ไบเดนนัดผู้นำอาเซียน ซัมมิต 12-13 พ.ค. ย้ำให้ความสำคัญสูงสุดกับการเป็นหุ้นส่วนภูมิภาคนี้

ไบเดนนัดผู้นำอาเซียน
AP PHOTO

หลังจากเลื่อนนัดเมื่อเดือนมีนาคม นายโจ ไบเดน ได้ฤกษ์ใหม่แล้วสำหรับการประชุมกับ ผู้นำชาติอาเซียน ในเดือนพฤษภาคมนี้ ต้องจัดให้ได้เพราะเป็น top priority

วันที่ 17 เมษายน 2565 สำนักข่าว เอพี รายงานว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดกับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน ที่กรุงวอชิงตัน วันที่ 12-13 พ.ค. นี้

ทำเนียบขาวแถลงหมายนัดดังกล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ 16 เม.ย. หลังจากนัดครั้งก่อนวันที่ 28-29 มี.ค. ทางฝ่ายอาเซียนขอเลื่อน เนื่องจากมีสมาชิกอาเซียนบางประเทศไม่สะดวกในวันเวลาดังกล่าว

ไบเดนนัดผู้นำอาเซียน
President Joe Biden participates virtually in the U.S.-ASEAN Summit  Oct. 26, 2021. (AP Photo/Susan Walsh)

ซัมมิตที่จะเกิดขึ้นเป็นวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์สหรัฐ-อาเซียน ต่อเนื่องจากการที่นายไบเดนเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและชาติพันธมิตร เมื่อเดือนตุลาคม 2564

ครั้งนั้นนายไบเดนประกาศมอบความช่วยเหลืออาเซียนมูลค่า 102 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3.366 ล้านบาท ในการต่อสู้กับโควิด-19 และความมั่นคงทางสุขภาพ รวมถึงใช้สำหรับการรับมือกับภาวะโลกร้อน สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ

“นี่เป็นความสำคัญสูงสุดสำหรับรัฐบาลไบเดน-แฮร์ริส ในการเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็ง และเชื่อถือได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” น.ส.เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว กล่าวและว่า

“ความปรารถนาที่แบ่งปันสำหรับภูมิภาคนี้จะปักหมุดต่อไปในคำมั่นของเราที่จะผลักดันอินโด-แปซิฟิกให้มีอิสระ เปิดกว้าง เชื่อมต่อ และยืดหยุ่น”

นายไบเดน ต้อนรับนายลี เซียนลุง ที่ทำเนียบขาว / AP PHOTO

นายไบเดนเพิ่งพบกับ นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เมื่อเดือนก่อน เพื่อตอกย้ำว่าสิงคโปร์ และะชาติในฝั่งแปซิฟิกเป็นพันธมิตรอันดับต้นๆ ที่จะทำงานร่วมกับยุโรป และพันธมิตรอื่น ในการต่อต้านรัสเซีย กรณียกทัพบุกยูเครน

ก่อนหน้านี้ สมาชิก 10 ประเทศของอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เห็นไม่ตรงกันในการแสดงท่าทีต่อสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา หลังเหตุการณ์รัฐประหารโค่นอำนาจนางออง ซาน ซู จี เมื่อปีก่อน

REUTERS/Stringer

แม้ว่าอาเซียนจะบรรลุฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อให้คณะรัฐประหารเมียนมาเปิดการเจรจาหาหนทางสันติกับฝ่ายต่อต้าน รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และยุติความรนุแรง แต่รัฐบาลทหารเมียนมากลับเลื่อนการทำตามฉันทามติ อ้างว่าต้องให้ประเทศสงบก่อน หลังปราบปรามผู้ประท้วง และเผชิญหน้ากับฝ่ายต่อต้าน ซึ่งผู้แทนสหประชาชาติระบุว่า ราวกับทำสงครามกลางเมือง

นอกจากนี้ รัฐบาลทหารเมียนมายังไม่ให้ความร่วมมือกับอาเซียน หลังอาเซียนไม่ส่งเทียบเชิญ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ในการประชุมอาเซียน ซัมมิต ซึ่งเป็นการแหวกประเพณีที่ปกติอาเซียนจะไม่แทรกแซงกิจการภายในต่อกัน