ความตกลง “อิสตันบูล” ฝันสลายแก้ “วิกฤตอาหารโลก”

อิสตันบูล
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เมื่อ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตัวแทนของประเทศคู่สงครามอย่างยูเครนกับรัสเซีย นั่งลงบนโต๊ะเจรจาที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี โดยมีตัวกลางอย่าง “อันโตนิโอ กูแตร์เรส” เลขาธิการสหประชาชาติ และ “เรซิป แอร์ดวน” ประธานาธิบดีตุรกี คั่นกลาง

ทั้งสองประเทศลงนามในความตกลงสำคัญ คือการเปิดโอกาสให้ยูเครนส่งออกผลผลิตธัญพืชของตนผ่านท่าเรือใหญ่ที่สุดของประเทศอย่างท่าเรือเมืองโอเดสซาได้อีกครั้งหนึ่ง

สองประเทศคู่สงครามไม่ได้ลงนามในความตกลงฉบับเดียวกัน แต่ความตกลงดังกล่าวแยกออกจากกันเป็น 2 ฉบับ แต่ละฉบับเป็นความตกลงที่แต่ละประเทศทำกับสหประชาชาติเท่านั้นเอง

เลขาฯยูเอ็นกล่าวยกย่องความตกลงดังกล่าวว่าเป็น “ลำแสงเหนือทะเลดำ” โดยขยายความไว้ด้วยว่า ความตกลงที่ว่านี้ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นพิเศษ แต่เป็นการอำนวยประโยชน์ให้กับโลกทั้งโลก ที่กำลังเผชิญวิกฤตด้านอาหารอยู่ในเวลานี้

วันเดียวกันนั้น ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกร่วงลงรวดเดียวกว่า 6%

ตามข้อมูลของยูเอ็น ทุกคืนมีประชากรโลกตกอยู่ในสภาพหิวโหยอดอยากมากถึง 828 ล้านคน ในจำนวนนั้นมีราว 50 ล้านคนใน 45 ประเทศ กำลังจวนเจียนจะเข้าสู่ภาวะอดตาย ส่วนที่เหลือของโลกก็กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้ออย่างหนักอยู่ในเวลาเดียวกัน

การเปิดโอกาสให้ยูเครนส่งออกธัญพืชได้อีกครั้งหนึ่ง จึงถือเป็นข่าวดี ข่าวใหญ่ของทั้งโลกเลยก็ว่าได้

“ยูเครน” เป็นชาติผู้ส่งออกข้าวสาลี, ข้าวบาร์เลย์, ข้าวโพด และน้ำมันจากดอกทานตะวันที่สำคัญที่สุดชาติหนึ่งของโลก แต่การส่งออกสินค้าเหล่านี้ต้องยุติลงโดยปริยาย เมื่อรัสเซียกรีธาทัพรุกรานเข้ามาเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยึดท่าเรือริมทะเลอาซอฟ และปิดสกัดน่านน้ำทะเลดำทั้งหมด ส่วนยูเครนก็หว่านทุ่นระเบิดไว้ทั่วน่านน้ำของตนเอง เพื่อป้องกันการยกพลขึ้นบก

“ความตกลงอิสตันบูล” เปิดทางให้ยูเครนส่งธัญพืชออกสู่โลกภายนอกได้อีกครั้งผ่านท่าเรือโอเดสซา และอีก 2 ท่าเรือ โดยจะมีการจัดตั้ง “ศูนย์เพื่อความร่วมมือร่วม” (เจซีซี) ขึ้นในอิสตันบูล โดยคณะทำงานจะประกอบด้วยตัวแทนจาก 2 ชาติปฏิปักษ์แล้วก็ตุรกีกับเจ้าหน้าที่ยูเอ็น เพื่อทำหน้าที่ดูแลการผ่านเข้าออกท่าเรือยูเครนของเรือสินค้า และรับผิดชอบในการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นการขนส่งสินค้าที่อนุญาตไว้ ซึ่งจะทำกันที่ท่าเรือของตุรกี โดยเจ้าหน้าที่ของตุรกี ฯลฯ

ข้อตกลงดังกล่าว ยังไม่มีข้อกำหนดที่จำเป็นอีกหลายประการ ซึ่งทำให้ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่าเป็นความตกลงที่มีช่องโหว่อยู่มหาศาล อาทิ ไม่มีการกำหนดเส้นทางเดินเรือเพื่อ “มนุษยธรรม” นี้แต่อย่างใด เช่นเดียวกับที่ไม่ได้มีการกำหนดระยะห่างที่ใกล้ที่สุด สำหรับเรือรบ, เครื่องบินรบ หรือโดรน ต่อเรือสินค้าเหล่านี้ และยังไม่ชัดเจนว่าใครกันจะรับหน้าที่เคลียร์ทุ่นระเบิดอีกด้วย

สหประชาชาติเองก็ยอมรับว่า ไม่มีอำนาจบังคับเหนือประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ รวมทั้งเหนือข้อตกลงโดยรวมอีกด้วย

ดังนั้นจึงได้แต่ทำตาปริบ ๆ เมื่อในวันที่ 23 กรกฎาคมต่อมา ขณะที่หมึกที่ลงนามกันยังไม่ทันแห้งสนิทดี รัสเซียก็ถล่มท่าเรือโอเดสซา ด้วยจรวดแบบครูส ถึง 4 ลูก 2 ลูกในจำนวนนี้สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นไม่น้อย แม้ว่าอีก 2 ลูกจะถูกยิงตกก่อนถึงเป้าหมายก็ตาม

ยูเครนเคยพยายามร่วมกับพันธมิตรตะวันตกหาเส้นทางส่งออกทดแทน ตั้งแต่การใช้ลำน้ำดานูบ และการลำเลียงด้วยรถไฟเข้าสู่ยุโรปตะวันตก แต่ก็จำกัดได้เพียงแค่ 2 ล้านตันต่อเดือน เทียบแล้วไม่ถึงครึ่งของปริมาณส่งออก 5 ล้านถึง 6 ล้านตันก่อนหน้าสงคราม

ที่แย่มากขึ้นไปอีกก็คือ ไซโลเก็บธัญพืชที่รอดพ้นจากการทำลายของสงครามในยูเครนยังคงกักเก็บผลผลิตจากฤดูกาลเก่าอยู่อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ขณะที่ผลผลิตของฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะมาถึง คาดกันว่าจะมีปริมาณสูงถึง 60 ล้านตัน ซึ่งทำให้ยูเครนขาดไซโลกักเก็บอยู่ราว 15-18 ล้านตัน

ถ้าหากยังไม่สามารถส่งออกได้ ธัญพืชส่วนเกินดังกล่าวก็คงต้องปล่อยให้เน่าเสียไปเปล่า ๆ เท่านั้นเอง

การส่งออกตามความตกลงอิสตันบูล จึงมีความหมายสูงมากสำหรับเกษตรกรในยูเครน การส่งออกจะช่วยให้พวกเขามีเงินสำหรับเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยที่จำเป็นต้องใช้ฤดูกาลถัดไป

ในเวลาเดียวกันการส่งออกนี้ก็ช่วยทำให้ราคาธัญพืชในตลาดโลกลดลง บรรเทาความยุ่งยากลงได้ไม่มากก็น้อย

กระนั้น วิกฤตอาหารโลกก็ยังไม่สิ้นสุด ราคาธัญพืชในตลาดโลกลดลงเพียงแค่ 1 ใน 3 จากระดับก่อนหน้าสงคราม และยังคงสูงกว่าระดับราคาเมื่อเดือนมกราคม 2020 อยู่ถึง 40% ในขณะที่การส่งออกจริง ๆ จากยูเครน ระลอกแรกอาจต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 1-2 เดือน

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ถ้าถึงเดือนตุลาคมแล้ว การส่งออกของยูเครนยังเป็นไปไม่ได้จริงอย่างที่คาดหวัง ธัญพืชบางส่วนก็จะเน่าเสียไปตามกาลเวลา

เช่นเดียวกัน หากสงครามยังคงยืดเยื้อต่อไป โอกาสที่ความตกลงนี้จะล่มสลายลงอย่างเฉียบพลันก็ยิ่งมีสูงมากยิ่งขึ้น

และหากเป็นเช่นนั้น ราคาธัญพืชในตลาดโลกจะกลับมาพุ่งสูงขึ้นเป็นติดจรวดอีกครั้ง