กต.ชี้แจง กรณีข่าวชาวอินเดียเช่าเหมาลำเครื่องบินมาไทย

Air India
REUTERS/Jennifer Gauthier

กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณี รายงานข่าวที่ว่า ชาวอินเดียเช่าเหมาลำเครื่องบินเพื่อเดินทางมาประเทศไทย เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งเกิดจากการแปลข่าวที่ตีพิมพ์โดยสำนักข่าวต่างประเทศผิด

วันที่ 27 เมษายน 2564 นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณี รายงานข่าวที่ว่า ชาวอินเดียเช่าเหมาลำเครื่องบินเพื่อเดินทางมาประเทศไทย

นายธานี ระบุ เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งเกิดจากการแปลข่าวที่ตีพิมพ์โดยสำนักข่าวต่างประเทศผิด ทำให้นำมาสู่การตีความว่า มีกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีฐานะร่ำรวย ประสงค์จะเช่าเหมาลำเที่ยวบินโดยสารจากประเทศอินเดียมายังประเทศไทย ซึ่งไม่เป็นความจริง

โดยเนื้อข่าวระบุแต่เพียงมีกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในอินเดียประสงค์จะเดินทางไปยังเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และมีบางส่วนได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเข้าไทยเท่านั้น

กระทรวงการต่างประเทศได้ตรวจสอบกับสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลไทยในอินเดีย ได้รับการยืนยันว่าไม่ได้ออกหนังสือรับรองสถานภาพการพำนัก (COE) ให้บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยเดินทางเข้าประเทศ โดยเที่ยวบินเช่าเหมาลำในช่วงดังกล่าว

และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ยืนยันเช่นเดียวกันว่า ไม่ได้อนุญาตให้เที่ยวบินเช่าเหมาลำที่เดินทางจากอินเดียเข้าลงจอดในประเทศไทยในช่วงเวลาที่มีการกล่าวอ้างถึง

ส่วนกลุ่มบุคคลสัญชาติอินเดียที่เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา เป็นการเข้ามาตามระบบซึ่งจองไว้ล่วงหน้าแล้ว มิได้เข้ามาในเที่ยวบินเช่าเหมาลำ และกลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่ใช่นักศึกษาทั้งหมด แต่เป็นผู้มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย 1 คน ส่วนอีก 6 คน เป็นนักศึกษาและผู้ติดตามนักศึกษา

ทั้งนี้ เที่ยวบินปกติจากสายการบินอินเดียที่ขออนุญาตเข้าไทย ปัจจุบันมีเที่ยวบินสัปดาห์ละหนึ่งไฟลท์ สำหรับผู้เดินทางตามความจำเป็นและเพื่อนำคนไทยกลับบ้าน (repatriation flight)

โดยผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ที่จะเดินทางเข้าประเทศได้ ต้องเป็นไปตามเกณฑ์เฉพาะบุคคลตามข้อยกเว้นตามข้อกำหนดฯ เท่านั้น รวมถึงต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ซึ่งต้องกักตัวอย่างเคร่งครัด

สำหรับเดือนพฤษภาคมนี้ มีคนไทยได้ลงทะเบียนเข้าประเทศไว้ล่วงหน้าแล้ว ในวันที่ 1 พฤษภาคม จำนวน 1 คน, วันที่ 8 พฤษภาคม จำนวน 70 คน และ วันที่ 15 พฤษภาคม จำนวน 60 คน ส่วนวันที่ 22 พฤษภาคม ยังไม่มีผู้ลงทะเบียนกลับไทย

โดยเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุม ศปก.ศบค. ได้มีมติให้กระทรวงการต่างประเทศยกเลิกและชะลอการออก COE ของผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทยจากอินเดียทั้งหมด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ในอินเดียดำเนินการแล้ว

ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทยทั้งหมดจะต้องเข้าสู่มาตรการคัดกรอง คือ การยื่นเอกสารตามที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่กำหนดเพื่อขอรับ COE และเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยต้องเข้ารับการกักตัวตามมาตรการของรัฐในสถานที่ที่รัฐกำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการระบาดเพิ่มเติมจากผู้ที่เดินทางกลับไทย