“นครเหอเฟย์” ดาวแดงเล่นหุ้น หาทุนพัฒนาเมือง

จีน

ท่ามกลางโควิด-19 ระบาด สตาร์ตอัพรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีนอย่าง “นีโอ” (Nio) ที่ถูกกล่าวขานเป็น “เทสลาสัญชาติจีน” เผชิญกับข้อจำกัดหลายอย่างทั้งการชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ประกอบกับถูกจำกัดการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างแดนของรัฐบาลจีน ทำให้ Nio จำต้องกลับไปพึ่งแหล่งเงินทุนในประเทศ นั่นคือรัฐบาลท้องถิ่นพรรคคอมมิวนิสต์

หน่วยงานท้องถิ่นเมืองเหอเฟย์ มณฑลอานฮุย กำลังจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Nio จากการเตรียมซื้อหุ้นเพิ่มเป็น 17% มูลค่า 5 พันล้านหยวน ราว 787 ล้านดอลลาร์ ไม่เพียงแค่เข้าถือหุ้น แต่เมืองยังมีแผนให้บริษัท Nio ย้ายสำนักงานใหญ่จากเซี่ยงไฮ้ มายังเมืองเหอเฟย์ พร้อมเปิดสายการผลิตในท้องถิ่นมากขึ้น

โมเดลนี้ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามกระชับพื้นที่การลงทุนของเอกชน อาจถูกมองได้ว่าเป็นการปิดกั้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือการเกิดขึ้นของสตาร์ตอัพ แต่ทว่าการเข้าซื้อหุ้น Nio ของหน่วยงานท้องถิ่นจีนกลับ ทำให้บริษัทพลิกกลับมามีกำไรอีกครั้งช่วงต้นปี 2021 และรัฐบาลท้องถิ่นเมืองเหอเฟย์ก็ทำสิ่งในที่ไม่ต่างจากนักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีต คือการขายหุ้นบางส่วนในช่วงที่ราคาหุ้นแตะระดับสูงสุดทำให้เมืองเหอเฟย์ทำกำไรจากการลงทุนได้มากถึง 5.5 เท่าของเงินลงทุน

“การลงทุนใน Nio ทำเงินให้เราอย่างมาก การหาเงินของรัฐ (คอมมิวนิสต์) ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นการหาเงินเพื่อประชาชน” หยู อ้ายหว่า เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเหอเฟย์ กล่าว

เหอเฟย์เป็นผู้บุกเบิกการหาเงินเข้าท้องถิ่นในแบบฉบับของทุนนิยมภายใต้คอมมิวนิสต์ การลงทุนแบบนี้ จีนเรียกว่า “เหอเฟย์โมเดล” ปัจจุบันรัฐบาลท้องถิ่นเหอเฟย์ลงทุนในบริษัทเอกชนหลายสิบแห่งที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นหัวใจหลักของแผนการปฏิรูประบบเศรษฐกิจตามดำริของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

Advertisment

ปี 2008 BOE Technology Group Co. ผู้ผลิตจอแอลซีดีรายใหญ่ของจีน ซึ่งกำลังประสบปัญหาทางการเงินใกล้ล้ม รัฐบาลท้องถิ่นเหอเฟย์ตัดสินใจระงับแผนสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของเมือง แล้วนำเงินไปลงทุนในบริษัท BOE แทน กระทั่ง 2011 เหอเฟย์กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ BOE จำนวน 18%ปัจจุบันเหอเฟย์กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางผลิตจอแอลซีดีรายใหญ่ของประเทศที่มีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านหยวนต่อปี สร้างงานนับหมื่นตำแหน่งให้กับพลเมือง

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก มหาวิทยาลัยชิงหัวในกรุงปักกิ่ง และมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง วิเคราะห์บริษัทในจีนที่มีมากกว่า 37 ล้านบริษัท พบว่าจำนวนนี้มีผู้ถือหุ้นที่เป็นหน่วยราชการของรัฐถึง 40,000 แห่ง เป็นหน่วยราชการตั้งแต่ระดับรัฐบาลกลางไปจนถึงเมือง หรือแม้แต่ระดับหมู่บ้าน เฉลี่ยแล้วหน่วยงานราชการของจีน 1 แห่ง เข้าถือหุ้นหรือลงทุนในบริษัทเอกชน 16 แห่ง

“จาง ไท่เซี่ย” จากมหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวว่า “นี่ไม่ใช่บริษัทของรัฐ แต่ก็ไม่ใช่บริษัทเอกชนซะทีเดียว นี่คือพื้นที่สีเทา ซึ่งผมคิดว่าเป็นโครงสร้างองค์กรที่โดดเด่นของจีนในปัจจุบัน เมื่อ 30 ปีก่อนรัฐบาล (พรรคคอมมิวนิสต์) เป็นเจ้าของทุกอย่าง ซึ่งมักผลิตสิ่งที่
ไม่มีใครต้องการซื้อ แต่ตอนนี้เป็นเหมือนผู้ร่วมลงทุนกับเอกชน” จางกล่าว สำหรับผู้ประกอบการแล้ว การมีเป็นหุ้นส่วนกับรัฐท้องถิ่นยังช่วยอำนวยความสะดวกด้านการทำธุรกิจ เป็นอีกหนึ่งกุญแจความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม “เหอเฟย์โมเดล” ไม่อาจเป็นแม่บทการันตีความสำเร็จได้ มีบทเรียนมากมายจากการลงทุนโดยรัฐบาลหลายประเทศที่สุดท้ายกลับสูญเปล่า เช่นเดียวกับเหอเฟย์ที่ใช่ว่าทุกการลงทุนจะสำเร็จเสมอไป 
ตัวอย่างเช่น บริษัทแผงโซลาร์เซลล์ของเหอเฟย์ที่ถูกบริษัทฮิตาชิของญี่ปุ่นเข้าเทกโอเวอร์

Advertisment

นักวิจัยมองว่าสิ่งสำคัญของการลงทุนนี้ คือกระจายความเสี่ยงที่รัฐท้องถิ่นมอบอำนาจให้ผู้จัดการกองทุนมืออาชีพดูแล ผ่านการจัดตั้งกองทุนลักษณะไพรเวตอิควิตี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่มุ่งลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ที่มั่นคง และอีกส่วนมุ่งลงทุนในสตาร์ตอัพที่มีแววเติบโตสูง โดยปัจจุบันเมืองเหอเฟย์ได้เปลี่ยนไปลงทุนผ่านกองทุนหลายสิบแห่ง แทนที่ลงทุนในบริษัทเอกชนโดยตรง แต่ปัจจุบันการถือหุ้นใน Nio เป็นการถือผ่านกองทุน

ความสำเร็จของเหอเฟย์เป็นแรงบันดาลใจให้ข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ในเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่พื้นที่ห่างไกลแถบมองโกเลีย จนถึงมหานครเสิ่นเจิ้นศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาเมืองและสร้างเศรษฐกิจในท้องถิ่น ด้วยขนาดและศักยภาพทางเศรษฐกิจของจีน หากแบบจำลองนี้ประสบความสำเร็จเพียงบางส่วน ก็สามารถเปลี่ยนเศรษฐกิจประเทศได้ในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า