‘เอเชีย’ เจอพิษโควิดระบาดซ้ำ ฉุดกำลังซื้อผู้บริโภคทรุด

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

การระบาดซ้ำของโควิด-19 ในเอเชีย อันเนื่องจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ จนสามารถหลบหลีกวัคซีน ประกอบกับประเทศในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้มากพอ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค ทำให้ในขณะนี้ยอดจำหน่ายค้าปลีกเริ่มอ่อนแอลง ไม่เพียงแต่ในจีนเท่านั้น แต่รวมถึงที่อื่น ๆ ในเอเชียด้วย

“ลอยด์ ชาน” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ “ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์” ชี้ว่า แม้การบริโภคภาคเอกชนของประเทศเอเชียส่วนใหญ่จะยังสามารถฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 แต่ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า และไม่ได้กลับไปสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการระบาด การฟื้นตัวที่กระท่อนกระแท่นและไม่สม่ำเสมอในภูมิภาคนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพราะการระบาดยังเกิดขึ้นเป็นระยะ

สำหรับประเทศจีนที่มักจะถูกเอ่ยถึงว่า เป็น “ประเทศแรกที่ติดเชื้อโควิด-19 และเป็นประเทศแรกที่ฟื้นตัวจากโควิด-19” ยังคงสามารถควบคุมการระบาดได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ถึงอย่างนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ยังถูกฉุดรั้งด้วยยอดจำหน่ายค้าปลีกที่ค่อนข้างเหงาหงอยแม้รัฐบาลจะพยายามกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนก็ตาม

“ไทเมอร์ เบก” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารดีบีเอส สิงคโปร์ ระบุว่า การระบาดซ้ำของโควิด-19 ในเอเชีย ส่งผลกระทบด้านลบต่ออารมณ์ของผู้บริโภค รวมทั้งต่อการเดินทางไปไหนมาไหน เพราะถึงแม้ผู้บริโภคจะสามารถนั่งอยู่บ้าน และซื้อสิ่งต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ แต่หลายอย่างก็ไม่สามารถทดแทนการออกไปใช้จ่ายด้วยตัวเอง ดังนั้นก็จะมีบางอย่างที่ผู้บริโภคไม่ยอมใช้จ่าย

นอกเหนือจากจีนแล้ว ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น “ญี่ปุ่น” ก็ยังประกาศให้บางจังหวัด เช่น โอกินาวา โตเกียว อยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น “อินโดนีเซีย” ก็ตกอยู่ในสถานการณ์เตียงไม่เพียงพอ เพราะการระบาดของสายพันธุ์อินเดีย ขณะที่ซีกเอเชียใต้อย่างอินเดีย มีผู้ติดเชื้อเกิน 30 ล้านคนแล้ว เมื่อเกิดการระบาดรอบสอง จนระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารดีบีเอสบอกว่า นอกเหนือจากปัญหาการระบาดซ้ำแล้ว การที่รัฐบาลเอเชียขยายมาตรการการเงินและการคลัง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศตะวันตก มีแนวโน้มจะฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไปอีก

“ตราบใดที่ยังมีข้อจำกัดการเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนของประชาชน ประกอบกับนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจยังอ่อน เราก็จะเห็นการฟื้นตัวอย่างซึมเซามากของการบริโภค”

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ประเด็นสำคัญที่จะช่วยให้การบริโภคภาคเอกชนของเอเชียฟื้นกลับมาก็คือวัคซีน เพราะเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว จะเห็นว่าประเทศเอเชียส่วนใหญ่มีความล่าช้าในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือการ “ขาดแคลนวัคซีน” หากดูจากสถานการณ์ในขณะนี้กล่าวได้ว่า ประเทศเอเชียส่วนมากยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะสามารถฉีดวัคซีนไปถึงระดับที่มีนัยสำคัญเพียงพอที่จะควบคุมการระบาด

ตามข้อมูลของ Our World in Data ณ วันที่ 1 กรกฎาคม ญี่ปุ่นฉีดวัคซีนให้ประชากร 12.65% ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ฉีดไปเพียง 5% มีเพียงสิงคโปร์ที่ฉีดมากสุดคือ 37% ของประชากร ในทางตรงกันข้าม สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ฉีดไปมากกว่า 40% ของประชากร

“โนบุโกะ โคบายาชิ” หัวหน้าด้านกลยุทธ์เอเชีย-แปซิฟิกของเอิร์นส์แอนด์ยังระบุว่า สำหรับญี่ปุ่น ล่าสุดการฉีดวัคซีนมีอัตราเร็วมากขึ้น โดยรัฐบาลคาดหมายว่าจะสามารถฉีดให้ทุกคนที่ต้องการฉีดได้ภายในเดือน ต.ค.-พ.ย. ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับผู้ค้าปลีก นอกจากนี้ การจัดแข่งขันโอลิมปิกจะส่งผลดีต่อค้าปลีกเช่นกัน อย่างน้อยในระยะสั้นจะกระตุ้นยอดจำหน่ายสินค้าบางอย่าง เช่น โทรทัศน์ และหากประสบความสำเร็จในการจัดงาน ก็จะดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวต่างประเทศและการบริโภคในระยะยาว