สหรัฐขายขีปนาวุธให้ ซาอุดีอาระเบีย มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท

สหรัฐฯขายขีปนาวุธให้ซาอุ
REUTERS/Al Drago/File Photo

กระทรวงกลาโหมสหรัฐ เผยว่า การอนุมัติให้ซาอุดีอาระเบียซื้ออาวุธที่สหรัฐฯผลิต ถือเป็นการช่วยพัฒนาความมั่นคงในฐานะมิตรประเทศ

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 อัลจาซีร่า รายงานว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ประกาศว่า สหรัฐได้อนุมัติการขายขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ (AAM) มูลค่า 650 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 21,645 ล้านบาท ให้กับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ทำสัญญาซื้อขายอาวุธครั้งใหญ่กับซาอุดีอาระเบีย

ในแถลงการณ์เมื่อวันพฤหัสบดี กระทรวงกลาโหมสหรัฐระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้อนุมัติการขายอาวุธ เพื่อช่วยทางการซาอุดีอาระเบียตอบโต้ภัยคุกคามทั้งในปัจจุบันและอนาคต

กระทรวงกลาโหมสหรัฐเผยด้วยว่า การเสนอขายอาวุธครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ และความมั่นคงของสหรัฐ ด้วยการช่วยพัฒนาความมั่นคงให้กับมิตรประเทศ ซึ่งยังคงเป็นกำลังสำคัญต่อความก้าวหน้าทางการเมืองและเศรษฐกิจในตะวันออกกลาง

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯระบุด้วยว่า “เรย์เธียน” บริษัทที่ตั้งอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์ จะเป็นผู้รับจ้างโดยตรงในการขายขีปนาวุธอากาศสู่อากาศเกินระยะตามองเห็น AIM-120C-7/C-8 และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

การขายขีปนาวุธดังกล่าวมีขึ้นหลายเดือนหลังประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า สหรัฐจะยุติปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อช่วยซาอุดีอาระเบียในเยเมน ซึ่งรวมถึงการขายอาวุธที่เกี่ยวข้องด้วย

กรมกิจการการเมือง-ทหาร กระทรวงต่างประเทศสหรัฐทวีตข้อความในวันเดียวกันว่า ขีปนาวุธเหล่านี้ไม่ได้ใช้เพื่อโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดิน

“เราเห็นการโจมตีข้ามพรมแดนพุ่งเป้าซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” แถลงการณ์ระบุ

ขีปนาวุธ AIM-120C จะถูกติดตั้งบนเครื่องบินของซาอุดีอาระเบีย เพื่อเป็นเครื่องมือในการสกัดกั้นการโจมตี ซึ่งทำให้กองกำลังและพลเมืองของสหรัฐฯกว่า 7 หมื่นคนในซาอุดีอาระเบีย ตกอยู่ในความเสี่ยง

การขายอาวุธดังกล่าวไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถขัดขวางข้อตกลงนี้ได้ ด้วยการผ่านร่างกฎหมายในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร

การขายขีปนาวุธครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากสหรัฐอนุมัติข้อตกลงบำรุงรักษาเฮลิคอปเตอร์ มูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 16,645 ล้านบาท กับซาอุดีอาระเบีย เมื่อเดือนกันยายน

หลังมีการเผยแพร่ข้อตกลงครั้งล่าสุดกับซาอุดีอาระเบีย มีการวิจารณ์เรื่องนี้อย่างกว้างขวางในสหรัฐ

“เรื่องนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับการทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ” มารีแอนน์ วิลเลียมสัน นักเขียนและอดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ทวีตข้อความดังกล่าว พร้อมปิดท้ายด้วยว่า “เศรษฐกิจของอเมริกาไม่ควรถูกสร้างขึ้นจากการค้าความตาย”

ระหว่างเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ไบเดนตำหนิซาอุดีอาระเบียเกี่ยวกับสงครามเยเมน ตลอดจนการสังหาร จามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบีย สังกัดวอชิงตันโพสต์ โดยครั้งนั้นไบเดนเรียกซาอุดีอาระเบียว่า “พวกนอกคอก”

โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า การขายขีปนาวุธอากาศสู่อากาศครั้งนี้ สอดคล้องกับคำมั่นที่ฝ่ายบริหารเคยให้ไว้ว่า จะใช้วิธีทางการทูตเพื่อนำไปสู่การยุติความขัดแย้งในเยเมน ขณะเดียวกันก็ได้สร้างความมั่นใจว่าซาอุดีอาระเบียจะสามารถป้องกันตนเองจากการโจมตีทางอากาศของกลุ่มกบฏฮูธิ ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน

การแทรกแซงของซาอุดีอาระเบียในเยเมน เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2558 โดยซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรในภูมิภาคเริ่มปฏิบัติการทิ้งระเบิดโจมตีใส่กลุ่มกบฏฮูธิ ที่เข้ายึดครองกรุงซานาและพื้นที่จำนวนมากในเยเมน

ซาอุดีอาระเบียถือว่าฮูธิเป็นตัวแทนของอิหร่าน แต่ทั้งสองฝ่ายปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ ขณะที่สงครามดังกล่าวได้ทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ และองค์การสหประชาชาติระบุเมื่อปีที่แล้วว่า มีผู้เสียชีวิตประมาณ 233,000 ราย จากความขัดแย้งครั้งนี้

ท่ามกลางการโจมตีข้ามพรมแดนที่เพิ่มขึ้น ซาอุดีอาระเบียได้เสนอการหยุดยิงในเยเมนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่กลุ่มกบฏปฏิเสธรับข้อเสนอ