คว่ำบาตรรัสเซีย = สหรัฐคว่ำบาตรเศรษฐกิจตัวเองหรือไม่?

ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics

Bnomic ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงเทพ วิเคราะห์มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของสหรัฐ จะกลายเป็นการคว่ำบาตรเศรษฐกิจตัวเองด้วยหรือไม่

เกมการคว่ำบาตรทางการต่างประเทศระหว่างสหรัฐ และรัสเซีย กำลังดำเนินไปสู่อีกขั้นที่รุนแรงยิ่งขึ้น

ในตอนแรกนั้น มาตรการคว่ำบาตรที่ออกมายังเล็งไปเฉพาะจุด กระทบแค่บางคน และที่สำคัญ คือ มาตรการที่ออกมา ถ้าจะให้ดีแล้วก็ “ไม่ควรกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศตนเอง”

แต่เมื่อเหตุการณ์ดำเนินไป ต่างไม่มีใครยอมอ่อนข้อแก่ใครก่อน จึงทำให้มีมาตรการที่แข็งกร้าวรุนแรงขึ้นมาเรื่อย ๆ

และล่าสุด มาตรการที่กำลังพิจารณากันอยู่ระหว่างสหรัฐ และประเทศพันธมิตร อย่างการแบนการนำเข้าน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย ก็กำลังสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายอย่างมาก เกิดการคาดการณ์กันว่า ผลลัพธ์ที่ตามมาจะไม่ได้ตกอยู่กับรัสเซียเองเท่านั้น แต่จะย้อนกลับมาถึงอเมริการวมถึงทั้งโลกด้วย

ไบเดนถูกกดดันให้ใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซียเพิ่มขึ้น

ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงในยูเครนที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นต่อเนื่อง กระแสการเรียกร้องให้ประธานาธิบดีใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น ก็มีออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ

ซึ่งมาตรการที่มีการวิเคราะห์กันว่า เป็นมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงที่สุดอย่างหนึ่ง คือ การห้ามนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ที่เป็นอย่างนั้นเพราะ ปิโตรเลียมเหล่านี้เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของรัสเซีย ที่มีสัดส่วนต่อมูลค่าการส่งออกทั้งหมด สูงถึงประมาณ 50% เลย

การแบนปิโตรเลียมจากรัสเซีย ได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้งสองพรรคการเมืองในสหรัฐ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีหัวเรือคนสำคัญที่ออกมาเรียกร้อง คือ คุณแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ (Speaker of the United State House Representative) คนปัจจุบัน (ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ ถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก โดยหากประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ก็จำเป็นต้องรับบทบาทนั้นแทน)

ซึ่งแม้คุณไบเดนจะยังไม่ได้ตอบคำถามเรื่องมาตรการคว่ำบาตรนี้ด้วยตนเองโดยตรง แต่ก็มีตัวแทนจากฝ่ายบริหารคนสำคัญ อย่างรัฐมนตรีต่างประเทศ คุณแอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “การนำเข้าสินค้าปิโตรเลียมจากรัสเซีย กำลังอยู่บนโต๊ะเจรจาระหว่างสหรัฐ และชาติพันธมิตร)”
เป็นการเปิดโอกาสว่า มาตรการนี้มีโอกาสที่จะถูกนำมาใช้ได้จริง

แต่การนำมาตรการนี้ออกมาใช้นั้น มีต้นทุนทางด้านเศรษฐกิจอยู่ ต่อทั้งสหรัฐเองและทั้งโลก

แม้ว่า ทางสหรัฐจะนำเข้าน้ำมันดิบจากทางรัสเซียเป็นสัดส่วนค่อนข้างน้อย ประมาณ 90,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นไม่ถึง 2% เท่านั้น

แต่บทบาทของปิโตรเลียมรัสเซียในเวทีโลก ที่คิดเป็นประมาณ 10% และเป็นแหล่งพลังงานหลักของทวีปยุโรป ถ้าปริมาณนี้หายไป ก็ย่อมส่งผลกดดันให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นตาม ซึ่งก็จะส่งผลมาถึงสหรัฐ
โดยตอนนี้ แม้จะยังไม่มีการห้ามนำเข้าปิโตรเลียมรัสเซีย เราก็เห็นการปรับตัวของราคาไปก่อนแล้วในสินค้าโภคภัณฑ์หลากหลาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาน้ำมันดิบอ้างอิงสำคัญทั้ง WTI (อ้างอิงหลักที่สหรัฐ) และ Brent Crude Oil (อ้างอิงหลักที่ยุโรป) ก็ปรับขึ้นทั้งคู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัว Brent Crude Oil ที่เกือบจะแตะระดับ 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว

ราคาน้ำมัน gasoline หน้าปั๊มของสหรัฐก็ปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาสัปดาห์เดียว ราคาพุ่งสูงขึ้นกว่า 11%

ที่น่ากังวลใจยิ่งกว่านั้นคือ ราคาน้ำมันอ้างอิงปรับขึ้นมา ยังไม่ได้ส่งผ่านมาถึงราคาน้ำมันหน้าปั๊มอย่างสมบูรณ์ ทำให้มีแนวโน้มว่า ผู้ใช้รถใช้ถนนในสหรัฐ (รวมถึงทั่วโลก) อาจะจะต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้นกว่าตอนนี้อีก
ซึ่งประชาชนในสหรัฐเอง ก็อาจจะยังมีขยาดไม่อยากจะเจอกับปัญหาน้ำมันขาดแคลนหรือน้ำมันราคาสูงอีกแล้ว เนื่องจากพวกเขาเคยผ่านประสบการณ์วิกฤติราคาน้ำมันมาแล้วถึงสองรอบหลัก ในช่วงยุค 70-80 ที่เคยมีภาพที่รถยนต์ต้องต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรอเติมน้ำมันมาแล้ว

ทางสหรัฐก็มองเห็นปัญหานี้ ในตอนนี้จึงได้พยายามติดต่อไปยังประเทศในตะวันออกกลางให้เร่งการผลิตน้ำมันขึ้นมาชดเชย อย่างไรก็ดี ตอนนี้เหมือนว่า ประเทศเหล่านั้นก็ยังสงวนท่าที รอเล่นเกมที่ประเทศตัวเองจะได้ประโยชน์สูงสุดอยู่เช่นกัน

ปัญหาในตลาดการเงิน

ทั้งหมดนี้ ก็สร้างความกังวลใจให้กับตลาดการเงินด้วย เริ่มมีการทยอยขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง และหันเข้าไปถือสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง (Safe Haven) แทน โดยมีทองคำเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ได้รับอานิสงส์ทางบวก พุ่งขึ้นไปแตะระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่กลาง ปี ค.ศ. 2020

นอกจากนี้ วิกฤติความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ยังเป็นการเพิ่มความท้าทายในการใช้นโยบายการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงถัดไปด้วย

จากที่จะเล็งไปจัดการปัญหาเงินเฟ้ออย่างเดียว เพราะตัวเลขการจ้างงานกลับมาดีแล้ว

ก็ต้องกลับมาทดปัญหาวิกฤติยูเครนไว้ในใจด้วยว่า ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และโลกแค่ไหน? การส่งออกไปยุโรปจะหดตัวมากไหม? หรือปัญหาราคาน้ำมันจะส่งผลต่อการผลิตและบริโภคอย่างไร? ก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ

เพราะถ้าถ้าขึ้นดอกเบี้ยหรือถอนยาสภาพคล่องเร็วเกินไป ก็จะสร้างบาดแผลไว้ให้เศรษฐกิจและประชาชนของตัวเองได้ อาจจะไม่มากเท่ากับรัสเซีย แต่ก็เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจตนเองเช่นกัน

ในตอนนี้ ก็ต้องจับตามองสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดต่อไป อย่างไร ลึก ๆ แล้ว ก็คงไม่มีประเทศไหนที่จะอยากจ่ายราคาที่แพงเกินไปเพื่อให้ชนะในสงครามครั้งนี้ แต่ก็ไม่มีอะไรที่บอกได้อย่างแน่ชัด เพราะจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา อะไรที่เราเคยบอกว่า จะไม่เกิดขึ้นในวิกฤติครั้งนี้ ก็ดันเกิดขึ้นมานัดต่อนัดแล้ว…