เศรษฐกิจเลบานอน “หายนะ” ตั้งมหาเศรษฐีนั่งนายกฯแก้วิกฤต

วันที่ 4 สิงหาคม 2021 จะครบรอบ 1 ปี “ระเบิดเบรุต” เหตุการณ์ที่โกดังเก็บสารเคมีแอมโมเนียมไนเตรต 2,750 ตัน เป็นระบิดครั้งใหญ่ที่เมืองเบรุต ประเทศเลบานอน ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ทำให้ประชาชนราว 300,000 คนไร้ที่อยู่ มีผู้เสียชีวิตมากถึง 211 คน และบาดเจ็บอีก 6,500 คน คาดกันว่า ความเสียหายจากเหตุการณ์นี้มีมูลค่าสูงถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร (4.8 แสนล้านบาท)

ขณะที่เมื่อ 26 กรกฎาคม 2021 เลบานอนเพิ่งได้ “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” หลังความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ประเทศไม่มีนายกฯ มาเกือบปี

ทำให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เข้ามารับตำแหน่งต้องเผชิญกับ “วิกฤตเศรษฐกิจ” ครั้งยิ่งใหญ่ในทุก ๆ ด้าน

หากย้อนไปก่อนหน้านี้ เลบานอนเคยรุ่งเรือง ถึงขั้นที่มีการเปรียบเทียบว่าเป็น “สวิตเซอร์แลนด์” ของตะวันออกกลาง ขณะที่เมืองหลวงกรุงเบรุต ได้รับฉายาว่าเป็น “ปารีสตะวันออก” เฟื่องฟูด้านการเงิน และการท่องเที่ยวในภูมิภาค

แต่หลังจากปี 1980 ซึ่งเกิดสงครามกลางเมือง เศรษฐกิจเลบานอนทรุดหนัก และสัญญาณวิกฤตการเงินของเลบานอน ก็เริ่มชัดเจนขึ้นในปี 2019

เวิลด์แบงก์ระบุว่า วิกฤตทางการเงินของเลบานอนตอนนี้ อาจติดท็อป 3 วิกฤตเลวร้ายที่สุดในโลก ในรอบเกือบ 200 ปี ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ค่าเงิน “ปอนด์เลบานอน” (LBP) ร่วงลงกว่า 90% อัตราการว่างงานสูงเป็นประวัติการณ์ ประชาชนแทบ “ไม่มีจะกิน” ทั้งยังมีปัญหาขาดแคลนทุกอย่าง ตั้งแต่ยา ไฟฟ้า พลังงาน ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค

และมักเกิดปัญหาไฟฟ้าดับทั่วประเทศ ขณะที่สถานพยาบาลและร้านขายยาขาดแคลนยาแทบทุกชนิด รถยนต์ต้องต่อคิวกันยาวเหยียดเพื่อเติมน้ำมัน ชั้นขายอาหารแทบจะไม่มีอาหารเหลือถึงแม้ราคาจะแพงเกินที่ผู้คนจะจ่ายไหว ผู้คนหิวโหยจนออกมาประท้วงกัน

นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศเลบานอน ได้หดตัวลงถึง -40% ภายใน 2 ปี จากเดิมจีดีพีประเทศอยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2018 เหลือเพียง 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2020 และมีแนวโน้มที่ปีนี้ จีดีพีจะหดตัวลงถึง 9.5% โดยที่ประชากรครึ่งประเทศอยู่ในภาวะยากจน

เวิลด์แบงก์ระบุว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่หดตัวมากขนาดนี้ ปกติจะเกิดเมื่อมีสถานการณ์ความขัดแย้ง หรือสงคราม แต่สำหรับประเทศเลบานอน เป็น “ความผิดพลาดในการบริหารจัดการ” ของรัฐบาล ส่งผลงบประมาณขาดดุลสูงมาก ทำให้ประเทศมีหนี้สาธารณะมหาศาล รวมกับนโยบายทางการเงินที่ไม่ยั่งยืนทำให้ธนาคารล้มละลาย และค่าเงินร่วงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

“ฮัสซัน เดียบ” อดีตนายกฯรักษาการเลบานอน ระบุว่า สาเหตุที่เลบานอนเกิดปัญหามากขนาดนี้ มาจาก “ระบบคอร์รัปชั่น” ที่ฝังลึกในทุกภาคส่วนของรัฐบาล ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยิ่งใหญ่มากเกินกว่าที่รัฐบาลจะสามารถเผชิญหน้า หรือกำจัดออกไปได้

และปัญหาทั้งหมดแย่ลงกว่าเดิมหลังโควิด-19 ระบาด และเหตุการณ์ระเบิดที่เมืองเบรุต โดยหลังเกิดเหตุการณ์นั้น รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ทำให้ประเทศมีแต่รัฐบาลรักษาการ ไม่มีอำนาจออกนโยบายสำคัญได้ และความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้เสียที

เป็นเวลาเกือบปีที่เลบานอน “ไม่มีรัฐบาล” ระบบทุกอย่างแทบจะหยุดชะงัก แต่ทว่าในที่สุด รัฐสภาเลบานอนก็ได้ลงมติ แต่งตั้งเศรษฐีพันล้านที่รวยที่สุดในประเทศ “นาจิบ มิคาติ” เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

แต่ “มิคาติ” ซึ่งเข้ามาเป็นผู้นำเพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ กลับเป็นคนที่ผู้ประท้วงไม่ต้องการ เนื่องจากมองว่าคุณสมบัตินายกฯ ไม่ควรเป็นคนที่ “ร่ำรวยจากการเมือง” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่น ดังนั้นการเลือกคนรวยที่สุดภายในประเทศ อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับการเป็นผู้นำช่วงวิกฤตนี้

ทั้ง “มิคาติ” เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเลบานอน มาแล้ว 2 ครั้งเมื่อช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคมปี 2005 และอีกครั้งช่วงปี 2011-2014 แต่ทว่ารายงานข่าวระบุว่า ช่วงที่มิคาติได้เป็นนายกฯ ประเทศ “ประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อย” นอกจากนี้ เมื่อปี 2019 มิคาติยังถูกล่าว หาว่า มีพฤติกรรมยักยอกทรัพย์ แต่มิคาติปฏิเสธ พร้อมกับระบุว่า เป็นข้อกล่าวหาที่มาจาก “แรงจูงใจทางการเมือง”

สำหรับอนาคตของเลบานอนนั้น “สันนิบาตชาติ” นำโดยฝรั่งเศสและกลุ่มประชาคมยุโรป ได้จัดเงินช่วยเหลือมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ มีเงื่อนไขที่ว่า รัฐบาลเลบานอนที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ต้องปฏิรูปทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้นำที่ขึ้นมาบริหารต่อจะต้องมีวิสัยทัศน์มุ่งแก้วิกฤตการเงินของประเทศ

ขณะที่ทางการสหรัฐระบุว่า จะไม่มีการช่วยเหลือจากนานาชาติ หากเลบานอนไม่มีการปฏิรูประบอบการเมืองของประเทศ โดยกุญแจสำคัญอยู่ที่ผู้นำเลบานอน ว่าจะสามารถแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปฏิรูปประเทศได้หรือไม่ เพื่อให้การช่วยเหลือจากต่างประเทศนั้นไม่สูญเปล่าเหมือนแต่ก่อน