รัสเซีย-ยูเครน: ความขัดแย้งในชาติยุโรป โอกาสที่ดีที่สุดของ “ปูติน”

วิกฤตรัสเซีย ยูเครน โอกาสปูติน
Sputnik/Pavel Bednyakov/Pool via REUTERS

ยุโรปกำลังเผชิญความกังวลจากภัยคุกคาม หลังรัสเซียส่งทหารไปตามแนวชายแดนของยูเครน ขณะที่ความแตกแยกภายในชาติยุโรปเองก็เป็นอุปสรรคในการตอบโต้รัสเซีย

วันที่ 25 มกราคม 2565 วอชิงตันโพสต์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) และเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป (อียู) เน้นย้ำหลายครั้งว่า ทวีปยุโรปยืนหยัดที่จะป้องกันการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และเต็มใจที่จะลงโทษรัสเซีย หากรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าจะทำอย่างไรให้ดีที่สุดในการขัดขวางรัสเซีย หรือจะใช้มาตรการใดในกรณีที่มีการโจมตียูเครน

เปิดรอยแตกในหมู่ชาติยุโรป

3 มหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรป ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ กำลังดำเนินตามแนวทางที่แตกต่างกันไปอย่างมาก เนื่องจากในประเทศตัวเองก็กำลังเผชิญปัญหาทางการเมือง ส่วนประเทศอื่น ๆ นั้น มีท่าทีแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์กับรัสเซีย การพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย และเหตุผลด้านประวัติศาสตร์

“โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ แสดงความโกรธเคือง เมื่อกล่าวถึงปัญหาความแตกแยกนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยชี้ว่าการตอบโต้ต่อการรุกรานของรัสเซียอาจมีความซับซ้อน อันเนื่องมาจาก “ข้อขัดแย้ง” ภายในกลุ่มพันธมิตรนาโต้

ตัวอย่างที่ชัดเจนของความแตกแยกในหมู่มหาอำนาจยุโรป เช่นกรณีที่เครื่องบินของกองทัพอากาศอังกฤษจำเป็นต้องบินอ้อมไปรอบ ๆ เยอรมนี เมื่อคราวส่งอาวุธต่อสู้รถถังเข้าไปในยูเครน โดยเครื่องบินอังกฤษต้องเปลี่ยนเส้นทางการบินเหนือทะเลเหนือและเดนมาร์ก ซึ่งเพิ่มเวลาในการเดินทางหลายชั่วโมง

ต่อมา เจ้าหน้าที่กลาโหมของอังกฤษและเยอรมนีออกมาปฏิเสธเรื่องที่เยอรมนีไม่อนุญาตให้อังกฤษขนส่งอาวุธผ่านน่านฟ้าของเยอรมนี โดยระบุว่า ไม่มีการร้องขอเกิดขึ้น

แต่ภายหลังเยอรมนีก็ปฏิเสธที่จะให้ใบรับรองการขนสินค้าส่งกลับกับเอสโตเนีย เพื่อส่งปืนครกไปยังยูเครน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งที่สำคัญอย่างหนึ่งในยุโรป กรณีการจัดหาอาวุธให้ยูเครน

เจ้าหน้าที่เยอรมันอ้างถึงนโยบายที่มีมายาวนานหลายสิบปีในประเทศของตน ในการปฏิเสธที่จะเตรียมอาวุธให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่กำลังมีความขัดแย้ง โดยอ้างถึงประวัติศาสตร์ของประเทศในฐานะที่เป็นผู้บุกรุกในสงครามโลกครั้งที่ 2

นอกจากนี้ เยอรมนียังต่อต้านสหรัฐ ที่เรียกร้องให้คว่ำบาตรโครงการท่อส่งก๊าซ “นอร์ดสตรีม 2” ของรัสเซีย ทั้งนี้ โครงการท่อส่งก๊าซดังกล่าวเป็นการส่งก๊าซจากรัสเซียไปยังยุโรปตะวันออก ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคนี้พึ่งพาแหล่งพลังงานของรัสเซียมากขึ้น

จุดยืนของเยอมนีได้สร้างความฉุนเฉียวให้อังกฤษ เอสโตเนีย และยูเครน โดย “ดีมีโตร คูเลบา” รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ประณามจุดยืนของเยอรมนีว่า “น่าผิดหวัง” ผ่านทางทวิตเตอร์ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

อังกฤษ ซึ่งสนับสนุนการตอบโต้รัสเซียอย่างจริงจัง ซึ่งรวมถึงการจัดหาอาวุธให้กองทัพยูเครน รู้สึก “ไม่พอใจ” ที่เครื่องบินของตนต้องบินอ้อมเยอรมนี ตามคำกล่าวของ “โทเบียส เอลล์วูด” หัวหน้าคณะกรรมการป้องกันประเทศในรัฐสภาอังกฤษ

“เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และหลีกเลี่ยงการทำให้เยอรมนีต้องอับอาย เราจึงไม่ได้ขอนำเครื่องบินบินผ่านน่านฟ้าเยอรมนีอย่างเป็นทางการ” เขากล่าวและว่า “มันแสดงให้เห็นถึงการขาดความพยายามในการประสานงานใด ๆ ของนาโต้ เพื่อช่วยพันธมิตรนาโต้และช่วยเหลือพันธมิตรในยุโรป”

“รัสเซียสังเกตเห็นสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด และผมกังวลว่าเรื่องนี้จะกระตุ้นให้รัสเซียดำเนินการในสิ่งที่เกินเลยไปมากกว่านี้” เขากล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์

ในขณะเดียวกัน ฝรั่งเศสได้ฉวยโอกาสจากวิกฤตยูเครน เพื่อเดินหน้าเป้าหมายของตัวเองในเรื่องกรอบการทำงานด้านความมั่นคงที่นำโดยสหภาพยุโรป ซึ่งอาจบ่อนทำลายนาโต้

“เอ็มมานูเอล มาครง” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เรียกร้องให้สหภาพยุโรปเปิดการเจรจากับรัสเซีย เพื่อลดความตึงเครียด ซึ่งอาจเป็นเส้นทางที่ขัดแย้งต่อการทูตที่นำโดยสหรัฐ

“ฝรั่งเศสกำลังจะจัดการเลือกตั้งในเดือนเมษายนนี้ มาครงจึงมีเหตุผลทางการเมืองที่จะส่งเสริมบทบาทของตัวเองในฐานะตัวละครหลักในการผลักดันการเจรจาระหว่างยุโรปกับรัสเซีย” อีฟลิน ฟาร์คาส ซึ่งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหม ดูแลกิจการที่เกี่ยวกับรัสเซีย ยูเครน และยูเรเซีย ในสมัยอดีตประธานาธิบดี “บารัก โอบามา” ของสหรัฐ กล่าว

เธอวิเคราะห์ด้วยว่า คำพูดของมาครงมีส่วนทำให้เกิดความรู้สึกว่า ยุโรปกำลังเผชิญกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่ร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

“หากรัสเซียหนีรอดจากสิ่งที่กระทำในยูเครน และพยายามที่จะปรับเปลี่ยนพรมแดน ระเบียบระหว่างประเทศทั้งหมดจะตกอยู่ในอันตราย” เธอกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์

โอกาสทองของ “ปูติน”

เจ้าหน้าที่สหรัฐเตือนว่าความขัดแย้งในหมู่พันธมิตรชาติตะวันตก ตกอยู่ในมือของปูติน พร้อมระบุด้วยว่า พวกเขากำลังดำเนินการเพื่อลดความขัดแย้งต่าง ๆ

“ผมคิดว่าหนึ่งในเป้าหมายที่มีมายาวนานของรัสเซีย คือการพยายามหว่านเมล็ดพันธุ์ความแตกแยกในประเทศของพวกเรา และเป็นเรื่องธรรมดามากที่เราจะไม่ยอมให้รัสเซียทำเช่นนั้น” แอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ กล่าวกับผู้สื่อข่าวระหว่างเยือนกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน

แต่ผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันในยุโรป ทำให้บางประเทศในทวีปนี้ไม่ต่อต้านสหรัฐ โดยประเทศในยุโรปตะวันออกและบอลติกที่รู้สึกว่าถูกคุกคามจากการขยายอิทธิพลของรัสเซีย ต่างต้องการการตอบโต้ที่นำโดยสหรัฐ ประเทศเหล่านี้แสดงความกังวลว่าพันธมิตรในยุโรปตะวันตกอาจแสวงหาแนวทางที่เป็นกลาง ซึ่งอาจทำให้พันธกรณีด้านความมั่นคงของสหรัฐที่มีต่อยุโรปนั้นอ่อนแอลง

การเมืองภายในชาติยุโรป

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น การที่ยุโรปต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ในสัดส่วน 40% จากความต้องการทั้งหมด ซึ่งทำให้บางประเทศไม่เต็มที่จะใช้แนวทางที่แข็งกร้าว ประกอบกับวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นทั่วยุโรป และหลายรัฐบาลในยุโรปกังวลว่า การขึ้นราคาพลังงานในช่วงกลางฤดูหนาว จะส่งผลกระทบต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

“ความขัดแย้งในระหว่างชาติในยุโรปตะวันออกและตะวันตกนั้นเห็นได้อย่างชัดเจน โดยชาวยุโรปตะวันตกจำนวนมากต้องเผชิญภัยคุกคามจากรัสเซียมาเป็นเวลานาน” “แคทรีน คลูเวอร์ แอชบรู๊ค” ผู้อำนวยการสภาวิเทศสัมพันธ์แห่งเยอรมนี กล่าว

เธอกล่าวด้วยว่า ความขัดแย้งในยุโรปปรากฏผ่านรัฐบาลเยอรมนี ที่เพิ่งก่อตั้งใหม่และไร้ประสบการณ์ โดยรัฐบาลผสมของเยอรมนีไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับวิกฤตยูเครนได้

“โอลาฟ โชลซ์” นายกรัฐมนตรีเยอรมนี มีประวัติความสัมพันธ์อันอบอุ่นกับรัสเซีย ในขณะที่ “แอนนาลีน่า แบร์บอค” รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี มีจุดยืนที่เข้มแข็งกว่า

“ปูตินแทบจะเลือกเวลาที่ดีกว่านี้เพื่อท้าทายยุโรปไม่ได้อีกแล้ว” เอลวูด สมาชิกรัฐสภาอังกฤษ กล่าวในระหว่างที่อังกฤษเองกำลังเผชิญกับวิกฤตผู้นำ หลัง “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ถูกเปิดโปงว่าละเมิดมาตรการล็อกดาวน์เสียเอง

ฝรั่งเศสกำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง และรัฐบาลใหม่ของเยอรมนียังไม่สามารถหาจุดยืนได้ หลังการอำลาจากตำแหน่งผู้นำนาน 16 ปี ของ “แองเกล่า แมร์เคิล”

“ปูตินรู้ดีว่า ฐานอำนาจหลักของยุโรปคือ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ” เอลวูดกล่าวและว่า “หากสามประเทศนี้สามัคคีกัน ประเทศที่เหลือในยุโรปก็จะปฏิบัติตาม แต่หากสามารถสร้างความแตกแยกในหมู่สามประเทศนี้ได้ ยุโรปก็จะไร้ผู้นำ ไม่มีการประสานงาน และไม่มีความสามัคคี”