กลุ่มประเทศ G7 รวมตัว ปฏิรูป ‘ขึ้นภาษี’ ครั้งใหญ่

กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ G7 ได้บรรลุ “ข้อตกลงใหม่” สนับสนุนการขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคล ขั้นต่ำอยู่ที่ 15% ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปการเก็บภาษีครั้งใหญ่ หลังจากช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หลายประเทศต่างแข่งขันกันลดอัตราภาษีนิติบุคคลเพื่อดึงดูดการลงทุนของธุรกิจยักษ์ใหญ่ โดยการปรับขึ้นอัตราภาษีครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อบริษัทข้ามชาติ และบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งมีความพยายามใช้ช่องทางต่าง ๆ เพื่อเสียภาษีต่ำที่สุด

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า “ริชี่ สุนัค” รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหราชอาณาจักร (ยูเค) กล่าวหลังจากการประชุมหารือรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศ G7 ประกอบด้วย สหรัฐ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันว่า จะกำหนดฐานภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำที่ 15% เพื่อให้เหมาะสมกับยุคดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าว ถือเป็นขั้นตอนเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งต้องนำไปหารือภายในประเทศกลุ่ม G20 รวมถึงประเทศอื่น ๆ ก่อน จึงยังไม่สามารถระบุถึงรายละเอียดตอนสุดท้ายได้ว่า จะปฏิรูปไปถึงขั้นไหน

ขณะที่ “เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ระบุว่า การปรับขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคล นอกจากจะป้องกันการที่หลาย ๆ ประเทศ แข่งกันลดภาษีนิติบุคคลเพื่อดึงดูดการลงทุนแล้ว ยังทำให้มีรายได้เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจทั่วโลก รวมถึงมาสนับสนุนด้านการศึกษา พัฒนาศักยภาพแรงงาน รวมถึงการลงทุนวิจัยพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ

นอกจากนี้ “โอลาฟ โชลซ์” รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเยอรมนี ระบุว่า การขึ้นภาษีนิติบุคคลบริษัทข้ามชาติ จะทำให้ต่อไปนี้ ยักษ์ธุรกิจไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามที่ “ควรจะเป็น” ได้อีกต่อไป ซึ่งเงินภาษีตรงนี้สำคัญต่อหลายประเทศมาก โดยเฉพาะช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต จากการเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19

ส่วน “คริสเทีย ฟรีแลนด์” รัฐมนตรีกระทรวงการคลังแคนาดา เน้นย้ำว่า ยักษ์ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องจ่ายภาษีตามข้อตกลงดังกล่าว เพื่อสร้างความยุติธรรม และเสมอภาคในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงจะทำให้ธุรกิจของแคนาดา มีความเท่าเทียมกับธุรกิจอื่น ๆ ทั่วโลกมากขึ้น

ทั้งนี้ แม้ยักษ์เทคโนโลยีอย่าง “เฟซบุ๊ก” “กูเกิล” และ “อเมซอนดอตคอม” จะได้รับผลกระทบ จากการปรับขึ้นอัตราภาษีนี้โดยตรง แต่ทั้ง 3 บริษัทออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนข้อตกลงดังกล่าว โดย “นิค เคลกก์” รองประธานของเฟซบุ๊ก ระบุว่า บริษัทได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปอัตราภาษีดังกล่าวมานานแล้ว ส่วนโฆษกของอเมซอนดอตคอม และกูเกิล กล่าวว่า ทางบริษัทต้องการระบบอัตราภาษีที่ “มั่นคง” และหวังว่าจะสามารถมีข้อตกลงที่ชัดเจนได้ภายในเร็ว ๆ นี้

อย่างไรก็ตาม “องค์กรออกซ์แฟม” (Oxfam) เอ็นจีโอมุ่งต่อสู้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโต้แย้งว่า อัตราภาษีที่กลุ่มประเทศจี 7 ตกลงไปนั้น ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำ เหมือนในระดับของประเทศที่เป็นดินแดนภาษีต่ำ (tax haven) อย่างไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ โดยกลุ่มประเทศจี 7 ตั้ง “มาตรฐานไว้ต่ำมาก” จนบริษัทยักษ์ใหญ่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบ

ทั้งระบุว่า การที่ธุรกิจยักษ์ใหญ่จ่ายภาษีน้อยเท่านี้ จะไม่เพียงพอต่อการมาช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่มาจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงปัญหาระดับโลกด้านอื่น ๆ อย่างเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มจากประเทศจี 7 ไม่ควรคาดหวังว่า ประเทศทั่วโลกจะมายอมรับข้อตกลงนี้

และก่อนหน้านี้ “พาสคาล โดโนโฮ” รัฐมนตรีกระทรวงการคลังไอร์แลนด์ ซึ่งปัจจุบันเก็บภาษีนิติบุคคลที่ 12.5% ได้ระบุว่า ประเทศเล็ก ๆ ควรคิดภาษีในอัตราที่ต่ำได้ เนื่องจาก “ศักยภาพทางเศรษฐกิจ” ไม่ยิ่งใหญ่พอที่จะสามารถไปคิดภาษีในอัตราที่สูงได้ และสุดท้าย ประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องคิดอัตราภาษีต่ำ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากยักษ์ธุรกิจ ซึ่งเป็นรายได้สำคัญสำหรับประเทศเหล่านี้