‘เทเลเมดิซีน’ จีนร้อนแรง ยักษ์เทคแห่จับธุรกิจสุขภาพ

บริการทางการแพทย์ผ่านออนไลน์ หรือ “เทเลเมดิซีน” กำลังโตอย่างรวดเร็วในจีน โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ระบาด ที่ทำให้คนจีนเลี่ยงการเดินทางไปโรงพยาบาล ทำให้เทเลเมดิซีนเป็นทางเลือกในการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ปัจจุบันมีบริษัทเทครายใหญ่ของจีนจำนวนมาก หันมาเข้าร่วมแข่งขันในธุรกิจเทเลเมดิซีนอย่างดุเดือด และขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการที่มากขึ้น รวมถึงแพทย์ที่เข้ามาร่วมให้บริการกับบริษัทเทคเหล่านี้ก็มีจำนวนมากขึ้นด้วย

ผู้ให้บริการเทเลเมดิซีนของจีนรายใหญ่อย่าง “เจดีเฮลท์” ในเครืออีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่เจดีดอตคอม เปิดเผยว่า มีแพทย์ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของเจดีเฮลท์ถึง 110,000 คน ในปี 2020 เพิ่มขึ้นถึง 12 เท่าจากปี 2019

ขณะที่ “ผิงอัน กู๊ด ด็อกเตอร์ แอป” ของผู้ให้บริการทางการเงินรายใหญ่ “ผิงอัน” มีแพทย์เข้าร่วมให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นถึง 23,000 คน ในปี 2020 เพิ่มขึ้นถึง 240% จากปีก่อนหน้า

เช่นเดียวกับ “อาลีบาบา เฮลท์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี” ของอาลีบาบา ที่มีแพทย์ให้บริการถึง 60,000 คน เพิ่มขึ้นราว 43% ส่วน “วีด็อกเตอร์” ของเทนเซ็นต์ ซึ่งบริการเทเลเมดิซีนมานาน มีแพทย์ให้บริการ 270,000 คน

ทั้งนี้ เทเลเมดิซีนในจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจีนออกกฎหมายอนุญาตให้เอกชนสามารถให้บริการดูแลสุขภาพในรูปแบบออนไลน์อย่างเดียวได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสถาบันทางการแพทย์ ในปี 2015 และการระบาดของโควิด ส่งผลให้เทเลเมดิซีนเติบโตยิ่งขึ้น โดยอาลีบาบา เฮลท์ เปิดเผยว่า มีผู้ใช้บริการ 520 ล้านราย ในปี 2020 ขณะที่ผิงอันมีผู้ใช้บริการราว 370 ล้านราย

โดยผู้คนที่เจ็บป่วยเล็กน้อยเลือกปรึกษาแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่าการไปโรงพยาบาล แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเทเลเมดิซีนขั้นต่ำจะอยู่ที่ 50 หยวนต่อการปรึกษาแพทย์ 15 นาที และอาจสูงถึง 1,000 หยวน ซึ่งสูงมากหากเทียบกับค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐที่ 10-50 หยวน

รายได้ที่สูงจากการให้บริการเทเลเมดิซีนยังดึงดูดให้แพทย์จำนวนมากเข้ามาร่วมทำงานกับบริษัทเทค โดยหลายรายใช้เวลาว่างจากงานประจำ ขณะที่บางรายลาออกจากโรงพยาบาลเพื่อมาให้บริการทางออนไลน์ โดยปัจจุบันมีแพทย์ราว 10% ในจีนที่ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทต่าง ๆ โดยมีทีมแพทย์ให้คำแนะนำตลอด รวมถึงการให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์และวิดีโอคอล

“ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน” บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจสหรัฐระบุว่า ตลาดบริการดูแลสุขภาพดิจิทัลของจีน ใน 2020 มีมูลค่าราว 314,000 ล้านหยวน เติบโต 44% จากปีก่อนหน้า และคาดว่ามูลค่าตลาดบริการดูแลสุขภาพจีน จะถึง 4.2 ล้านล้านหยวน ภายในปี 2030

แต่ผู้ให้บริการเทเลเมดิซีนยังมีความท้าทาย ทั้งด้านของความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ไม่ได้วินิจฉัยจากการตรวจร่างกายผู้ป่วย และการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ซึ่งมีผลต่อการสร้างความมั่นใจของนักลงทุน