“เมียนมา” สู่ความก้าวหน้า ? “วิน มินต์” ร่างทรงใหม่ ซูจี

AFP PHOTO / Ye Aung THU

เป็นไปตามคาด เมื่อ “วิน มินต์” ผู้ที่จงรักภักดีต่อ “ออง ซาน ซู จี”ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่แห่งเมียนมา ความคาดหวังที่จะเห็นเส้นทางการบริหารที่มุ่งสู่ประชาธิปไตยอย่างจริงจังวนกลับมาอีกครั้ง ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าการเมืองและเศรษฐกิจอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลง

เมียนมา ไทมส์ รายงานว่า รัฐสภาเมียนมาลงมติด้วยคะแนน 403 เสียงจากทั้งหมด 636 คะแนน เลือก “วิน มินต์” อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร วัย 66 ปี และเป็นผู้ที่ ซู จี ไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง เพราะร่วมกันต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่มานาน ตั้งแต่การเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 1988 หรือที่เรียกว่า “888 ทมิฬ” ซึ่งเขาถูกรัฐบาลทหารสมัยนั้นคุมตัวฐานเป็นนักโทษทางการเมือง

ตลอด 30 ปีบนเส้นทางการเมืองของ วิน มินต์ นับว่าเป็นผู้ที่ช่ำชองด้านกฎหมายมาก เคยเป็นทั้งทนายความอาวุโสของศาลสูง จากนั้นไม่นานก็ได้ขึ้นเป็นผู้พิพากษาของศาลฎีกา และได้รับเลือกเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร จนขึ้นเป็นประธานสภาฯ กระทั่งได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีคนล่าสุด

ศ.บริดเจต เวลช์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น คาบอต ของอิตาลี กล่าวกับซีเอ็นบีซีว่า “คุณสมบัติแรก ๆ ของการเป็นผู้นำต้องเป็นบุคคลที่ได้รับความวางใจจากออง ซาน ซู จี ดังนั้นการเมืองเมียนมาแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยน เพราะอำนาจการบริหารที่แท้จริงมาจากผู้นำหญิง”

ขณะที่ ศ.โยชิฮิโร นาคะนิชิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเมียนมา มหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าวกับนิกเคอิ เอเชียน รีวิวว่า ทิศทางการบริหารประเทศจะเป็นอย่างไร คงเดาได้ไม่ยาก เพราะอำนาจตัดสินใจเกือบทั้งหมดอยู่ที่ ออง ซาน ซู จี แต่ประสบการณ์ของ วิน มินต์ จะช่วยให้แนวทางเติบโตของเมียนมาชัดเจน แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจและประเด็นโรฮีนจา

“เชื่อว่าจะมีการปะทะกันระหว่างประธานาธิบดีคนใหม่ กับกองทัพในหลายประเด็น ด้วยบาดแผลเก่าของ วิน มินต์ เมื่อครั้งถูกกักตัวฐานเป็นนักโทษการเมือง จนทำให้ไม่สามารถออกไปดูใจลูกชายที่กำลังจะหมดลมหายใจ “ศ.โยชิฮิโรกล่าว

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากจีนระบุว่า การวางแผนเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจเมียนมาเติบโตคือความท้าทาย แม้ว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะเป็นบุคคลใกล้ชิดที่สานต่อแนวคิดของ ซู จี ได้ทันที แต่ต้องไม่ลืมว่า อีกหนึ่งอำนาจที่ผลักดันนโยบายต้องได้รับการยินยอมจากกองทัพทหารก่อน ดังนั้น การทำให้สุญญากาศในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้นำเล็กลงมากที่สุดคือประเด็นแรกที่รัฐบาลเมียนมาต้องจัดการ