ถอดบทเรียน “อิสราเอล” ฉีดวัคซีนเร็วที่สุดในโลก

“อิสราเอล” เป็นหนึ่งในประเทศที่โครงการฉีดวัคซีนโควิดเร็วที่สุดในโลก ข้อมูลเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2021 มีประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครบสองโดสแล้วถึง 46% จากประชากรทั้งประเทศ 9.3 ล้านคน โดยมีประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส ประมาณ 59%

“เบนจามิน เนทันยาฮู” นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ได้แถลง “โชว์ผลงาน” โครงการฉีดวัคซีนที่รวดเร็วพร้อมระบุว่า ประเทศจะชนะจากโควิดได้ภายในต้นเดือนเมษายนนี้

โครงการฉีดวัคซีนที่รวดเร็ว ทำให้อิสราเอลเริ่มผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ และรัฐบาลได้อนุมัติระบบ “ตราเขียว” ทำหน้าที่เป็นวัคซีนพาสปอร์ตภายในประเทศ รับรองว่าบุคคลนั้นได้ฉีดวัคซีนครบถ้วน หรือมีภูมิคุ้มกันแล้ว

และทำให้ธนาคารกลางอิสราเอลคาดการณ์ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศปีนี้ขยายตัวถึง 6% หากโครงการฉีดวัคซีนยังคงดำเนินไปอย่างรวดเร็ว หลังจากเศรษฐกิจหดตัวถึง -2.4% ในปี 2020

ขณะที่บลูมเบิร์กรายงานว่า ความหวังที่เศรษฐกิจอิสราเอลกลับมาอยู่ในภาวะปกติเหมือนก่อนโรคระบาดยังคงอีกไกล โดยการระบาดของโรคโควิด เข้ามามีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบริการ อย่างร้านอาหารอย่างมาก

ประธานสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารอิสราเอล กล่าวว่า ตั้งแต่มีโควิด มีร้านอาหาร 4,000 แห่งที่ปิดกิจการถาวร จาก 14,000 แห่งทั่วประเทศ ส่วนร้านอาหารที่กลับมาเปิดบริการได้ ก็มีค่าใช้จ่ายมาก ซึ่งอาจทำให้ร้านอีก 2,000 แห่งกลับมาเปิดไม่ได้

ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศยังคงไม่สามารถกลับมาดำเนินตามปกติ จากปี 2019 อิสราเอลมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาถึง 4.5 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศถึง 1.87 แสนล้านบาท แต่อุตสาหกรรมแทบจะหยุดนิ่งตั้งแต่โรคเริ่มระบาด และต้องรอว่าจะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาได้เดือนเมษายนนี้ ตามที่เคยวางแผนไว้หรือไม่

ถึงแม้ผู้ใช้บริการจะฉีดวัคซีนครบและมีตราเขียวแล้ว แต่ยังคงมีมาตรการเพื่อป้องกันการระบาดของโรค ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจตามปกติ ซึ่งส่งผลให้บางธุรกิจยังคงไม่กลับมาเปิดกิจการ เนื่องจากไม่คุ้มต่อต้นทุน

ส่วนอีกปัญหาคือมีประชาชนส่วนหนึ่งที่ยังคงไม่กล้าฉีดวัคซีน และอาจทำให้ประเทศไปถึงจุดที่จะมี “ภูมิคุ้มกันหมู่” ได้ยากขึ้น รัฐมนตรีสาธารณสุขอิสราเอลกล่าวว่า การเชิญชวนให้คนที่บอกว่าจะไม่ฉีด เปลี่ยนใจมาฉีดวัคซีนนั้นยากมาก

“ดร.จิลี่ เรเจฟ” ประธานศูนย์การแพทย์ชีบา อิสราเอล กล่าวว่า เนื่องจากมีการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ จากสหราชอาณาจักร (ยูเค) ทำให้อิสราเอลต้องฉีดวัคซีนให้กับประชากรอย่างน้อย 80% ถึงจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ทันเดือนเมษายน ซึ่งแม้ยังเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีการอนุมัติการฉีดวัคซีนโควิดให้กับเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 16 ปี อย่างไรก็ดี ยังอยากให้ทุกคนไปฉีดวัคซีน ยิ่งประชาชนฉีดวัคซีนมากความเสี่ยงที่โรคจะกลับมาระบาดหนักก็ลดลง

ดร.เรเจฟระบุว่า ยังมีประชาชนกลุ่มหนึ่งไม่กล้าฉีดวัคซีน เพราะยังไม่เชื่อว่าวัคซีนนี้ปลอดภัย และมีบางกลุ่มที่ไม่ได้มองว่าการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่ตราเขียวเสมือนวัคซีนพาสปอร์ต ที่มีประวัติการฉีดวัคซีนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจ เนื่องจากบางสถานที่อย่างฟิตเนส และสถานบันเทิง สามารถเปิดให้ประชาชนที่มีตราเขียวเข้าได้เท่านั้น แต่การโฆษณาและให้ข้อมูลประชาชนยังไม่สามารถเชิญชวนให้ประชาชนกลุ่มนี้เปลี่ยนใจมาฉีดวัคซีนได้ ซึ่งจะทำให้โรคโควิด-19 เสี่ยงที่จะกลับมาระบาดในประเทศอีกครั้ง และต้องวนกลับมา “ล็อกดาวน์” ซึ่งก็จะซ้ำเติมเศรษฐกิจมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไปถึงจุดที่มี “ภูมิคุ้มกันหมู่” แล้ว รัฐบาลก็ยังต้องวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างระมัดระวัง “อาดิ เบรนเดอร์” นักวิจัยเศรษฐศาสตร์มหภาค ธนาคารกลางอิสราเอล กล่าวว่า คำถามต่อไปคือ รัฐบาลควรจะเริ่มหยุดการสนับสนุนทางการเงินต่อประชาชนหรือไม่ เพื่อให้ประชาชนเริ่มปรับตัว ไม่ต้องพึ่งรัฐบาลเกินไป แต่หากหยุดความช่วยเหลือเร็วเกินไป ก็จะทำลาย “โมเมนตัม” การฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้