“จีน” เปิดแผนปฏิบัติการ 5 ปี เชื่อม “ดิจิทัล+อุตสาหกรรม”

“จีน” จากเดิมที่อาศัยความได้เปรียบด้านแรงงานในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันจีนกำลังเร่งเปลี่ยนเกมในการยังคงรักษาการเป็นโรงงานของโลก โดยการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามายกระดับอุตสาหกรรมการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

ไชน่า เดลี สื่อทางการจีนรายงานว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน (เอ็มไอไอที) เปิดตัวแผน 5 ปี (ฉบับที่ 14) ช่วงปี 2021-2025 เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา ตั้งเป้ายกระดับเศรษฐกิจของประเทศด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตทั้งหมดภายในปี 2025

ด้วยมาตรการการผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านการผลิต รวมถึงการออกแบบแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตในระบบอุตสาหกรรมการผลิต ภายใต้เป้าหมายทำให้ “อุตสาหกรรมเป็นดิจิทัล” และทำให้ “ดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรม”

“เซี่ยเส้าเฟิง” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของเอ็มไอไอทีระบุว่า โดยตั้งเป้าหมายทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ขีดเส้นว่าภายในปี 2025 จะต้องมีการใช้เครื่องมือในการออกแบบวิจัยและพัฒนาดิจิทัลอย่างน้อย 85% ในระบบเศรษฐกิจ และการใช้งานแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตในระบบอุตสาหกรรมต้องไม่น้อยกว่า 45%

“โกลบอลไทมส์” สื่อทางการจีนอีกรายยังระบุเพิ่มเติมว่า จีนตั้งเป้าหมายให้การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการและการดำเนินงานภายในองค์กรต่าง ๆ เพิ่มเป็น 80% ภายในปี 2025 โดยขั้นตอนการผลิตที่สำคัญในอุตสาหกรรมต้องควบคุมด้วยระบบดิจิทัลอย่างต่ำ 68%

Advertisment

เอ็มไอไอทีระบุว่า การเร่งพัฒนาเครือข่าย 5 จี (5G) ในระบบอุตสาหกรรมของจีน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการบูรณาการ โดยขณะนี้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตที่รองรับการทำงานของภาคอุตสาหกรรมแล้วกว่า 100 รายการ และยังมีโครงการเชื่อมต่อเครือข่าย 5 จี อีกกว่า 1,800 โครงการ ครอบคลุมอุตสาหกรรมสำคัญอย่าง เหมืองแร่ ถ่านหิน และโรงไฟฟ้า

โดยระบบ 5 จี ในอุตสาหกรรมจะเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรม เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การสร้าง “โรงงานอัจฉริยะ” ที่ยกระดับอุตสาหกรรมหลักของประเทศตั้งแต่เครื่องจักร ยานยนต์ การบินและอวกาศ รวมถึงอิเล็กทรอนิกส์

“หนี กวงหนาน” นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาแห่งชาติด้านวิศวกรรมของจีนระบุว่า ความพยายามในการเร่งพัฒนาระบบ 5 จี ในภาคอุตสาหกรรมจะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตของจีนได้อย่างมาก และยังจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของจีนในระดับโลกได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ แผน 5 ปียังกำหนดเป้าหมายในการขยายขนาดอุตสาหกรรม “บิ๊กดาต้า” ของประเทศ โดยตั้งเป้าสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 25% ต่อปี ให้มีมูลค่าถึง 3 ล้านล้านหยวนภายในปี 2025 จากราว 1 ล้านล้านหยวนในปี 2020

Advertisment

ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าของจีนขยายตัวสูงกว่า 30% ต่อปี และยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลของบริษัทวิจัยการตลาด “อินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ป” ประมาณการว่า ภายในปี 2025 อุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าของจีนจะมีสัดส่วนถึง 27.8% ของโลก ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าของจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

“ซุนเค่อ” ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของจีนระบุว่า ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล การเชื่อมโยงข้อมูลด้านอุตสาหกรรมจำนวนมากเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ต จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าจีนมีขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้น

เอ็มไอไอทียังเปิดเผยว่า จีนประสบความสำเร็จอย่างมากในการบูรณาการระบบอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารในแผน 5 ปี (ฉบับที่ 13) ช่วงปี 2016-2020 โดยการใช้งานระบบดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 68.1% และยังมีการเปิดใช้งานสถานีฐาน 5 จี มากถึง 700,000 สถานี ในช่วงเวลาดังกล่าว ถือเป็นความสำเร็จก้าวใหม่ในการยกระดับอุตสาหกรรมของจีน