ขุมทรัพย์ “แร่หายาก” เบื้องหลัง “จีน” ผูกมิตร “ตาลิบัน”

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

ไม่ว่าจะสนามการเมือง หรือการค้า “อเมริกา” และ “จีน” เป็นคู่แข่งที่โลกจับตาเสมอ ล่าสุดนี้สถานการณ์ใน “อัฟกานิสถาน” ซึ่งกลุ่มติดอาวุธตาลิบันสามารถเข้ายึดครองประเทศนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว จนเป็นเหตุการณ์ช็อกโลกและสะท้อนความล้มเหลวน่าขายหน้าของสหรัฐ สายตาของนักวิเคราะห์บางส่วนจับจ้องไปยังท่าทีของ “จีน” ว่า อาจจะญาติดีกับกลุ่มตาลิบัน เพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์ในดิน นั่นคือสินแร่หรือแร่ธาตุหายาก (RareEarth) มูลค่ามหาศาลในอัฟกานิสถาน

“ชาไมลา ข่าน” ผู้อำนวยการตลาดเกิดใหม่ของอัลลิแอนซ์เบิร์นสไตน์ บอกว่า การที่กลุ่มตาลิบันหวนคืนมามีอำนาจพร้อมกับทรัพยากรแร่หลายอย่าง เป็นอันตรายอย่างมากต่อโลกเพราะมันจะถูกนำมาแสวงประโยชน์ได้ ดังนั้น ชุมชนระหว่างประเทศควรกดดันจีน ถ้าหากจีนพยายามจะผูกมิตรกับตาลิบันเพื่อช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินการของจีนอยู่ในกรอบของประชาคมระหว่างประเทศ

ด้าน อาหะมัด ชาห์ คาตาวาไซ อดีตนักการทูตอัฟกานิสถาน ในวอชิงตัน ดี.ซี. ประเมินว่า แร่และโลหะหายากในอัฟกานิสถานมีมูลค่าระหว่าง 1 ล้านล้าน จนถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ประชาคมระหว่างประเทศควรดำเนินการอะไรสักอย่างเพื่อให้แน่ใจหากจะมีประเทศใดตกลงจะใช้ประโยชน์จากแร่ดังกล่าวในนามของตาลิบัน จะต้องกระทำภายใต้เงื่อนไขด้านมนุษยธรรมอย่างเข้มงวด สิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีของชาวอัฟกันต้องคงอยู่

“แร่ธาตุหายาก” ถูกนำมาใช้ตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟ้า ดาวเทียม เครื่องบิน เป็นต้น ที่ผ่านมาจีนครอบครองแร่หายากสูงที่สุดในโลก โดย 35% ของแหล่งแร่หายากทั่วโลกอยู่ในจีน และยังเป็นผู้ขุดแร่รายใหญ่สุดของโลก โดยปี 2018 จีนขุดแร่ปริมาณ 1.2 แสนตัน ขณะที่สหรัฐขุดแร่ดังกล่าวเพียง 1.5 หมื่นตัน นอกจากนี้ แหล่งแร่หายากของสหรัฐก็น้อยกว่าจีน โดยมีเพียง 1.4 ล้านตัน ส่วนจีนมีถึง 44 ล้านตัน

จีนเคยใช้แร่หายากเป็นเครื่องมือข่มขู่สหรัฐ ในช่วงเกิดศึกการค้าเมื่อปี 2019 โดยขู่ว่าจะลดการส่งแร่หายากให้กับสหรัฐ ซึ่งเป็นแร่ที่นำไปผลิตอุปกรณ์ไฮเทค รถยนต์ พลังงานสะอาด และด้านกลาโหม ดังนั้น แร่หายากจึงเกี่ยวพันกับความมั่นคงของสหรัฐด้วย ซึ่งในปี 2019 สหรัฐต้องพึ่งพาแร่หายากจากจีนอย่างมากถึง 80%

ส่วนท่าทีของจีนนั้น เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังกลุ่มตาลิบันโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของอัฟกานิสถาน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า “จีนพร้อมจะร่วมมืออย่างเป็นมิตรกับอัฟกานิสถาน เราเคารพอธิปไตยและเจตจำนงของทุกกลุ่มในอัฟกานิสถาน ทางตาลิบันเคยพูดหลายครั้งว่า รอคอยให้จีนเข้าร่วมในการพัฒนาและสร้างอัฟกานิสถานใหม่ จีนพร้อมที่จะร่วมมืออย่างเป็นมิตรกับอัฟกานิสถานต่อไป และแสดงบทบาทสร้างสรรค์เพื่อความสงบสุข”

ประมาณปลายเดือนกรกฎาคม ก่อนตาลิบันจะยึดครองอัฟกานิสถานได้อย่างสมบูรณ์ “หวัง อี้” รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ได้พบกับผู้แทนของกลุ่มตาลิบันที่เมืองเทียนจิน เท่ากับส่งสัญญาณว่า จีนพร้อมจะผูกมิตรกับตาลิบัน หลังจากสหรัฐประกาศถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน

หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงรัฐบาลจีน ตีพิมพ์บทความโดยอ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญว่า ข่าวลือที่ว่าจีนอาจส่งกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถาน เพื่อเติมสุญญากาศหลังจากสหรัฐถอนทหารออกไป ไม่มีมูลความจริงแม้แต่น้อย แต่อ้างว่าจีนสามารถเข้าไปช่วยสร้างและพัฒนาอัฟกานิสถานหลังสงคราม พร้อมกับผลักดันโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนให้เดินหน้า

ย่างก้าวของจีนในอัฟกานิสถาน ณ นาทีนี้ จึงหนีไม่พ้นที่จะถูกจับตามองว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นไปเพื่อแสวงหาสินแร่หายากเพิ่มเติม จากเดิมที่เป็นเจ้าตลาดโลกอยู่แล้ว

ขณะที่ความห่วงใยของประชาคมระหว่างประเทศ หลังจากตาลิบันกลับมายึดครองอัฟกานิสถานก็คือ เกรงว่าจะตีความศาสนาอิสลามอย่างสุดโต่ง และจำกัดสิทธิสตรีทุกด้านเหมือนในอดีต ถึงแม้รอบนี้ตาลิบันจะอ้างว่า พร้อมจะให้สิทธิสตรีทั้งด้านการศึกษา และทำงานภายใต้กรอบของศาสนาอิสลาม แต่ดูเหมือนไม่ได้รับความเชื่อถือมากนัก บางคนมองว่าเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อให้คนอัฟกันและนานาชาติยอมรับ