ความหวัง…ของอุตฯการบิน หลังพ้นวิกฤตโควิด-19

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

อุตสาหกรรมการบิน ตั้งแต่สายการบิน ท่าอากาศยาน รวมถึงผู้ผลิตเครื่องบินโดยสาร ประสบปัญหาหนักหนาสาหัสจากวิกฤตการณ์โควิด-19

สำหรับ “สายการบิน” ไม่ต้องพูดถึง เจ็บตัวหนักมาก หลายรายถึงกับม้วนเสื่อยุติกิจการ อีกหลายรายรัฐบาลต้องเข้าไปอุ้มเพื่อให้อยู่รอด

บรรดาผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือไออาตา ประเมินแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมการบินไว้ล่าสุดว่า ไม่น่าจะฟื้นตัวกลับคืนสู่ระดับก่อนหน้าการแพร่ระบาดได้ก่อนปี 2023

แต่หลังจากนั้นเชื่อว่า อุตสาหกรรมการบินจะขยายตัวได้ในระยะยาว

ไออาตา ระบุ อีก 20 ปี การจราจรทางอากาศจะขยายตัว 2 เท่า ปริมาณของผู้โดยสารจะเพิ่มจาก 4,500 ล้านคนในปี 2019 เป็น 8,500 ล้านคนในปี 2039

นั่นเป็นประมาณการที่ปรับลดลงจากที่ไออาตาเคยประเมินไว้ก่อนหน้าเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ถึง 1,000 ล้านคนเลยทีเดียว

กระนั้น ข้อมูลล่าสุดของไออาตา ก็ถือเป็น “ข่าวดี” สำหรับบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินทั้งหลาย เพราะปีเศษที่ผ่านมาก็มีปัญหาทางการเงินกันไม่น้อย

“แอร์บัส” ยักษ์ใหญ่จากยุโรปมองสถานการณ์ไปในทิศทางเดียวกัน ถึงกับประกาศแผนงานเร่งการผลิตแอร์บัส เอ 320 เครื่องบินโดยสารลำตัวแคบ ที่เป็นรุ่นขายดีที่สุดออกมาแล้ว โดยเชื่อว่าเมื่อถึงปี 2023 ความต้องการเดินทางทางอากาศจะส่งผลให้ เอ 320 ผลิตออกมาเป็นสถิติใหม่ของโลกได้

“โบอิ้ง” ของสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่านับตั้งแต่ปีหน้าไปจนถึงปี 2039 โลกจะต้องการเครื่องบินใหม่มากถึง 43,110 ลำ ซึ่งเป็นจำนวนที่เกือบเป็นสองเท่าของปริมาณเครื่องบินโดยสารที่ทั้งโลกมีอยู่

โดยโบอิ้งเชื่อว่า ราว 40% ของเครื่องบินใหม่เหล่านั้น จะอยู่ในภูมิภาคเอเชีย

“ดาร์เรน ฮัลสท์” รองประธานฝ่ายการตลาดของโบอิ้ง บอกว่า วิกฤตโควิดนี้ จะเป็นไปในทำนองเดียวกับวิกฤตการบินหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 นั่นคือ อุตสาหกรรมการบินจะพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเพียงใด

ฮัลสท์ชี้ให้เห็นเบื้องหลังความเชื่อมั่นดังกล่าวว่า มาจากข้อเท็จจริงคือ ประชากรโลกมีมากขึ้น ผู้คนร่ำรวยมั่งคั่งขึ้น ความต้องการเดินทางด้วยเครื่องบินย่อมสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนทำให้เครื่องบินใหม่เป็นที่ต้องการมากขึ้น

บริษัท โอลิเวอร์ วายแมน ผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านการบิน ทำวิจัยไว้ไม่นานมานี้ว่า สหรัฐและยุโรป จะยังคงเป็นภูมิภาคที่มีฟลีตใหญ่ที่สุดต่อไป แต่เอเชียกับตะวันออกกลาง จะกลายเป็นภูมิภาคที่มีเครื่องบินโดยสารเพิ่มขึ้นมากที่สุด

ที่ผ่านมา แอร์บัสส่งมอบเครื่องบิน 19% ของที่ผลิตได้ให้กับจีน มากกว่าที่ส่งมอบให้กับสหรัฐอยู่ไม่น้อย แนวโน้มเช่นนี้จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในอนาคต

บริษัทที่ปรึกษาด้านสายการบิน “ซีเอพีเอ เซ็นเตอร์ ฟอร์ เอวิเอชั่น” ระบุว่า ในประเทศเศรษฐกิจใหม่หลาย ๆ ประเทศ “ชนชั้นกลาง” จะขยายตัวเพิ่มขึ้น พร้อมกับความต้องการเดินทางทางอากาศ ก็ “เป็นไปได้” สำหรับผู้คนจำนวนมากขึ้น

“นี่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมกับโอกาสที่เปิดกว้างให้แสวงหาประสบการณ์ ซึ่งคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่เคยแม้แต่จะคิดถึงมาก่อน” นั่นคือ การเดินทางด้วยเครื่องบินในเที่ยวบินระหว่างประเทศ

ซีเอพีเอชี้ว่า การรณรงค์ตามแนวคิด “ไฟลต์เชมมิ่ง” ที่ถือกำเนิดขึ้นในสวีเดน เมื่อปี 2018 ที่รณรงค์ให้ใช้การเดินทางด้วยหนทางอื่น อย่างเช่น รถไฟ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากกว่าจากการเดินทางด้วยเครื่องบิน ไม่น่าจะได้ผลลัพธ์มากมายในภูมิภาคเอเชีย แม้จะใช้ได้ผลบางประเทศในยุโรป อย่างเช่น สวีเดนและฝรั่งเศสก็ตาม

เหตุผลคือ ผู้คนเอเชีย บางคน 1 ปีเดินทางด้วยเครื่องบินเพียงครั้งเดียว คงยากที่จะหาคนคิดว่า นั่นเป็นการก่อมลพิษหนักหนาสาหัสแล้วตัดสินใจยกเลิก

ในเวลาเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมการบินมีขีดความสามารถและเต็มใจที่จะปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์เช่นนี้ไว้แล้ว โดยประกาศปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเพียงครึ่งเดียวจากระดับเมื่อปี 2005 ภายในปี 2050

เพราะบรรดาสายการบินทั้งหลายมี “แรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์” ในอันที่จะปรับเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้เครื่องบินที่ประหยัดน้ำมันกว่าหรืออื่น ๆ

เพราะนั่นคือเท่ากับต้นทุนของอุตสาหกรรมลดต่ำลงตามไปด้วย