พิษเฮดจ์ฟันด์ “อาร์เคกอสฯ” แบงก์เจ๊งเกิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

กรณีของเฮดจ์ฟันด์อเมริกันค่อนข้างโนเนม ชื่อ “อาร์เคกอส แคปิตอล แมเนจเมนต์” (Archegos Capital Management) ที่สร้างความเสียหายให้กับธนาคารระดับโลกชื่อดังหลายแห่ง เนื่องจากเฮดจ์ฟันด์ดังกล่าวผิดนัดชำระการวางหลักประกันเพิ่มในบัญชีมาร์จิ้น ซึ่งเป็นข่าวอื้อฉาวในวอลล์สตรีตเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น

ล่าสุดข้อมูลต่าง ๆ เริ่มเปิดเผยออกมาชัดเจนขึ้นว่าธนาคารแต่ละแห่งมีความเสียหายเท่าใดบ้าง หลังจากที่ในตอนแรก ๆ มีธนาคารเพียง 2 แห่งคือ “โนมูระ” กับ “เครดิต สวิส” เท่านั้นที่เปิดเผยค่อนข้างชัดเจนให้กับนักลงทุนทราบ ส่วนธนาคารอื่น ๆ อยู่ในความคลุมเครือ

ในช่วงแรก นักวิเคราะห์ประเมินว่าทุกธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับอาร์เคกอสฯน่าจะขาดทุนหรือเกิดความเสียหายรวมกันประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์ แต่ล่าสุดพบว่าความเสียหายโดยรวมเกิน 10,000 ล้านดอลลาร์ และที่ทำให้นักลงทุนตกตะลึงก็คือกรณีของธนาคารยูบีเอส ซึ่งเป็นสถาบันการเงินใหญ่ที่สุดในโลกสัญชาติสวิส ก็ได้รับความเสียหายจากอาร์เคกอสฯ ด้วย

ที่ตกตะลึงก็เพราะว่าก่อนหน้านี้ยูบีเอสไม่ส่งสัญญาณใด ๆ ให้กับตลาดหรือนักลงทุนระแคะระคายเลยว่าเกิดความเสียหาย จนกระทั่งมีการประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกออกมา โดยระบุว่าเสียหายจากกรณีอาร์เคกอสฯ 774 ล้านดอลลาร์

“สตอร์ม อูรุ” ผู้จัดการ ไลออนทรัสต์ โกลบอล ดิวิเดนด์ ฟันด์ บอกว่า สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ พวกเขาไม่ได้เปิดเผยมันก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับ “มาเรีย ริวาส” รองประธานอาวุโส ดีบีอาร์เอส มอร์นิ่งสตาร์ ระบุว่า น่าประหลาดใจที่ยูบีเอสไม่ได้มีการบ่งชี้ใด ๆ ต่อตลาดมาก่อนเลยว่าได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ โดยใช้วิธีเดียวกับ “มอร์แกน สแตนลีย์” ที่เปิดเผยความเสียหายในวันที่ประกาศผลประกอบการ

เหตุที่กรณีของ “ยูบีเอส” น่าประหลาดใจก็เพราะตลอดมา ในสายตาของนักลงทุนมองว่ายูบีเอสเป็นธนาคารระดับโลกที่ปลอดภัยมากกว่าแห่งอื่น อีกทั้งยังมุ่งเน้นเฉพาะธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่งและปล่อยกู้ภายในสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น โดยประมาณ 10 ปีที่แล้ว ยูบีเอสได้ลดธุรกิจธนาคารเพื่อการลงทุนหรือวาณิชธนกิจลงหลังเกิดวิกฤตการเงินโลก แต่ยังคงดำเนินธุรกิจขนาดใหญ่ด้านหุ้นซึ่งรวมถึงธุรกิจโบรกเกอร์ กระทั่งมาประสบปัญหาจากอาร์เคกอสฯ

กรณีของยูบีเอส ถึงแม้ความเสียหายจากอาร์เคกอสฯ สามารถชดเชยด้วยผลประกอบการโดยรวมที่แข็งแกร่ง โดยไตรมาสแรกมีกำไรสุทธิถึง 1.82 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าตลาดคาดการณ์ แต่ก็เกิดคำถามถึงความโปร่งใสของอุตสาหกรรมธนาคารในภาพรวม จึงทำให้ราคาหุ้นของยูบีเอสเมื่อวันที่ 27 เมษายนในช่วงเช้าลดลงเกือบ 3% ทั้งนี้ยูบีเอสยอมรับว่า ความเสียหายจากอาร์เคกอสฯ ทำให้กำไรสุทธิไตรมาสแรกลดลง 434 ล้านดอลลาร์

สำหรับรายละเอียดความเสียหายของธนาคารที่ปล่อยกู้แก่อาร์เคกอสฯ เป็นดังนี้ เครดิต สวิส ไตรมาสแรก 4.4 พันล้านฟรังก์สวิสหรือ 4.8 พันล้านดอลลาร์ และไตรมาส 2 ต้องบันทึกขาดทุนเพิ่มอีก รวม 2 ไตรมาสเสียหาย 5.5 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่โนมูระ ไตรมาสแรกบันทึกขาดทุน 2.45 แสนล้านเยนหรือ 2.3 พันล้านดอลลาร์ นับว่าขาดทุนรายไตรมาสมากที่สุดนับจากปี 2009

และตลอดปีงบประมาณนี้จะบันทึกขาดทุนจากกรณีนี้เพิ่มอีก ทำให้รวมแล้วจะเสียหาย 2.85 พันล้านดอลลาร์ ด้านมอร์แกน สแตนลีย์ เสียหาย 911 ล้านดอลลาร์ ส่วนยูบีเอส ไตรมาสแรก 774 ล้านดอลลาร์ และไตรมาส 2 ก็จะต้องบันทึกขาดทุนจากกรณีนี้เพิ่มเติมอีก ทำให้เกิดความเสียหายรวม 861 ล้านดอลลาร์ และมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ 300 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ มอร์แกน สแตนลีย์และยูบีเอส อ้างว่าเหตุที่ไม่แจ้งให้ตลาดและนักลงทุนทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับผลกระทบจากอาร์เคกอสฯ ก็เพราะความเสียหายไม่ได้มีนัยสำคัญมากพอที่จะต้องบอกกล่าวตลาดก่อนประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส

สำหรับธนาคารแห่งอื่น ได้แก่ ดอยช์แบงก์ สามารถจำกัดความเสียหายเอาไว้ได้ ในขณะที่โกลด์แมน แซกส์และเวลส์ ฟาร์โก สามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายได้อย่างสิ้นเชิง