ศรีลังกา: เมื่อจีนเหินห่าง อินเดียก็ย่างเข้ามาสานสัมพันธ์กับเพื่อนเก่าบนเกาะนี้

คำขวัญ เช่น “อย่าขายชาติเราให้อินเดียและสหรัฐฯ” หรือ “อินเดีย : ศรีลังกาไม่ใช้อีกรัฐของเธอนะ” และ “อินเดีย อย่าหาประโยชน์จากสถานการณ์ในศรีลังกา” ได้ยินอย่างกึกก้องไปทั่วท้องถนน

ทว่าแม้แนวคิดต่อต้านอินเดียคงอยู่เสมอมา มุมมองที่ชาวศรีลังกามีต่ออินเดียอาจเปลี่ยนไปในสถานการณ์ที่ประเทศต้องสู้กับความวุ่นวายทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ศรีลังกาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจหนักที่สุดอย่างที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน ประชาชนลงถนนมาประท้วง และประธานาธิบดีต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

ศรีลังกาสะสมหนี้มูลค่ามหาศาลตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนถึงจุดที่ประเทศแทบไม่มีเงินซื้อสินค้าจำเป็น อาหาร พลังงาน และยารักษาโรค

บ้านพักประธานาธิบดีศรีลังกา

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผู้ประท้วงโทษว่าเป็นความผิดของนายราชปักษาและครอบครัวของเขาซึ่งลี้ภัยไปอยู่ที่สิงคโปร์ ด้านรัฐสภาที่เริ่มกระบวนการลงคะแนนเพื่อหาผู้นำคนใหม่ ได้นายรานิล วิกรมสิงเห อดีตนายกรัฐมนตรีและรักษาการแทนประธานาธิบดีตอนที่นายราชปักษีลี้ภัย ขึ้นมาเป็นประมุขของรัฐในที่สุด

เมื่อพูดถึงประเทศเพื่อนบ้านทรงอำนาจอย่างอินเดีย แท้จริงแล้วกลุ่มการเมืองบางส่วนของศรีลังกาก็มีความเคลือบแคลงอยู่เสมอ ทว่าตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้ต่อต้านอินเดียส่วนมากจะเป็นกลุ่มชาตินิยมสิงหลและพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย

อย่างไรก็ดี เมื่อประเทศประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจอย่างฉับพลัน ศรีลังกาหันไปซบอินเดียและรัฐบาลที่นำโดยพรรค ภารติยะ ชนะตะ หรือ บีเจพี ก็ตอบกลับมาด้วยความช่วยเหลือทางการเงิน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อินเดียช่วยศรีลังกา อันที่จริง ไม่มีประเทศไหนหรือองค์กรใดช่วยศรีลังกามากเท่าอินเดียอีกแล้วในปีที่ผ่านมา

ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งชี้ว่าสถานการณ์ที่ศรีลังกาต้องการความช่วยเหลือทางการเงินอย่างมาก ช่วยให้รัฐบาลอินเดียเพิ่มอิทธิพลของตัวเองต่อประเทศที่มีประชากรราว 22 ล้านคนนี้ได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนพยายามเข้าไปสร้างอิทธิพลผ่านการให้กู้เงินหรือความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

“อินเดียมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อเช่นนี้ ประเทศเราต้องฝ่าฟันวิกฤตใหญ่หลวง และรัฐบาลอินเดียออกมาช่วยเหลือเรา” ซาจิต เปรมาดาซา ผู้นำฝ่ายค้านของศรีลังกากล่าวกับบีบีซี

India's High Commissioner to Sri Lanka, Gopal Baglay (2L) presents a consignment of humanitarian aid to Sri Lanka's Foreign Minister Gamini Peiris (R) over country's crippling economic crisis, at a port in Colombo on May 22, 2022

ที่มาของภาพ, Getty Images

อินเดียและศรีลังกามีความใกล้ชิดกันทั้งทางวัฒนธรรม ศาสนา และเศรษฐกิจ จุดเริ่มต้นสายสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศย้อนกลับไปเป็นศตวรรษ

รัฐบาลศรีลังกานำเข้าสินค้าจำนวนมากจากอินเดีย โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ขณะที่ชนกลุ่มน้อยของประเทศอย่างชาวทมิฬมีวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ใกล้ชิดกับประชาชนในรัฐทมิฬนาฑู ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย

รัฐบาลศรีลังกาเริ่มเอาตัวออกห่างจากอิทธิพลของอินเดียในปี 2005 หลังจากที่นายมหินทรา ราชปักษา ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี การขยับตัวออกห่างนี้มาชัดเจนขึ้นในวาระที่สองที่นายราชปักษานั่งเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ ตอนนั้นมีความตกลงระหว่างศรีลังกาและจีนเกิดขึ้นกับหลายโครงการโครงสร้างพื้นฐานของศรีลังกา อาทิ ท่าเรือทางตอนใต้ของเมืองฮัมบันโตตา

ข้อมูลสะท้อนว่าศรีลังกามีหนี้สูงถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 183,000 ล้านบาท) กับจีน หรือคิดเป็น 10% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมดของศรีลังกา

แต่แม้ศรีลังกาจะต้องการสินเชื่อครั้งใหม่เพื่อนำมาสะสางปัญหาในขณะนี้ ซึ่งคือภาวะขาดแคลนพลลังงานและราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น รัฐบาลจีนกลับไม่ได้ให้คำมั่นว่าปล่อยสินเชื่อก้อนใหม่

ในทางตรงกันข้าม อินเดียให้เงินกู้และความช่วยเหลือด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วยมูลค่ารวมถึง 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 128,000 ล้านบาท) กับศรีลังกา รวมทั้งส่งเชื้อเพลิง อาหาร รวมถึงปุ๋ยมาให้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

นอกจากสินเชื่อจากรัฐบาลกลางอินเดีบ รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐทมิฬนาฑู ซึ่งนำโดย มุขยมนตรี เอ็มเค สตาลิน จากพรรคดีเอ็มเค ยังส่งอาหารและยารักษาโรคไปให้ศรีลังกาเช่นเดียวกัน พรรคการเมืองในรัฐมิฬ นาฑู ยังออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลกลางจัดการประชุมเพื่อหารือถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งกล่าวว่าความช่วยเหลือทางการเงินมูลค่านับพัน ๆ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้มุมมองของสาธารณชนศรีลังกามีต่ออินเดียเปลี่ยนแปลงไป

Chinese Foreign Minister Wang Yi (L) speaks with Sri Lanka's Prime Minister Malinda Rajapakse during an official meeting in Colombo on January 9, 2022.

ที่มาของภาพ, Getty Images

“อินเดียช่วยเหลือเราด้วยการส่งพลังงานและอาหารให้เราได้ทันเวลา มันคงเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากมาสำหรับศรีลังกาหากปราศจากอินเดีย” ไทรอน เซบาสเตียน พนักงานภาคเอกชนคนหนึ่งกล่าว

เมลานี กูนาทิลาเก นักเคลื่อนไหวทางสังคมกล่าวว่าเธอรู้สึกซาบซึ้งต่อประชาชนอินเดียสำหรับ “การแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความช่วยเหลืออย่างไม่น่าเชื่อ”

ทว่าผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการตัดสินใจช่วยเหลือศรีลังกาครั้งนี้ของอินเดียมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อยู่ ประการหนึ่งคือการทำให้รัฐบาลอินเดียได้สิทธิประโยชน์พิเศษจากประเทศเพื่อนบ้าน

หลังอินเดียประกาศมอบเงินกู้ชุดแรกให้ศรีลังกา รัฐบาล 2 ประเทศ ก็บรรลุข้อตกลงดำเนินการใช้ถังน้ำมันขนาดยักษ์ จำนวน 61 ถังร่วมกัน โดยถังน้ำมันเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ณ อ่าวตรินโคมาลี บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ เป็นความสำเร็จของอินเดีย หลังพยายามมากว่า 30 ปี เพื่อ เข้าใช้สิ่งก่อสร้างจากสมัยอังกฤษปกครองนี้เพื่อนำมาใช้ในการเก็บเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ของตัวเอง

ก.ย. ที่ผ่านมา เรื่องราวคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นกับกลุุ่มบริษัทอดานีของอินเดีย ที่ได้รับส่วนแบ่งใหญ่ในสัญญาเพื่อสร้างและบริหารเวสเทิร์น คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล ซึ่งเป็นพื้นที่ให้บริการการขนส่งทางเรือครบวงจร ณ ท่าเรือโคลัมโบ

“ผมไม่คิดว่าจะมีประเทศไหนช่วยเหลือเราโดยไม่ต้องการอะไรตอบแทน แน่นอนว่าอินเดียจะต้องหาทางดูแลผลประโยชน์ของตัวเอง” ฮารินี อมาระสุริยา ส.ส.จากพันธมิตรอำนาจประชาชนแห่งชาติ ซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองแบบฝั่งซ้าย กล่าวกับบีบีซี

นายอมาระสุริยากล่าวว่าศรีลังกาเองก็ไม่ต่างจากอินเดีย ประเทศจำเป็นต้องตัดสินใจว่าสิ่งไหนจะเป็นประโยชน์กับชาติมากที่สุดและยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูว่านั่นต้องแลกมากับการสูญเสียอำนาจในการควบคุมเศรษฐกิจและพื้นที่ยุทธศาสตร์ของศรีลังกาหรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าคำถามจากชนกลุ่มน้อยชาวทมิฬและความต้องการทางการเมืองแบบฝ่ายขวาของพวกเขาจะยังส่งผลกระทบต่อการเจรจาทางการทูตกับอินเดีย

ความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศเริ่มมีรอยร้าวหลังจากที่กลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลชาวทมิฬลี้ภัยไปอินเดียในช่วงทศวรรษ 80 รัฐบาลศรีลังกล่าวหาว่าอินเดียให้ความช่วยเหลือทางการทหารและฝึกผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ที่ออกมาต่อสู้เพื่อต้องการแยกดินแดนของชาวทมิฬออกจากศรีลังกา

ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล

ที่มาของภาพ, Getty Images

สงครามกลางเมืองจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของกลุ่มกบฎในเดือน พ.ค. 2009 โดยรัฐบาลอินเดียยืนอยู่ข้างเดียวกับรัฐบาลศรีลังกาตลอดช่วงเวลาที่มีสงคราม

ทว่ารัฐบาลศรีลังกากลับยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาสินติภาพอินเดีย-ศรีลังกา ปี 1987 ที่สัญญาว่าจะมีกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อพัฒนาความสามารถของจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงพื้นที่ที่มีชาวทมิฬเป็นคนส่วนใหญ่ของท้องที่

“ในอดีตมักมีความกังวลว่าอินเดียจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองศรีลังกาโดยตรง” นายอมาระสุริยา กล่าว

แต่ดูเหมือนว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้จะมีน้ำหนักมากกว่าความกังวลทางการเมือง

ชาวศรีลังกาจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนืออันเป็นดินแดนที่ชาวทมิฬเป็นคนส่วนใหญ่ได้ขอลี้ภัยไปยังรัฐทมิฬ นาฑู ของอินเดียแล้ว และตัวเลขอาจเพิ่มสูงขึ้นหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเกาะนี้เลวร้ายลง

ชนกลุ่มน้อยของศรีลังกาอย่างชาวทมิฬและผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามหันไปพึ่งอินเดียเสมอเวลาพวกเขามีปัญหาหรือต้องการสิทธิอันเท่าเทียม

นอกจากนี้ ถึงแม้จะมีความขุ่นเคืองกันในอดีต แต่ชาวสิงหลเองก็ซาบซึ้งกับความช่วยเหลือของอินเดียในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน

“บริษัทลังกา-อินเดียน ออยล์ คอร์เปอเรชัน ยังคงมอบทรัพยากรที่ทำให้เราขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อยู่” โมฮัมเหม็ด ซัฟฟิยาน ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที กล่าว

“หากไม่ใช่เพราะอินเดีย ปั๊มน้ำมันทั่วประเทศของเราคงปิดตายไปแล้ว”

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว