ตึงเครียด “รัสเซีย-ยูเครน” วิกฤตที่เอเชียต้องจับตา

สหรัฐ รัสเซีย

รัสเซียกับยูเครนส่อเค้าทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้น การที่บรรดาชาติตะวันตก โดยเฉพาะกลุ่มนาโต้ (NATO) ที่นำโดยสหรัฐอเมริกากังวลว่า รัสเซียอาจใช้ปฏิบัติการทางทหารบุกเข้ายึดพื้นที่บางส่วนของยูเครน เฉกเช่นที่เคยกระทำกับคาบสมุทรไครเมียเมื่อปี 2014 ทว่าทั้งโลกกำลังจับตาใกล้ชิดว่าอาจรุนแรงกว่าอดีตจนบานปลายเป็นสงครามรอบใหม่ ทั้งรัสเซียและยูเครน เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อน

กระทั่งโซเวียตล่มสลาย ช่วงปี 1990 สหรัฐได้ลงนามกับรัสเซียว่า จะไม่แผ่ขยายอิทธิพลมายังกลุ่มชาติอดีตสหภาพโซเวียต ยูเครนจึงแยกออกมาเป็นรัฐอิสระ ประชากรส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายสลาฟที่ผูกพันทางวัฒนธรรมกับรัสเซียชนิดแทบแยกกันไม่ออก

ภูมิหลังของชาวยูเครนสามารถแบ่งเป็นฝั่งตะวันตกกับตะวันออก คนฝั่งตะวันออกมีแนวโน้มนิยมรัสเซีย ตรงข้ามกับคนฝั่งตะวันตก กระทั่งปี 2014 เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในยูเครน รัฐบาลสายโปรรัสเซียถูกโค่นล้ม ประจวบกับการที่รัสเซียสามารถผนวกดินแดนไครเมียซึ่งทำให้รัสเซียได้ใช้ประโยชน์จากทางออกฝั่งทะเลดำไปเต็ม ๆ

“เปโตร โปโรเชนโก” ถือเป็นผู้นำยูเครนคนแรกที่เปิดหน้าท้าชนมอสโก มีท่าทีหันไปซบอกตะวันตก ต่อมา 2019 ยูเครนได้ผู้นำใหม่หนุ่มไฟแรงชื่อ “โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี้” ที่แอนตี้รัสเซียต่อจากโปโรเชนโกแล้ว ยังสนับสนุนแนวคิดสร้างความใกล้ชิดกับกลุ่มนาโต้และสหรัฐอเมริกามากขึ้น เป็นเหตุให้รัสเซียไม่พอใจ

ขณะที่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของประเทศยังคงมีการปะทะอย่างประปรายระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกับกองทัพยูเครน แต่ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา บริเวณชายแดนยูเครนซึ่งมีกองกำลังรัสเซียประชิดอยู่โดยรอบนั้น มอสโกมีการระดมกำลังทหารนับแสนนาย พร้อมยุทโธปกรณ์ที่พร้อมออกศึก สะสมกำลังบริเวณชายแดนยูเครนมากขึ้น นั่นยิ่งทำให้ความตึงเครียดส่อเค้าบานปลายกลายเป็นสงครามในสักวัน

แม้เรื่องขัดแย้ง “รัสเซีย-ยูเครน” อาจฟังเป็นเรื่องไกลตัวจากเอเชีย แท้จริงแล้วหากสงครามปะทุ ผลกระทบทั้งทางตรงทางอ้อมจะเกิดต่อเอเชียอย่างเลี่ยงไม่ได้ ยูเครนรู้จักในฐานะอู่ข้าวอู่น้ำของยุโรปมานานหลายศตวรรษ ยูเครนส่งออกธัญพืชในอันดับต้น อาทิ ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ ข้าวสาลี และธัญพืชอื่น ๆ ล้วนมีความสำคัญต่อแอฟริกาและเอเชีย

ในปี 2020 ประมาณการว่ายูเครนส่งออกข้าวสาลีไม่น้อยกว่า 18 ล้านเมตริกตัน จากที่เก็บเกี่ยวได้ทั้งประเทศราว 24 ล้านตัน นั่นทำให้ยูเครนเป็นชาติผู้ส่งออกข้าวสาลีอันดับ 5 ของโลก ลูกค้าสำคัญคือ จีน อียู และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามากถึง 14 ชาติทั้งในแอฟริกาและเอเชีย

ข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เยเมนและลิเบียนำเข้าข้าวสาลีมากถึง 22% และ 48% ตามลำดับ อียิปต์เป็นผู้บริโภคข้าวสาลียูเครนรายใหญ่สุด มาเลเซียและอินโดนีเซีย นำเข้าข้าวสาลีเท่ากันที่ 28% ของการบริโภคในประเทศ เช่นเดียวกับบังกลาเทศที่ 21% ขณะที่แหล่งเพาะปลูกธัญพืชสำคัญเหล่านี้ล้วนมาจากพื้นที่ตะวันออก
ฝั่งเขตอิทธิพลฝักใฝ่รัสเซียทั้งสิ้น อาทิ แคว้นคาร์คิฟ, ดนีโปรเปตรอฟสค์, ซาโปริเซีย, เคอร์ซอน และเขตปกครองตนเองโดเนตสค์และลูฮานสค์

หากเกิดสงครามพื้นที่เกษตรจะแทนที่ด้วยเขตสู้รบซึ่งกระทบต่อผลผลิตธัญพืชตลาดโลก เป็นอีกปัจจัยสำคัญดันราคาอาหารโลกสูงขึ้น พร้อมกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ทั้งส่งผลห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องต้องสะดุดลง ท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อในหลายชาติที่กำลังกระทบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น หากรัสเซียคิดบุกยูเครน นั่นหมายถึงราคาพลังงานทั้งในยุโรปและสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบทั้งเบรนต์และเทกซัส พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ความตึงเครียด 2 ชาติจะยิ่งดันให้ราคาพลังงานโลก นั่นเพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกพลังงานอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐ ส่วนยูเครนเป็นอีกเส้นทางหลักที่ส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยุโรป ความตึงเครียดนี้ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า วอชิงตันอาจคว่ำบาตรต่อแหล่งพลังงานรัสเซีย ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้ต่อโครงสร้างพื้นฐานพลังงานของยุโรป จึงไม่แปลกที่ “ปูติน” จะใช้ประเด็นนี้ต่อรองกับนาโต้

ปัจจุบันยุโรปพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียผ่านโครงการท่อส่งก๊าซนอร์ดสตอร์ม 1 มายังเยอรมนี ขณะที่โครงการนอร์ดสตอร์ม 2 ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ฝ่ายสหรัฐมองว่าเยอรมนีและอียูไม่ควรพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียมากไป เพราะเท่ากับผูกโยงเศรษฐกิจกับรัสเซียมากขึ้น ย้อนไปยุค “อังเกลา แมร์เคิล” เธอเปรียบเสมือนกาวใจคอยประสานรอยร้าวระหว่างรัสเซียกับตะวันตกในหลายครั้งหลายคราว โดยเฉพาะกรณีไครเมียซึ่งเป็นจุดพีกของความตึงเครียดครั้งก่อน

แต่จากความตึงเครียดรอบนี้ซึ่งยากจะประเมิน หากบานปลายเป็นสงครามแม้กระสุนปืนใหญ่จะไม่ตกในเอเชีย แต่ผลจากความขัดแย้งกระทบใกล้เอเชียกว่าที่คิด