลาร์เหมือนเดิม โดยเพิ่มระยะเวลาโครงการไปอีก 2 อาทิตย์ และเพิ่มให้คนที่อยู่ภายใต้โครงการนี้จ่ายภาษีลดลงตามข้อกำหนด

และเนื่องจากมีสมาชิกวุฒิสภาฝั่งเดโมแครต 50 คน และรีพับลิกัน 49 คน ในวันลงมติ พรรคเดโมแครตไม่สามารถเสียเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.คนหนึ่งคนใดได้เลย เพราะหากมี ส.ว.ของพรรคเพียง 1 คนไม่อนุมัติ ร่างกฎหมายนี้จะถูก “ปัดตก” ทันที

ส.ว. “ชัค ชูเมอร์” ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า ภูมิใจที่ทุกคนภายในพรรคตั้งแต่แซนเดอร์สไปจนถึงแมนชิน สามารถทำข้อตกลงใหม่จนสำเร็จ

แต่ ส.ว.รีพับลิกันทุกคนไม่อนุมัติร่างกฎหมายนี้ เพราะมองว่าเป็นการใช้เงินจำนวนมากเกิน และเสนอใช้งบฯไม่เกิน 6 แสนล้านดอลลาร์ โดยมองว่าร่างกฏหมายนี้ใช้งบประมาณเพื่อผ่านนโยบาย “ซ้ายจัด” ของเดโมแครต แต่ใช้โควิดเป็นข้ออ้าง

ทั้งนี้ “เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ กล่าวว่า ช่วงนี้จำเป็นที่จะต้องมีแพ็กเกจวงเงินสูงเพื่อช่วยเหลือชาวอเมริกันที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก อย่างประชาชนที่กำลังไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ผู้ใหญ่และเด็ก ที่แทบไม่มีจะกิน รวมถึงธุรกิจเล็ก ๆ ที่กำลังลำบาก

โดย “นาทาน ชีทส์” นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทพีจีไอเอ็ม ฟิกซ์ อินคัม กล่าวว่า แม้จะมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นหลังจากนี้ แต่ตลาดแรงงานประเทศกำลังมีปัญหาอย่างมาก แพ็กเกจนี้จะเข้ามาช่วยเหลือทำให้มีอาชีพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

แต่ทว่า “ลาร์รี ซัมเมอร์ส” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่ามีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงจากแพ็กเกจนี้ และเป็นห่วงว่าธนาคารกลางสหรัฐ รวมถึงสมาชิกสภาคองเกรสฝั่งพรรคเดโมแครตกำลังมองข้ามปัญหา มุ่งแต่จะช่วยเหลือโดยการให้เงินอย่างเดียว