‘นโยบายลูก 3 คน’ ช่วยไม่ได้ ‘จีน’ เสี่ยงประชากรลดกว่าครึ่งใน 10 ปี

จำนวนประชากรจีนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องกำลังสร้างความหวาดวิตกให้กับรัฐบาลจีน เนื่องด้วยความได้เปรียบทางเศรษฐกิจจากแรงงานราคาถูกที่มีอยู่อย่างมหาศาลกำลังจะหายไป ซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึงสถานะความเป็นฐานการผลิตและการบริโภคระดับโลกของจีนด้วย แต่วิธีแก้ปัญหาล่าสุด อย่าง “นโยบายลูก 3 คน” ของรัฐบาลจีนก็กำลังเป็นที่น่าสงสัยว่า จะสามารถพลิกฟื้นให้จำนวนประชากรจีนเพิ่มสูงขึ้นได้จริงหรือ ?

เซาท์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติจีนได้ผ่านกฎหมาย “การวางแผนประชากรและครอบครัว” (Population and Family Planning Law) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยอนุญาตให้ประชากรจีนสามารถมีบุตรได้ 3 คนอย่างเป็นทางการ หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ส่งสัญญาณจะใช้นโยบายดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2021 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรของจีนที่เปิดเผยในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าอัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมของประเทศในปี 2020 ลดลงอย่างมาก โดยสัดส่วนทารกแรกเกิดต่อผู้หญิงอยู่ที่ 1.3 ลดลงจากระดับ 1.7 ในปี 2018 และยังต่ำกว่าระดับปกติที่ 1.5 โดยจำนวนทารกเกิดใหม่ในปี 2020 อยู่ที่ 12 ล้านคน ลดลงถึง 18% จาก 14.65 ล้านคนในปี 2019

นโยบายลูก 3 คน นับเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรอบ 40 ปีของรัฐบาลจีน จากเป้าหมายในการควบคุมจำนวนประชากรด้วย “นโยบายลูกคนเดียว” ที่บังคับใช้อย่างเข้มงวดมาตั้งแต่ปี 1979 มาเป็นความพยายามในการเพิ่มจำนวนประชากรในขณะนี้

การดำเนินนโยบายจำกัดควบคุมจำนวนประชากรมาอย่างยาวนาน ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความพยายามเพิ่มจำนวนประชากรอีกครั้ง เนื่องจากนโยบายลูกคนเดียวส่งผลให้ครอบครัวชาวจีนจำนวนมากนิยมมีบุตรเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่งผลให้เกิดความ “ไม่สมดุลทางเพศ” ของประชากรจีนในปัจจุบันที่มีผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย

แม้ว่าจีนจะผ่อนคลายให้ประชากรสามารถมีบุตร 2 คนได้ตั้งแต่ปี 2015 แต่มาตรการรองรับการเลี้ยงดูบุตรหลังคลอดที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นการให้ลาเลี้ยงดูบุตรได้ยาวนานขึ้นสำหรับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย การอุดหนุนค่าเลี้ยงดู รวมถึงการเพิ่มจำนวนสถานรับเลี้ยงเด็ก ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้คู่รักจีนจำนวนมากเลือกที่จะไม่แต่งงานและไม่มีบุตร

“จาง หยงเหม่ย” นักวิจัยจากสถาบันบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ระบุว่า บทบาทของผู้หญิงจีนที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันก็มีผลต่อการตัดสินใจไม่มีบุตร เนื่องจากการเลี้ยงดูบุตรแต่ละคนส่งผลให้ผู้หญิงสูญเสียโอกาสในการทำงานเฉลี่ย 3 ปี ซึ่งกระทบต่อความก้าวหน้าในตำแหน่งงาน ดังนั้นนโยบายลูก 3 คนจึงอาจจะไม่สามารถจูงใจให้ผู้หญิงวัยทำงานของจีนมีบุตรได้มากนัก

ขณะที่ “เจฟเฟอร์รีส์ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป” ธนาคารเพื่อการลงทุนระดับโลก คาดการณ์ว่า จำนวนทารกแรกเกิดของจีนที่มีแนวโน้มลดลงมาอย่างต่อเนื่อง อาจลดลงในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ เนื่องจากคู่รักชาวจีนจำนวนมากวางแผนชะลอการตั้งครรภ์ออกไป เพราะความกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และความปลอดภัยต่อทารกจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

“เบิร์ต ฮอฟแมน” ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยเเห่งชาติสิงคโปร์ ประเมินว่า หากอัตราการเจริญพันธุ์ของจีนยังคงที่ในระดับปัจจุบันภายใน 10 ปี จำนวนประชากรจีนอาจหายไปกว่าครึ่ง เหลือไม่ถึง 700 ล้านคนจากจำนวนเกือบ 1,400 ล้านคนในปัจจุบัน