การฆ่าตัวตาย ทางเศรษฐกิจของรัสเซีย

รัสเซีย
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ในขณะที่สงครามยึดครองยูเครนสร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก ประเทศที่ได้รับผลกระทบสาหัสที่สุด หนีไม่พ้น “รัสเซีย” ที่เผชิญหน้ากับมาตรการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งร้ายแรงที่สุดเท่าที่ประเทศหนึ่ง ๆ เคยเผชิญมาในอดีต

ชาติตะวันตกพากัน “อายัดทรัพย์สิน” ของรัสเซีย มูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ที่อยู่ในสถาบันการเงินของตนเอง, แซงก์ชั่นบรรดาอัครมหาเศรษฐีทั้งหลายที่ใกล้ชิดอยู่กับ “วลาดิมีร์ ปูติน” ผู้นำรัสเซีย, ตัดธนาคารของรัสเซียออกจากระบบสื่อสารสวิฟต์ (SWIFT) ระบบอำนวยความสะดวกในการชำระเงินระหว่างธนาคารต่าง ๆ ทั่วโลก และทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในรัสเซียยุ่งยากลำบากระดับแทบเป็นไปไม่ได้แล้วในเวลานี้

ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ค่าของเงิน “รูเบิล” ของรัสเซียที่หายวับไปกับตาแล้วเกือบ 40 % อ่อนค่าลงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ ในขณะที่หุ้นบริษัทสัญชาติรัสเซียที่ซื้อขายกันในตลาดลอนดอนทรุดหนัก ร่วงลงกว่า 90% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

รัสเซีย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากที่สุดของโลกก็จริง แต่ราวครึ่งหนึ่งของทุนสำรอง 640,000 ล้านดอลลาร์ของรัสเซีย ถือครองโดยธนาคารในชาติตะวันตก ซึ่งตัดขาดจากการทำธุรกรรมกับรัสเซียแล้วในเวลานี้ เท่ากับ 50% ของเงินดังกล่าวถูก “แช่แข็ง” ไปโดยปริยาย

ธนาคารกลางหรือแบงก์ชาติของรัสเซียไม่สามารถใช้ทุนสำรองไปซื้อดอลลาร์เพื่อปกป้องค่าเงิน แล้วก็ไม่สามารถใช้ทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์, ยูโร หรือทองคำ ไปใช้เพื่อปกป้องเศรษฐกิจของตนเองด้วยเช่นกัน

“คีตา โฆปินาถ” รองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เชื่อว่า การแซงก์ชั่นในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจของรัสเซียตกอยู่ในสภาพ “ถดถอยลึกมาก” และจะสร้างแรงสะเทือนในทางลบต่อเศรษฐกิจของโลกโดยรวมขนานใหญ่อีกด้วย

“เรายังมองด้วยว่า การแซงก์ชั่นรัสเซียชุดต่อไปอาจเกี่ยวเนื่องหรือเป็นการขับรัสเซียออกจากองค์การการค้าโลก ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น และยิ่งยืดเยื้อนานไปก็จะยิ่งมีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระเบียบเศรษฐกิจโลกตามมา” รองกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟระบุ

คณะนักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) เชื่อเช่นกันว่า การแซงก์ชั่นซึ่งมีค่าเท่ากับกันรัสเซียออกจากระบบเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของรัสเซียเอง

โรบิน บรูกส์ หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของไอไอเอฟ ชี้ว่า การแซงก์ชั่นส่งผลต่อสถานะทางการเงินของรัสเซียอย่างหนัก ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องต่อดีมานด์ภายในประเทศ เขาชี้ว่า รัสเซียสามารถพิมพ์เงินออกมาเพิ่มได้ตามใจชอบก็จริง แต่ก็จะยิ่งส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลดิ่งลงต่อเนื่องไปอีก ภาวะเงินเฟ้ออาจยกระดับสู่ภาวะไฮเปอร์อินเฟลชั่น ที่จะ “หลุดออกไปนอกเหนือการควบคุม” ในที่สุด

ไอไอเอฟประเมินว่า มวลรวมผลผลิตของรัสเซียจะถล่มลงราว 30% ในปีนี้

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกทั้งหลาย พากันลดอันดับความน่าเชื่อถือ ของรัสเซียลงสู่ระดับ “ขยะ” เพราะเชื่อว่ารัสเซียจะผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศของตนอย่างแน่นอนในเร็ว ๆ นี้ เพราะไม่ต้องการให้เงินตราต่างประเทศที่หลงเหลืออยู่จำกัดจำเขี่ย ต้องไหลออกนอกประเทศมากขึ้นไปอีก

ธนาคารโลกระบุว่า ในวันที่ 16 มีนาคมนี้ รัสเซียจำเป็นต้องชำระหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์บางส่วนรวม 117 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากไม่มีการชำระก็จะมีระยะเวลาประนีประนอมอีก 30 วัน ดังนั้นการผิดนัดชำระหนี้อย่างเป็นทางการของรัสเซียจะปรากฏให้เห็นจริง ๆ ก็ในราวกลางเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

ผลจากการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาล จะผูกพันต่อการกู้ยืมหรือการระดมทุนในตลาดต่างประเทศในอนาคตที่จะทำได้ยากมากขึ้น และด้วยต้นทุนสูงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่ารัสเซียจะชำระหนี้ได้หรือไม่ก็ตาม เพราะแทบไม่มีธนาคารและนักลงทุนตะวันตกรายไหนเต็มใจปล่อยกู้ให้กับรัฐบาล “มือเปื้อนเลือด” ที่เห็นกันจะจะอีกต่อไปแล้ว

และเป็นไปได้ที่อาจต้องใช้ระยะเวลาอีกยาวนานมาก กว่าที่สถาบันและบรรดานักลงทุนระหว่างประเทศเหล่านี้จะรู้สึก “ปลอดภัย” เพียงพอที่จะลงทุนในรัสเซียใหม่อีกครั้ง

นักวิเคราะห์บางคนจึงอุปมาการตัดสินใจส่งกำลังบุกยูเครนว่า ไม่ต่างอะไรจากการฆ่าตัวตายทางเศรษฐกิจของรัสเซีย

ที่ปูตินลงมือกระทำอย่างเต็มใจนั่นเอง