ถอดความสำเร็จ AIS The StartUp องค์กรเอกชนหนึ่งเดียว คว้ารางวัลหมวด The Corporate Connector จากสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคดิจิทัลแบบนี้ ธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) เป็นเทรนด์มาแรงอย่างมากในประเทศไทย ที่ผ่านมา ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนล้วนออกมาสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการดิจิทัลรายย่อยหน้าใหม่ เพื่อจุดประกายแรงบันดาลใจ และมอบโอกาสในการต่อยอดธุรกิจของเหล่าสตาร์ทอัพไปให้ไกลกว่าเดิม

เช่นเดียวกับ “เอไอเอส” ที่ตอกย้ำความเป็นผู้นำธุรกิจทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สนับสนุนให้เกิด Ecosystem ด้านการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง ผ่าน AIS The StartUp หน่วยงานที่เข้ามาเติมเต็มศักยภาพ ต่อยอด และให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพในเมืองไทยให้มีความแข็งแกร่งเติบโต และพัฒนาไปสู่ระดับโลก

ดร.ศรีหทัย พราหมณี ผู้จัดการด้าน AIS The StartUp เล่าว่า พันธกิจหลักของ AIS The StartUp คือการเชื่อมต่อระหว่าง 2 โลกธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศไทยไปด้วยกัน โลกธุรกิจแรก คือ ผู้ประกอบการรายย่อยโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็น Digital Startup หรือ Tech SMEs โลกธุรกิจที่สอง คือ องค์กรใหญ่ เช่น เอไอเอส และองค์กรพันธมิตรอื่น ๆ เชื่อมต่อกันเพื่อสร้างสิ่ง ๆ หนึ่งขึ้นมาและนำสิ่งนั้นออกสู่ตลาดให้ผู้คนได้ใช้งาน

จากผลการดำเนินอย่างต่อเนื่อง ทำให้ล่าสุด AIS The StartUp คว้ารางวัลสาขา The Corporate Connector จากเวที Makers United 2023 วันนี้เราจะมาถอดบทเรียนว่าเพราะเหตุใด “เอไอเอส” จึงเป็นเอกชนองค์กรเดียวในประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลในสาขาดังกล่าว

Makers United 2023 งานรวมพลกลุ่มสตาร์ทอัพใหญ่ที่สุดแห่งปี

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย หรือ Thai Startup จัดงาน Makers United 2023 รวมพลกลุ่มสตาร์ทอัพใหญ่ที่สุดแห่งปี เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 9 ปีของสมาคม

ดร.ศรีหทัยอธิบายว่า สมาคม Thai Startup คือ การรวมตัวของกลุ่มผู้ประกอบการที่สร้างนวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งต่อบริการต่าง ๆ

“สมาคมพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้กับประเทศไทยมากว่า 9 ปี ที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำเทคโนโลยีต่าง ๆ ในประเทศไทยเกิดขึ้นหลายตัว มีคนใช้จริง ๆ แต่ละบริษัทมีฐานลูกค้าเกินกว่า 1 ล้านราย เช่น iTax และ ZipEvent เป็นต้น ประเทศไทยจึงไม่ได้เป็นแค่ User หรือผู้ใช้ แต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็น Maker หรือผู้สร้างด้วย”

นอกจากนี้ ภายในงาน Makers United 2023 ทางสมาคม ได้จัดพิธีมอบรางวัลขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเชิดชูองค์กรต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิด Maker ในประเทศไทย ได้แก่ รางวัล One Million Club ให้กับสตาร์ทอัพไทยที่มีผู้ใช้มากกว่า 1 ล้านคน และรางวัล Friends of Makers Awards ใน 10 สาขา ให้แก่พันธมิตรที่ร่วมขับเคลื่อนระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทย

AIS The StartUp กับรางวัลสาขา The Corporate Connector

สำหรับ AIS The StartUp เป็นองค์กรเอกชนเดียวในประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลในสาขา The Corporate Connector ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการทั้งในสมาคมร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านนอกจะเป็นคนเสนอชื่อ และตัดสินจากผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ ไม่ได้ตัดสินจากงานเอกสาร เพราะฉะนั้น องค์กรที่จะได้รับรางวัลนี้ ต้องเป็นหน่วยงานที่สามารถเชื่อมต่อผู้ประกอบการเข้ากับองค์กรใหญ่ และสร้างผลงานออกมาได้อย่างชัดเจน รวมถึงต้องสร้างคุณค่า และมูลค่าให้กับผู้ประกอบการอย่างแท้จริง 

เปิด 6 จุดแข็ง AIS The StartUp คว้ารางวัล

เมื่อถามถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้ AIS The StartUp เป็นองค์กรเอกชนหนึ่งเดียวที่สามารถคว้ารางวัลในครั้งนี้ “ผู้จัดการด้าน AIS The StartUp” ยก 6 เหตุผลตอกย้ำความเป็นผู้นำ ดังนี้

  1. การสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างยาวนานและต่อเนื่อง 

เอไอเอส เป็นองค์กรแรกของประเทศไทย ที่จัดตั้งโครงการเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ มาตั้งแต่ปี 2011 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และด้วยแผนการดำเนินงานที่ถูกวางไว้อย่างชัดเจน ทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว ทำให้เอไอเอสสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานตามการเติบโตของ Maker ได้อย่างมีระบบ

  1. แผนกลยุทธ์การขยาย Partnership และ Business Model ที่ชัดเจน

การที่จะให้กลุ่มผู้ประกอบการทำงานร่วมกับองค์กรใหญ่ได้ สิ่งสำคัญที่ต้องมี คือ แผนกลยุทธ์การขยาย Partnership และ Business Model ระหว่างผู้ประกอบการและองค์กรใหญ่ ซึ่ง AIS The Startup มีแผนกลยุทธ์ที่ทำร่วมกับสตาร์ทอัพอย่างชัดเจน

แนวทางการดำเนินงานของ เอไอเอส ร่วมกับ สตาร์ทอัพ เพื่อสร้างส่วนร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ จะสอดคล้องกับการประเมิน Business Impact จากความร่วมมือแต่ละครั้ง แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ Revenue Impact, Productivity Impact และ Customer Experience Impact

  1. ผลการดำเนินงาน และผลงานความร่วมมือ Partnership กับกลุ่มผู้ประกอบการ Digital Startup และ SMEs เชิงประจักษ์สู่สาธารณะที่โดดเด่น 

สิ่งที่มีความสำคัญมากกว่าการวางแผน คือ แผนนั้นถูกนำมาใช้งานและเกิดผลงานขึ้นจริง เป็นที่ประจักษ์สู่สังคม เช่นเดียวกับผู้ประกอบการที่ได้เข้ามาร่วมงานกับเอไอเอส และได้รับประโยชน์ในการร่วมงานจริง มีลูกค้าจริงๆ มีการทำการตลาดร่วมกันจริงๆ ยกตัวอย่าง FlowAccount โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ที่ร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับเอไอเอส เป็นระยะเวลากว่า 6-7 ปี จากการร่วมทำงานกับเอไอเอส ทำให้ได้ศึกษาตลาด เรียนรู้วิธีการทำงานที่มีระบบมากขึ้น

“ความเก่งของสตาร์ทอัพคือการสร้างเซอร์วิสที่โดนใจลูกค้า ความชำนาญของเอไอเอสคือการทำงานอย่างมีระบบ เอามาบวกกันอย่างไรให้เราสามารถที่จะสร้าง Digital Service สู่ลูกค้าได้ ในเวลาที่รวดเร็วและมีระบบมากขึ้น ปัจจุบัน เอไอเอสมีสตาร์ทอัพร่วม 200 ราย ที่ทำงานร่วมกัน ดังนั้นผลงานจึงเป็นที่ประจักษ์ว่าเราไม่ได้มีแค่แผน แต่มีผลงานออกมาจริง”

  1. ทีมงานได้รับ Assignment จริง และมี KPI ในเรื่องนี้จริง

สำหรับเอไอเอส การนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ (Execution) ไม่ได้เกิดจากคนคนเดียว หรือหน่วยงานเดียว แต่เกิดจากโครงสร้างภายในที่แข็งแรง ที่เอื้อให้เกิดการทำงานภายใน ซึ่งปัญหาของกลุ่มผู้ประกอบการเวลาเข้ามาทำงานกับองค์กรใหญ่ คือ ไม่สามารถผ่านหน่วยงานอื่นๆ เพื่อไปถึงทรัพยากรได้

ขณะที่เอไอเอสมีการวางโครงสร้างภายในให้เชื่อมโยงกัน รู้ว่าจะต้องเข้าไปเชื่อมต่อกับแต่ละหน่วยงานอย่างไร ทั้งยังมีกระบวนการในการติดตามผล กระบวนการที่มาซิงค์กันภายใน รวมถึงเซต Common Objective ภายในร่วมกันอย่างชัดเจน ดังนั้น งานหนึ่งชิ้นเมื่อทำงานต่างแผนกกัน Objective ปลายทางของทุกคนจะเป็นสิ่งเดียวกัน และมีการเซต KPI แต่ละช่วงของการดำเนินงานที่ชัดเจนทำให้สามารถส่งผลงานออกมาได้

  1. พัฒนาความสามารถของ Startup Founders อย่างต่อเนื่อง ตามการเติบโตของเขา

สิ่งที่ AIS The StartUp ทำมาตลอดทุกปี คือการพัฒนาศักยภาพของพาร์ตเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพด้านไอที ไมนด์เซตการบริหาร การทำธุรกิจ มาร์เก็ตติ้ง และอื่น ๆ เมื่อผู้ประกอบการได้พัฒนาตัวเอง ก็จะนำไปสู่ศักยภาพในการพัฒนาโปรดักต์ ทำให้ศักยภาพองค์รวมเพิ่มสูงขึ้น สามารถถ่ายทอดและส่งมอบบริการดี ๆ ให้กับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

  1. Start Locally, Grow Globally = การยกระดับสู่เวทีสากล

ภารกิจสำคัญอีกอย่างคือการที่ AIS The StartUp สนับสนุนสตาร์ทอัพสู่เวทีระดับสากล โดยร่วมกับ Singtel Group ผ่าน 2 โครงการ

– โครงการ Singtel Group Future Maker สำหรับสตาร์ทอัพที่ทำโครงการเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDG Goal 17)

– โครงการ Singtel Innov8 สำหรับกลุ่มนักลงทุนของ Singtel Group เพื่อใช้ในการลงทุน Tech-Company และกลุ่มสตาร์ทอัพทั่วโลก 

ทั้งหมดนี้คือ 6 เหตุผลหลักที่ทำให้ AIS The StartUp แตกต่างจากองค์กรอื่นที่ทำโครงการด้านสตาร์ทอัพ นำมาสู่การได้รับเลือกให้รับรางวัลในสาขา The Corporate Connector บนเวที Makers United 2023

รางวัลการันตีระดับ Global

อย่างไรก็ตาม รางวัลดังกล่าวไม่ใช่รางวัลแรกที่ตอกย้ำความเป็นผู้นำของ AIS The StartUp ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 AIS The StartUp เคยได้รับรางวัลรายการ “ASEAN Rice Bowl StartUp Awards 2018” ได้แก่ รางวัล The Best Accelerator and Incubator Program in ASEAN และ รางวัล People Choice Award เป็นรางวัลขวัญใจมหาชน ซึ่งได้จากการร่วมโหวตจากทั้ง ASEAN

ทำให้ในปี 2019  AIS The StartUp เป็นตัวแทนของทั้ง 10 ประเทศจากภูมิภาคอาเซียน เข้าแข่งขันกับตัวแทนจากภูมิภาคหรือทวีปอื่น ๆ จนได้รับรางวัล Global Startup Award (GSA) ในสาขา The Best Accelerator and Incubator Program มาครองอย่างภาคภูมิใจ

“สิ่งที่เราเชื่อมั่นคือเรื่องของ Partnership for Inclusive Growth การที่เราไม่ได้โตคนเดียว แต่ทำให้ผู้ประกอบการที่ทำงานร่วมกับเอไอเอส และผู้ใช้ Digital Service เติบโตไปด้วยกัน มากกว่านั้นการใช้งานต่าง ๆ จะต้องช่วยในการขับเคลื่อนให้ประเทศชาติเติบโตด้วย ไม่ใช่การเติบโตเพียงแค่เอไอเอสหรือผู้ประกอบการ” ผู้จัดการด้าน AIS The StartUp กล่าวทิ้งท้าย


ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.ais.th/thestartup/