รู้จักกองทุน Tiger Global มาแรงไล่บี้ SoftBank

softbank

ปี 2021 มีชื่อบริษัทด้านการลงทุนที่โดดเด่นขึ้นมา จากการลงทุนในกลุ่มสตาร์ตอัพ นั่นคือ “ไทเกอร์ โกลบอล แมเนจเมนต์” ที่ถูกจับตาว่าอาจกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว สำหรับกลุ่มทุนใหญ่อย่าง “ซอฟต์แบงก์” ที่ครองตลาดสตาร์ตอัพมาอย่างต่อเนื่อง

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า “ไทเกอร์ โกลบอล แมเนจเมนต์” บริษัทด้านการลงทุนของสหรัฐอเมริกา ที่ได้ใส่เงินร่วมลงทุน (venture capital) ในสตาร์ตอัพทั่วโลกมากถึง 340 ครั้งในปี 2021 เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า จากปี 2020 ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยซีบี อินไซต์ส โดยมุ่งเน้นลงทุนในกลุ่มสตาร์ตอัพธุรกิจอินเทอร์เน็ต ซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีทางการเงิน

มีจำนวนการร่วมลงทุน มากกว่ากลุ่มซอฟต์แบงก์ ของ “มาซาโยชิ ซัน” มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น และ “แอนดรีสเซน โฮโรวิตซ์” บริษัทด้านการลงทุนชั้นนำในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีซิลิคอนวัลเลย์ รวมถึงบริษัททุนจีนอย่าง “เทนเซ็นต์ โฮลดิ้งส์” และ “ซีคัวญ่า แคปิทัล ไชน่า”

แม้ว่ามูลค่าการร่วมลงทุนโดยรวมที่ผ่านมา “วิชั่น ฟันด์” กองทุนของซอฟต์แบงก์ยังคงสูงกว่าไทเกอร์ โกลบอล แต่หากนับเฉพาะในปี 2021 การใส่เงินลงทุนของไทเกอร์ โกลบอล มีมูลค่าเทียบเท่ากับซอฟต์แบงก์ โดยอยู่ที่ราว 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าไทเกอร์ โกลบอล กำลังจี้ติดมาอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ “ไทเกอร์ โกลบอล” ยังอยู่ในช่วงการระดมทุนครั้งใหญ่ในกองทุน “ไพรเวต อินเวสเมนต์ พาร์ตเนอร์ส 15” หรือ “พีไอพี 15” ซึ่งระดมทุนได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 8,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการปิดระดมทุนรอบแรกเมื่อ ต.ค. 2021 และคาดว่าจะระดมทุนได้สูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการปิดระดมทุนรอบสุดท้ายใน มี.ค. 2022

โดยกองทุนดังกล่าวมาจากเม็ดเงินของนักลงทุนทั่วโลก อาทิ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ มูลนิธิ กองทุนประกันชีวิต กองทุนบำนาญ รวมถึง “เชส โคลแมน” ผู้ก่อตั้งไทเกอร์ โกลบอล แมเนจเมนต์ ซึ่งมีประสบการณ์ในการจัดการเฮดฟันด์มาอย่างยาวนาน

เส้นทาง 20 ปี จากเลือกลงทุนธุรกิจในตลาดฯ สู่สตาร์ตอัพ

“ไทเกอร์ โกลบอล” ก่อตั้งในปี 2001 เริ่มต้นการลงทุนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ก่อนที่ในปี 2003 ไทเกอร์ โกลบอล จะหันมาจับธุรกิจไพรเวตอิควิตี้ หันไปลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา อย่าง “เจดีดอตคอม” ยักษ์อีคอมเมิร์ซจีน, “เหม่ยถวน” (Meituan) ผู้ให้บริการฟู้ดดีลิเวอรี่รายใหญ่ของจีน และ “เพโลตอน” (Peloton) สตาร์ตอัพฟิตเนส

ในปี 2021 ไทเกอร์ โกลบอล ยังได้ลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพการเติบโตสูง อย่าง “คอยน์เบส โกลบอล” เจ้าของแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี และ “โรบล็อก” ผู้ให้บริการพอร์ทัลเกมออนไลน์

ความโดดเด่นของไทเกอร์ โกลบอล อยู่ที่ความรวดเร็วในการตัดสินใจลงทุนในสตาร์ตอัพ โดยบางกรณีใช้เวลาในการตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่เพียงวันเดียว ส่งผลให้ปริมาณการลงทุนของไทเกอร์ โกลบอล เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ไทเกอร์ โกลบอล ยังกระจายการลงทุนไปทั่วโลก โดยเฉพาะกองทุน “พีไอพี 15” ที่ตั้งเป้าทุ่มทุนให้กับสตาร์ตอัพในสหรัฐ จีน และอินเดีย

ทั้งนี้ การผ่อนคลายมาตรการทางการเงินของประเทศต่าง ๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้การลงทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยกองทุนเวนเจอร์แคปิทัลทั่วโลกในปี 2021 มีมูลค่ารวมราว 570,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 70% จากปี 2020 ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยการตลาด “พิตช์ บุ๊ก”

ส่งผลให้บริษัทสตาร์ตอัพมีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น และกลายเป็น “ยูนิคอร์น” ที่มีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้อย่างรวดเร็ว

โดยในปี 2021 ทั่วโลกมียูนิคอร์นเพิ่มขึ้นถึง 512 บริษัท มากกว่าปี 2020 ถึง 3 เท่า แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความเสี่ยงที่จะทำให้มูลค่าของบริษัทสตาร์ตอัพ สูงเกินความเป็นจริงด้วยเช่นกัน