J&T ยักษ์อินโดฯ ทุ่ม 3.5 หมื่นล้าน ซื้อธุรกิจคู่แข่ง ตะลุยโลจิสติกส์มังกร

สมรภูมิการแข่งขันของธุรกิจ “โลจิสติกส์” ของจีนยังคงดุเดือด หลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้อีคอมเมิร์ซกลายเป็นทางเลือกที่มาแรงในการช็อปปิ้งของผู้บริโภค ทำให้หลายบริษัทเห็นโอกาสและพยายามกอบโกยนาทีทองในช่วงเวลานี้

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า “เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส” (J&T Express) บริษัทขนส่งด่วนรายใหญ่ของอินโดนีเซีย ประกาศเข้าซื้อธุรกิจโลจิสติกส์ของ “เบสต์” (Best Inc) คู่แข่งสัญชาติจีน ด้วยเม็ดเงินราว 6,800 ล้านหยวน (3.5 หมื่นล้านบาท) เพื่อเพิ่มศักยภาพบุกตลาดอีคอมเมิร์ซจีน ท่ามกลางสงครามราคาที่รุนแรง

“สตีเวน ฟาน” ซีอีโอของเจแอนด์ที ระบุว่า “การเข้าซื้อกิจการของเบสต์จะช่วยผลักดันกลยุทธ์ของเจแอนด์ที สร้างซัพพลายเชนครบวงจรในตลาดจีน ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งและเครือข่ายที่กว้างขวางของเบสต์”

ข้อตกลงเข้าซื้อกิจการครั้งนี้คาดว่าจะผ่านการอนุมัติจากทางการจีนในช่วงไตรมาส 1/2022 โดยเบสต์เปิดเผยว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะครอบคลุมเฉพาะ “ธุรกิจขนส่งด่วน” (เอ็กซ์เพรส) ภายในประเทศจีน ไม่รวมถึงธุรกิจอื่นของเบสต์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการซัพพลายเชน การขนส่งระหว่างประเทศ รวมถึงธุรกิจระดับโลกอื่น ๆ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เจแอนด์ทีเข้าซื้อกิจการของคู่แข่งในประเทศจีน คือ การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซจีนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโอกาสทองที่ต้องรีบคว้าเอาไว้

ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการค้าปลีกออนไลน์ของจีนคิดเป็น 24.9% ของตลาดค้าปลีกทั้งประเทศ มีมูลค่าสูงถึง 9.8 ล้านล้านหยวนในปี 2020 ขยายตัวขึ้นราว 14.8% จากปี 2019

การขยายตัวดังกล่าวของอีคอมเมิร์ซจีนกลายเป็นโอกาสให้ธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตขึ้น พร้อมกับการแข่งขันที่ดุเดือดมากยิ่งขึ้น

กลยุทธ์ หั่นราคา ดึงดูดลูกค้า แต่สร้างภาระธุรกิจ

ก่อนหน้านี้ เจแอนด์ทีภายใต้แบรนด์ภาษาจีน “จี๋ถู่” (Jitu) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2015 ได้ใช้กลยุทธ์ “สงครามราคา” บุกตลาดจีนอย่างจริงจัง โดยคิดอัตราค่าบริการเพียง 1 หยวนต่อการขนส่งสินค้า 1 ชิ้น เพื่อตัดราคาผู้ให้บริการรายอื่น

ขณะที่เบสต์ ซึ่งมี “อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง” เป็นผู้ลงทุนหลักก็ลดอัตราค่าบริการลงเพื่อต่อสู้ เช่นเดียวกันกับผู้ให้บริการรายอื่นอย่าง วายทีโอ (YTO) แซดทีโอ (ZTO) และยุนดา (Yunda) ที่ต่างเข้าสู่สงครามราคาเพื่อแย่งชิงลูกค้า

แล้วการแข่งขันตัดราคารุนแรงถึงขั้นที่ทางการจีนได้ตัดสินลงโทษเจแอนด์ทีและเบสต์ ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ด้วยข้อหา “การทุ่มตลาด” (price dumping) และสั่งปิดศูนย์จัดส่งบางแห่งของทั้ง 2 บริษัท เป็นการชั่วคราว

แต่การแข่งขันด้านราคายังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยเบสต์เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2/2021 ที่ผ่านมา บริษัทให้บริการขนส่งอยู่ที่ 2,300 ล้านชิ้น หรือเฉลี่ยแล้ว 25 ล้านชิ้น/วัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปริมาณพัสดุจะสูงขึ้น แต่ท่ามกลางสงครามราคาที่รุนแรงทำให้เบสต์ยังคงประสบภาวะขาดทุน โดยในไตรมาส 2/2021 เบสต์ขาดทุนถึง 467.5 ล้านหยวน ต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปีที่ขาดทุน 604.5 ล้านหยวน

ขณะที่รายได้สุทธิของเบสต์ ในไตรมาส 2/2021 ก็ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยหน่วยธุรกิจเอ็กซ์เพรสเป็นส่วนที่มีรายได้ลดลงมากถึง 17%

“จอห์นนี่ ชู” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเบสต์ ระบุว่า การตัดขายกิจการธุรกิจขนส่งด่วนให้กับเจแอนด์ที จะช่วยให้เบสต์สามารถทำกำไรในธุรกิจส่วนอื่น ๆ ได้ดีขึ้น ด้วยการมุ่งเน้นไปที่การจัดการซัพพลายเชนและธุรกิจโลจิสติกส์ระดับโลกเป็นหลัก