ชุบชีวิตมโหธรเทวี รัวเพลงสงกรานต์ 4 เวอร์ชัน

นับเป็นฤกษ์งามยามดีกว่าสงกรานต์ปีใดๆ

เมื่อมหาสงกรานต์แห่งพุทธศักราชสองพันห้าร้อยหกสิบเจ็ด กอปรขึ้นด้วยเรื่องราวดีๆ ที่ประจวบเหมาะต่อการเฉลิมฉลองปีใหม่แบบ ‘ไทยๆ’ 

โดยเมื่อปลายปี 2566 องค์การยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน ‘สงกรานต์ในประเทศไทย’ ให้เป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage) จัดเป็นลำดับที่ 4 ตามมาติดๆ จาก โขน, นวดไทย และโนรา ซึ่งล้วนส่งผลในเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมความเป็นไทยที่โลกต้องหันมอง 

ไหนจะนโยบายดัน ‘ซอฟต์ พาวเวอร์’ สุดแรงของรัฐบาล สรรค์สร้างมูลค่า นำพารายได้เข้าประเทศ

สงกรานต์ปีนี้จึงยิ่งใหญ่อลังการด้วยความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่ผนึกกำลังจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ตลอดเดือนเมษายนทั้งกรุงเทพเมืองฟ้าอมร และภูมิภาคต่างๆ

แน่นอนว่า หนึ่งในหัวเรือใหญ่ในสายงานคัลเจอร์ คือ กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ซึ่งมี โกวิท ผกามาศ นั่งเก้าอี้อธิบดี บัญชาการจัดเต็ม เดินหน้าเผยแพร่ความรู้คู่ความสุขสวัสดีผ่านโปรเจกต์และกิจกรรมมากมาย โดยมีไฮไลต์ที่ต้องขีดเส้นใต้หลายๆ เส้น คือ ‘เพลงสงกรานต์’ เวอร์ชั่นอินเตอร์ถึง 4 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และเยอรมัน

นำสุ้มเสียงสำเนียง (เพลง) ไทย สู่ท่วงทำนองแห่งความเป็นสากล

แต่งตั้ง แอนโทเนีย โพซิ้ว ทรงเครื่อง นางสงกรานต์ มโหธรเทวี ดีกรีรองอันดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จนอนลืมตามาเหนือหลังนกยูงรำแพนหาง สุดงดงามตามตำนาน ทั้งยังนำทีมสร้างตำนานรำวงกลางที่ประชุมนานาชาติ สาธารณรัฐบอตสวานาเมื่อครั้งนำเสนอประเพณีสงกรานต์ให้ขึ้นชั้นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติใน 6 นาที 

“เราไปกัน 7 คน คิดว่าจะทำตัวอย่างไรให้มีประโยชน์มากที่สุด ให้คุ้มค่ากับงบประมาณ ทุกคนจึงแปลงตัวจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นนักแสดงทั้งหมดเลย เตรียมชุดไปเรียบร้อย ใส่ผ้าไทย ผู้หญิงสวมเสื้อลูกไม้ และโจงกระเบนผมเองก็ออกไปรำวง” 

อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เล่าเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างอารมณ์ดี ก่อนตอบคำถามในประเด็นหลากหลายฉายภาพกว้างของสรรพสิ่งที่จะบังเกิดขึ้นในเทศกาลรื่นเริงเถลิงศกใหม่อันสุดแสนไฉไลในอีกไม่กี่วันข้างหน้า 

ชีวิตส่วนตัวเป็น ‘เขยล้านนา’ คุ้นเคยเป็นอย่างดีกับ ‘ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง’ อันมีเอกลักษณ์ สุขใจกับความทรงจำในห้วงยามที่ยังสาดน้ำจากคูเมืองย้ำวิสัยทัศน์อนุรักษ์สิ่งเก่าทรงคุณค่า พร้อมปรับรูปแบบการนำเสนออย่างทันสมัย ไม่ตกยุค เชื่อมโลกเก่า ผสานโลกใหม่ จากยุคก่อพระเจดีย์ทราย ถึงเวอร์ชั่นขอพรผู้ใหญ่ผ่านโลกโซเชียล 

  • กว่าจะถึงวันนี้ อยากให้ย้อนเล่าที่มาการผลักดันสงกรานต์ไทยสู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติจนคนไทยได้เฮทั้งประเทศ? 

เราเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์มาตั้งแต่ 4 – 5 ปีที่แล้ว เนื่องจากตามข้อกำหนดของยูเนสโกต้องมีการส่งให้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณา โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน นำเสนอข้อมูลจากเชียงใหม่ ขอนแก่น พัทยา สมุทรปราการ และนครศรีธรรมราช ทั้งในเรื่องของเนื้อหาสาระ คุณค่า อัตลักษณ์ ซึ่งมีแต่เรื่องดีงาม ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า สถาบันครอบครัว การรวมตัวของญาติพี่น้อง วันผู้สูงอายุ คณะกรรมการ 12 ประเทศ ท่านก็ให้ความเห็นชอบรับรองประเพณีสงกรานต์ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ที่สาธารณรัฐบอตสวานา

  • แนวคิดทำเพลงสงกรานต์หลากภาษาปิ๊งไอเดียมาจากไหน?

ในการประชุมที่สาธารณรัฐบอตสวานา มีการบันทึกเทปนายกรัฐมนตรีประมาณนาทีครึ่ง แสดงความชื่นชมยินดี ขอบคุณยูเนสโก และสาธารณรัฐบอตสวานา เหลืออีก 4 นาทีกว่าๆ จาก 6 นาทีคณะทำงานจึงคิดว่าควรทำคลิปแนะนำประเพณีสงกรานต์ แต่ปรากฏว่าสิ่งที่เจอคือไม่สามารถหาคลิปเพลงสงกรานต์ภาษาอังกฤษได้ เลยจำเป็นต้องใช้เพลงภาษาไทยไปก่อน แต่เนื่องจากจังหวะที่สนุกสนานก็ทำให้ผู้ร่วมประชุมเข้าใจและสนุกสนานไปด้วย

จากวันนั้น ก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เรามีเพลงภาคภาษาต่างประเทศ เลยโทรคุยกับคุณอติพร สุนทรสนาน (บุตรสาวครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งวงสุนทราภรณ์) ว่าจะขัดข้องไหม ถ้าจะขอเพลงมาทำเป็นภาษาอังกฤษ ท่านบอกไม่ขัดข้อง โดยให้มา 4 เพลง ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเลือก 1 เพลง คือ เริงสงกรานต์ แล้วท่านก็แปลเป็นภาษาอังกฤษและเรคคอร์ดให้หมด นี่คือเพลงแรก 

เพลงต่อมา เราปรึกษารองศาสตราจารย์ ดร.จารุณี หงส์จารุ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าจะทำเพลงขึ้นมา ท่านก็ยินดีแต่งให้โดยใช้ทีมเครือข่าย คอนเซ็ปต์คือต้องรวมไว้ ทั้งความสนุกสนานและเนื้อหาสาระ ร้องง่าย ไม่ยาว แค่ 1 นาที แปลเป็นภาษาต่างๆ ดังนั้น ถ้ารวมภาษาไทย ก็มี 5 ภาษา คือ ไทย จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน

  • ทำไมเลือก 4 ภาษานี้ มีเกณฑ์อย่างไร มีแผนจะทำภาษาอื่นๆ เพิ่มอีกหรือไม่?

ภาษาสากลของยูเนสโกมี 2 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ กับฝรั่งเศส ส่วนจีนและเยอรมันตามมา ซึ่งทีมของอาจารย์ มีผู้แปลได้หลากหลายภาษา วันก่อนคุยถึงภาษาสเปนกันด้วย เพิ่งนั่งหารือกันว่าจะทำ 12 ภาษา ตอนนี้นึกถึงภาษาในภูมิภาคเอเชียของเราที่มีนักท่องเที่ยวมาเยอะ อย่าง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น ตอนนี้ภาษาฮินดีของอินเดียเสร็จแล้ว ได้นักร้องจากบอลลีวูดมาร้องด้วย นอกจากนี้ ก็กำลังทำเพลงภาษาพม่าซึ่งเป็นเพื่อนบ้านเราพยายามทำให้คนทั่วโลกเข้าใจถึงสาระและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของสงกรานต์ที่ไม่ใช่แค่การสาดน้ำใน Water Festival แต่มีแก่นที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง 

  • อะไรคือแรงบันดาลใจในการฟื้นตำนานนางสงกรานต์ให้กลับมามีชีวิต?

เราคิดว่าเรื่องตำนานนางสงกรานต์หายไปจากประเทศไทยเรานานมากแล้ว จึงอยากบอกเล่ากับคนรุ่นใหม่ด้วยวิธีการใหม่ๆ จะเป็นละคร เป็นอะไรก็ได้ เลยยกหูคุยกับพี่ปุ้ย (ปิยาภรณ์ แสนโกศิก) MUT Miss Universe Thailand ว่าถ้าเชิญแอนโทเนียมาเป็นนางสงกรานต์จะติดปัญหาอะไรไหม คำตอบที่ได้คือ 

ไม่ติดเลย ยินดีทำเพื่อประเทศ นี่คืออีกหนึ่งความพิเศษของสงกรานต์ปีนี้ที่สมน้ำสมเนื้อกับสงกรานต์ของเรา

  • ยุทธศาสตร์การเผยแพร่ความรู้เรื่อง สงกรานต์ และสืบสานต่อยอดประเพณีให้อยู่กับความร่วมสมัย?

นอกจากสื่อออนไลน์ คลิป และข้อมูลต่างๆ ที่มีคิวอาร์โค้ดให้สแกนเข้าชมได้แล้ว กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยังเผยแพร่ความรู้ในภูมิภาคต่างๆ ด้วย โดยมีความร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่งวิทยาลัยนาฏศิลป 5 แห่ง คือ เชียงใหม่ จันทบุรี กาฬสินธุ์ พัทลุง กรุงเทพฯ จะแสดงเรื่องตำนานนางสงกรานต์ให้พี่น้องประชาชนในจังหวัดต่างๆ ได้รับชม 

ตำนานนางสงกรานต์หายไป
จากประเทศไทยเรานานมากแล้ว
จึงอยากบอกเล่ากับคนรุ่นใหม่
ด้วยวิธีการใหม่ๆ”

ส่วนการสาดน้ำตามประเพณี เราก็ส่งเสริมดำเนินการต่อไป สำหรับเรื่องอื่นๆ ได้คุยกับท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่องการรณรงค์สวมเสื้อลายดอกสีสันสดใส นอกจากนี้ จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อรักษาคุณค่าของประเพณีสงกรานต์ด้วย  

  • จะคุยกับคนรุ่นใหม่ในหลากเจเนอเรชั่นอย่างไร ให้ร่วมกันสืบสานประเพณีสงกรานต์ที่มีรากเหง้าลึกซึ้งกว่าเทศกาลสาดน้ำ?

แต่ละเจนมีความคิดเป็นของตัวเอง เราก็ต้องเคารพมุมมองของเขาซึ่งอาจแตกต่างจากรุ่นก่อน แม้แต่สื่อโซเชียลก็ใช้คนละแพลตฟอร์ม มีการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งแม้รูปแบบจะต่างออกไปจากยุคอดีต แต่สาระที่มีร่วมกันคือภาพความทรงจำดีๆ ในครอบครัว 

ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเน้นการให้ข้อมูลความรู้ เชิญชวนไม่ยัดเยียด นำเสนอเรื่องราวของวัฒนธรรมประเพณีให้เข้าใจง่าย และมีส่วนร่วมได้ อย่างสตอรี่ตำนานนางสงกรานต์ เราก็พยายามประสมประสานให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ แล้วมาลองดูว่าการนำเรื่องราวเหล่านี้กลับมาในรูปแบบใหม่จะมีพลังขับเคลื่อนได้มากน้อยแค่ไหน

เราจะพัฒนาในสิ่งที่มันเป็นทิศทางที่ไม่ไปทำลายของเดิม ไม่ก้าวล่วงไปจนกระทั่งสุดโต่งแบบไม่ทิ้งร่องรอยไว้เลย 

จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยทุกท่าน ทั้งที่อยู่ในเมืองไทยและต่างประเทศมาช่วยกันอนุรักษ์ พัฒนา และต่อยอดประเพณีสงกรานต์ในทิศทางที่ควรจะเป็น