เดลตาครอน รุนแรงแค่ไหน พบที่ใดบ้าง รวมเรื่องควรรู้ หลัง WHO ยืนยัน

เดลต้าครอน รุนแรงแค่ไหน พบที่ใดบ้าง รวมเรื่องควรรู้ หลัง WHO ยืนยัน
Photo by Ed JONES / AFP

รวมทุกเรื่องควรรู้เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุลูกผสม “เดลตาครอน” หลังองค์กรอนามัยโลกยืนยันว่าเริ่มแพร่ระบาดแล้ว

วันที่ 17 มีนาคม 2565 มติชน รายงานว่า องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ลูกผสมระหว่างสายพันธุ์โอมิครอนและเดลต้า หรือที่เรียกกันว่าสายพันธุ์ “เดลตาครอน” เริ่มแพร่ระบาดแล้วในยุโรป โดยพบแล้วในประเทศฝรั่งเศส เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์

“ดร. เมเรีย ฟาน เคอร์คโฮฟ” ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า มีการเฝ้าระวังอย่างดีในหลายประเทศในเวลานี้ และก็มีการลงความเห็นกันว่ามีการพบเดลตาครอนในระดับที่ต่ำมาก

ทั้งนี้ก่อนหน้ามีองค์กรและนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสยืนยันแล้วว่ามีไวรัสเดลตาครอนอยู่จริง โดยล่าสุด กลุ่ม Global initiative on sharing all influenza data หรือระบบ GISAID ที่แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสอินฟลูเอนซา ระบุว่า เป็นการพบหลักฐานที่ชัดเจนครั้งแรกของไวรัสพันธุ์ผสมเดลต้าและโอมิครอนเป็นครั้งแรก ซึ่ง GISAID ระบุว่า เดลตาครอนแพร่ระบาดมาตั้งแต่ต้นปีนี้แล้ว

พบตั้งแต่ต้นปีแล้ว

วันที่ 9 มกราคม 2565 ซีเอ็นบีซี รายงานว่า “เลโอนดิโอส โกสตริกีส์” ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากมหาวิทยาลัยไซปรัส ค้นพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาครอน นอกจากนี้ โกสตริกีส์ และทีมวิจัย พบผู้ติดเชื้อนี้ถึง 25 ราย อ้างอิงข้อมูลจากรายงาน

“เราอาจจะได้เห็นเชื้อนี้มากขึ้นในอนาคต หากเชื้อสายพันธุ์นี้มีความรุนแรง หรือแพร่เชื้อได้ง่าย หรือระบาดอย่างแพร่หลายมากขึ้น เมื่อเทียบกับการระบาดของเชื้อเดลต้าและโอมิครอน” โกสตริกีส์กล่าวในการสัมภาษณ์กับซิกมาทีวีฟรายเดย์

อาการรุนแรงหรือไม่ ?

วันที่ 10 มีนาคม 2565 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เกี่ยวกับไวรัสเดลตาครอน ระบุว่า ไวรัสเดลตาครอนจริง ๆ เกิดขึ้นตั้งแต่มกราคมที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เดลต้ายังไม่ลดลงมากและโอมิครอนกำลังเริ่มต้น ซึ่งคนที่ติดสองสายพันธุ์พร้อมกันจึงมีอยู่มากพอสมควร

สายพันธ์ุเดลตาครอนตรวจพบในฝรั่งเศส และทีมวิจัยของ WHO ออกมายอมรับว่าเป็นไวรัสลูกผสมของจริง ไม่ใช่การปนเปื้อนของสิ่งส่งตรวจ ไวรัสชนิดนี้มีส่วนด้านหน้าที่เป็นโปรตีนสำหรับเพิ่มจำนวนไวรัสเป็นของเดลต้า (AY.4) และ โปรตีนหนามสไปค์มาจากโอมิครอน (BA.1)

ในขณะเดียวกัน ก็พบไวรัสลักษณะคล้ายกันในเดนมาร์ก และ เนเธอแลนด์ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นไวรัสลูกผสมจากแหล่งเดียวกันแล้วแพร่กระจายข้ามประเทศ หรือ เป็นไวรัสคนละสายพันธุ์ที่เกิดด้วยกลไกการแลกเปลี่ยนสายพันธุ์แบบใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ ไวรัสชนิดนี้ยังไม่มีข้อมูลใด ๆ เรื่องความรุนแรงหรือคุณสมบัติที่โดดเด่นจนต้องจับตามอง เพราะพบมา 3 เดือนแล้วก็ไม่ได้มีอะไรที่โดดเด่นขึ้นมา

เนื่องจากเดลต้าลดน้อยลงมาก การเกิดไวรัสแบบนี้คงพบได้ยากขึ้น ที่จะพบกันตอนนี้จะเป็น BA.1กับ BA.2 มากกว่า ที่พบร่วมกันอยู่อย่างมากมายในประชากรมนุษย์

รายงานผู้ติดเชื้อในตอนนี้

จากรายงานขององค์การอนามัยโลก เผยว่าเดลตาครอนเริ่มแพร่ระบาดแล้วในยุโรป โดยพบแล้วในประเทศฝรั่งเศส เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ แต่ยังไม่มีตัวเลขผู้ป่วยที่แน่ชัด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ข่าวสด รายงานว่า จากการเฝ้าระวังตัวแปรรายสัปดาห์ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสหราชอาณาจักรประกาศว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นทั้งเดลตาและโอมิครอนในเวลาเดียวกัน ทว่ายังไม่มีการระบุอย่างแน่ชัดว่าตัวแปรลูกผสมดังกล่าวเป็นการติดเชื้อมาก่อนที่จะเข้าประเทศหรือมีต้นกำเนิดในประเทศอังกฤษ และไม่ได้เปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศ

ด้าน ฟอร์จูน รายงานว่า ผลการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565 จากว็บไซต์วิจัย medRxiv ระบุว่ามีการพบผู้ติดเชื้อเดลตาครอนในสหรัฐอเมริกา 2 ราย เมื่อทำการจัดลำดับตัวอย่าง กว่า 30,000 ตัวอย่าง ที่รวบรวมจากทั่วทั้งสหรัฐอเมริการะหว่างเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ถึงกุมภาพันธ์ปีนี้

แต่จากการศึกษาพบว่า สายพันธ์ุเดลตาครอนนั้น หายากมากและติดต่อยากกว่า นอกจากนี้พวกเขายังสามารถระบุผู้ที่ติดเชื้อทั้งเดลต้าและโอไมครอน ได้อีก 20 ราย และมีผู้ป่วยรายหนึ่งที่ติดเชื้อทั้ง เดลต้า โอมิครอน และ เดลตาครอน

ขณะที่ นิคเคอิเอเซีย รายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขของบราซิลยืนยันผู้ติดเชื้อเดลตาครอนในบราซิลแล้ว เมื่อวันอังคารที่ 15 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งสองกรณีได้รับการยืนยันในบราซิล โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่าเป็น ชายอายุ 34 ปีในรัฐอามาปา ทางตอนเหนือของรัฐ และหญิงอายุ 26 ปี ในรัฐพารา ทางตอนเหนือของรัฐปารา

ไวรัสลูกผสมเกิดจากอะไร ?

เอ็นบีซีนิวส์ รายงานว่า การผสมและกลายพันธ์ุของไวรัส สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อติดเชื้อสองสายพันธุ์ที่แตกต่างกันในเวลาเดียวกัน ในขณะที่ไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์ในร่างกาย ในบางกรณี พวกมันสามารถสลับส่วนของจีโนมของพวกมันและรับการกลายพันธุ์จากกันและกันได้

ดร.เมเรีย ฟาน เคอร์คโฮฟ กล่าวในแถลงการณ์ว่า เมื่อทำการศึกษามากขึ้น พบว่าเป็นไปได้ที่ไวรัสลูกผสมนี้จะถูกตรวจพบในประเทศอื่น ๆ แต่กำลังการแพร่ระบาดอยู่ในระดับต่ำมาก

ด้าน “เจเรมี คามิล” รองศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาที่มหาวิทยาลัยรัฐหลุยเซียนา กล่าวว่า เดลตาครอน อาจเกิดขึ้นในสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของเดลต้าและโอมิครอนซ้อนทับกันในชั่วขณะหนึ่ง

วัคซีนเอาอยู่หรือไม่

วันที่ 17 มีนาคม 2565เดอะฟิลาเดเฟียอินไควเรอร์ รายงานว่า ยังไม่มีผลทดลองชัดเจนว่าวัคซีนสามารถต้านทานเดลตาครอนได้ดีเพียงใด แต่นักวิจัยคาดหวังว่าจะป้องกันเดลตาครอนได้ดีพอ ๆ กับสายพันธุ์อื่น ๆ

โดยปกติแล้ว เมื่อไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ จะสามารถแพร่เชื้อได้ดีกว่าแม้กระทั่งในหมู่ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว แต่ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์จะมีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงน้อยกว่าและมีโอกาสน้อยที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากไวรัส เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับวัคซีน