เศรษฐกิจแบบ War-cession อันเนื่องจากสงครามยูเครน

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

กล่าวได้ว่า ในขณะนี้โลกเราเผชิญความโชคร้ายหลายอย่างพร้อมกัน อย่างที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยนัก โรคระบาดระดับโลกอย่างโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสร้างความเครียดในชีวิตประจำวันมหาศาล ยังไม่ทันหมดไป และยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดแม้จะย่างเข้าปีที่ 3 ชาวโลกก็ต้องพบกับสงครามที่ยังไม่มีใครรับประกันว่าจะกลายเป็นสงครามวงกว้างหรือไม่ เมื่อรัสเซียรุกรานยูเครน

การรุกรานยูเครนทำให้สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรออกมาตรการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ซึ่งกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะด้านเกษตรและพลังงาน ผลักดันให้เงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซรายสำคัญ ขณะที่ยูเครนก็เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายต้น ๆ ของโลกเช่นกัน

แม้ตอนนี้ยุโรปจะยังไม่แบนน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซจากรัสเซีย แต่ก็มีแผนจะลดการซื้อจากรัสเซียลง 2 ใน 3 ภายในสิ้นปีนี้ และล่าสุดเตรียมเพิ่มการแซงก์ชั่นรัสเซียอีก หลังจากปรากฏข่าวทหารรัสเซียสังหารโหดและทรมานพลเรือนในเมืองบูชาของยูเครน ยิ่งผลักดันให้ราคาพลังงานและสินค้าอื่น ๆ ทะยานสูง กระทบต่อต้นทุนในทุกด้านทั่วโลก ซึ่งสุดท้ายผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น

“เดวิด โรช” ประธานอินดีเพนเดนต์ สแตรติจี ระบุว่า โลกกำลังเผชิญกับความอลหม่านหลายอย่างพร้อมกันที่สร้างอุปสรรคต่อเศรษฐกิจ ทั้งสงครามรุกรานยูเครน เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ดอกเบี้ยสูง และภาวะห่วงโซ่อุปทานชะงักงันจากการที่จีนใช้มาตรการคุมโควิด-19 แบบเข้มงวด

“เรากำลังเจอกับสถานการณ์แปลกประหลาด ที่ทำให้บรรดาธนาคารกลางทั่วโลกต้องเลือกระหว่างควบคุมให้เงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมายกับการสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโต”

เขาระบุว่า ปัจจัยหลายอย่างที่เกิดขึ้นพร้อมกันในขณะนี้ทำให้โลกมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) แต่ไม่ใช่ recession แบบปกติ แต่เป็นลักษณะที่ตนขอเรียกว่า war-cession กล่าวคือ ในภาวะ recession ปกติ เมื่อผลผลิตและความต้องการลดลง เงินเฟ้อจะลดลงตาม

แต่ war-cession นั้น ขณะที่ผลผลิตลดลง แต่ต้นทุนและเงินเฟ้อกลับสูงขึ้น และตามประวัติศาสตร์แล้วในภาวะแบบนี้แม้เศรษฐกิจจะเติบโตน้อยลง แต่เงินเฟ้อจะไม่ปรับลงตาม

โรช ชี้ว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารโหดที่เมืองบูชา เชื่อว่าจะทำให้การเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครนและรัสเซียทำได้ยากขึ้น และผู้นำรัสเซียก็จะไม่ยอมถอนทหารจากยูเครนจนกว่าจะได้รับชัยชนะ ดังนั้นการแซงก์ชั่นจากฝ่ายสหรัฐและยุโรปจะยังคงอยู่ต่อไป และสุดท้ายยุโรปคงหยุดนำเข้าพลังงานทั้งหมดจากรัสเซีย อันจะทำให้เศรษฐกิจยุโรป ซึ่งพึ่งพาพลังงานส่วนใหญ่จากรัสเซียถดถอย และยังหมายถึงการเกิดแรงสะเทือนต่อปริมาณอาหาร พลังงาน และอื่น ๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง

“คาร์สเตน บราเซสกี” หัวหน้าฝ่ายวิจัยของไอเอ็นจี บอกว่า สงครามยูเครนจะกลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมให้กับยุโรปมากกว่าโควิด-19 เสียอีก ไม่ใช่ในแง่ความมั่นคงและการป้องกันประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นพิเศษด้วย เพราะการแซงก์ชั่นรัสเซียจะบังคับให้ยุโรปต้องเร่งลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียที่มากเกินไป ต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสีเขียวและมีพลังงานใช้เอง ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มงบประมาณป้องกันประเทศ

“ยุโรปกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ” บราเซสกีระบุและว่า โมเดลเศรษฐกิจแบบเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกเป็นหลักพร้อมกับ มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นกระดูกสันหลัง แถมยังพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน เสี่ยงจะทำให้ยุโรปสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นเป็นเรื่องท้าทายที่ยุโรปจะต้องเปลี่ยนผ่านสิ่งนี้ให้สำเร็จ

สัปดาห์ที่แล้วกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ลงจาก 4.4% เหลือ 3.6% โดยสาเหตุหลักเกิดจากสงครามยูเครนและมาตรการควบคุมโควิด-19 ของจีน ขณะเดียวกันไอเอ็มเอฟยอมรับว่า เงินเฟ้อกำลังเป็นภัยร้ายแรงสำหรับหลายประเทศทั่วโลก โดยคาดว่าเงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้วจะอยู่ที่ 5.7% ประเทศกำลังพัฒนา 8.7%