สิ้นปี 66 นี้ วางแผนลดหย่อนภาษียังไงดี!?

ใกล้จะสิ้นปี 2566 แล้ว ถึงเวลาที่เราทุกคนที่มีรายได้จะต้องคำนวณเงินได้พึงประเมินเพื่อนำไปยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2567 นี้ เราจะมาดูกันว่ามีรายการลดหย่อนภาษีอะไรบ้างที่จะมาช่วยเราบริหารภาษีเงินได้ ให้เราเสียภาษีน้อยที่สุด โดยเราสามารถแบ่งค่าลดหย่อนเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้ :

ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว :

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ไม่เกิน 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนภาษีบุตร 30,000 บาท (เพิ่มอีก 30,000 บาท สำหรับบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป)

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน และการลงทุน :

  • ลดหย่อนเงินประกันสังคมไม่เกิน 9,000 บาท
  • ลดหย่อนประกันสุขภาพบิดามารดา ไม่เกิน 15,000 บาท
  • ลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตและประกันสุขภาพ รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
  • ลดหย่อนกองทุน RMF ไม่เกิน 500,000 บาท
  • ลดหย่อนกองทุน SSF ไม่เกิน 200,000 บาท
    *ค่าลดหย่อนกองทุน RMF และ SSF รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค :

  • ลดหย่อนเงินบริจาคทั่วไป ไม่เกิน 10% ของเงินได้
  • ลดหย่อนเงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา และการบริจาคสาธารณะ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้
  • ลดหย่อนเงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง ไม่เกิน 10,000 บาท

ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ :

  • ลดหย่อนโครงการช้อปดีมีคืน ไม่เกิน 40,000 บาท
  • ลดหย่อนดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 100,000 บาท

วิธีการคำนวณภาษีฉบับมนุษย์เงินเดือน : ก่อนการคิดลดหย่อนภาษี จะต้องหักค่าใช้จ่ายออกก่อน โดยจะหักได้ 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ตัวอย่างเช่น นายลิบ มีเงินเดือน 20,000 บาท ไม่มีโบนัส และไม่มีค่าลดหย่อนอื่น ๆ จะมีรายได้ทั้งปี 240,000 บาท ค่าใช้จ่าย 50% คิดเป็น 120,000 บาท แต่เกิน 100,000 บาทจึงสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เพียง 100,000 บาทเท่านั้น จากนั้นลดหย่อนด้วยค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท นายลิบจะมีเงินได้สุทธิอยู่ที่ 240,000-100,000-60,000=80,000 บาท ซึ่งไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากมีรายได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้นั่นเอง (รายได้สุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้เริ่มต้นที่ 150,000 บาท)

จะเห็นว่าการคำนวณภาษีนั้นง่ายนิดเดียว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเราคำนวณภาษีออกมาแล้ว รายได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี เราก็จำเป็นที่จะต้องยื่นภาษีตามขั้นตอนกับกรมสรรพากรอยู่ดี เนื่องจากการยื่นภาษีเป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ทุกคนในประเทศไทย อีกทั้งภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไประหว่างที่รับรายได้ก็มีโอกาสที่จะได้คืนอีกด้วย หากถูกหักออกไปมากเกินกว่าจำนวนภาษีที่เราต้องจ่ายจริงเมื่อจบปี

ภาษีและเงินปันผลจากหุ้น-กองทุน : รู้หรือไม่ว่าเงินปันผลที่เราได้จากการลงทุนหุ้น และกองทุนนั้น เราถูกหักภาษีไม่เพียงแค่ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% เท่านั้น แต่เราถูกหักไปแล้วก่อนหน้าด้วยภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% ที่บริษัทถูกหักจากกำไร  

โดยสำหรับเงินปันผลจากบริษัทที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (BOI) เมื่อรวมกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ก็เสมือนว่า เราถูกหักภาษีไปได้สูงสุดถึง 28% เลยทีเดียว

ด้วยเหตุของความซ้ำซ้อนนี้ หากใครที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (20%) ของหุ้นที่เราได้รับปันผล เราก็จะสามารถ “เครดิตภาษี” เพื่อขอคืนภาษีที่ถูกหักซ้ำซ้อนกลับคืนมาได้ 

แต่ถ้าหากใครที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราที่สูงกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่แล้ว แนะว่าไม่ควรนำรายได้จากเงินปันผลมายื่นคำนวณภาษีอีก เพราะจะทำให้ต้องจ่ายภาษีมากกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิ Final tax (จบที่การหัก ณ ที่จ่าย ไม่ต้องนำมาคำนวณตอนจบปีภาษี โดยไม่ผิดกฎหมาย) เป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากใครที่ได้รับเงินปันผลจากกองทุนที่เราเลือกที่จะไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย สุดท้ายเราก็ต้องนำรายได้นี้ไปคำนวณภาษีให้ถูกต้องด้วยนะ