2 ปี “เมียนมา” ของ “ซู จี” ไร้ “ปฏิรูป” ทำนักลงทุนหดหาย

นับตั้งแต่ปลายมีนาคม 2016 ที่ออง ซาน ซู จี นำพรรคชนะเลือกตั้ง นั่งเก้าอี้ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะประสบปัญหาในการประสานใจระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงปัญหาการเมืองภายในประเทศอื่น ๆ เหล่านี้ทำให้เมียนมาซึ่ง 2 ปีที่แล้วเป็นดั่งความหวัง ที่นักลงทุนทั่วโลกจ้องกระโดดโปรยเงินลงทุนต้องชะลอการเดินหน้า ทำให้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) เข้าประเทศน้อยกว่าที่วาดฝันไว้มาก

 

เสียงจากนักลงทุนญี่ปุ่น สะท้อนผ่านรายงานข่าวของ “นิกเคอิ อาเซียน รีวิว”ว่า หลาย ๆ เรื่องที่รัฐบาลเมียนมาตั้งท่าจะเปิดเสรีตั้งแต่ปีกลายแต่มาวันนี้ก็ยังไม่มีท่าทีเดินหน้า

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา “ซานดา อู” ผู้อำนวยการภาคประกันภัยของรัฐเมียนมา ได้ประกาศในเวทีสัมมนาแห่งหนึ่งว่า “แผนการเปิดเสรีประกันภัยครบวงจรได้รับการรับรองแล้ว และจะประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้” แต่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต่างผิดหวังที่ไม่ได้ยินความชัดเจนว่า “เมื่อไหร่” เพราะคำว่า “เร็ว ๆ นี้”เป็นคำพูดมาตั้งแต่กรกฎาคมปีก่อนแล้ว

โดย 2 ธุรกิจหลักจากต่างชาติที่ตั้งสำนักงานในเมียนมาเยอะที่สุด คือธนาคาร และบริษัทประกัน แต่ปัจจุบันประกันภัยต่างชาติ ก็ไม่สามารถเดินหน้าลงทุนเพิ่มได้ เนื่องจากกฎหมายระบุว่า ประกันภัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิต บริษัทต่างชาติต้องพาร์ตเนอร์กับผู้ประกอบการท้องถิ่นเท่านั้นจึงจำหน่ายได้ ซึ่งประกันภัยชื่อดังของโลก 18 แห่ง ที่ตั้งสำนักงานในเมียนมา รอคอยวันจะได้เริ่มธุรกิจเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็น “ไดอิจิ ไลฟ์ โฮลดิงส์” หรือ “พรูเด็นเชียล”

คาดการณ์ FDI ในเมียนมาโดยสำนักงานการลงทุนเมียนมา ในปีงบประมาณ 2017 (สิ้นสุด ณ มีนาคม 2018) จึงน่าจะอยู่ที่เพียง 6.6 พันล้านเหรียญ ตกลงติดต่อกัน 2 ปี

เช่นกันกับสำนักงานให้เช่าในย่างกุ้ง ก็มีผู้เช่าลดน้อยลง บริษัท “คอลลิเออร์สอินเตอร์เนชั่นแนล” ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า อัตราค่าเช่าสำนักงานในย่างกุ้งปี 2017 อยู่ที่เดือนละ 44 ดอลลาร์สหรัฐต่อตารางเมตร ถือว่าเป็นอัตราที่ลดลงจากปี 2013 ถึง 31%

“โทนี่ พิคอน” เจ้าหน้าที่จากคอลลิเออร์สฯระบุว่า บริษัทต่างชาติหลายแห่งกำลังทบทวนการลงทุนเนื่องจากรัฐบาลไม่ได้เปิดเสรีอย่างแท้จริง

ฟังดูอาจจะเสียดใจ เพราะถ้าเทียบกับสมัยรัฐบาล “พลเอกเต็ง เส่ง” อดีตประธานาธิบดีเมียนมา กล่าวได้ว่า เมียนมาเนื้อหอมและมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติมากกว่านี้ และมีผลงานประจักษ์ เช่น โครงการความร่วมมือกับรัฐบาลและเอกชนญี่ปุ่น ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ “ติละวา” ซึ่งถือเป็นโครงการที่ทำให้กฎหมายการลงทุนถูกวางรากฐานใหม่

ศาสตราจารย์โทชิฮิโระ คุโด จากสถาบันการศึกษาด้านนโยบายแห่งชาติประจำกรุงโตเกียว ให้ความเห็นว่า รัฐบาลเมียนมายุคก่อน ได้เริ่มปฏิรูปจากเรื่องที่ทำได้ “ง่าย” เช่น การเปิดเสรีตลาดมือถือ และแบนการนำเข้ารถมือสอง เป็นต้น แต่การปฏิรูปในรัฐบาลปัจจุบัน กลับหันความสนใจจากเรื่องดังกล่าว ไปสนใจในด้านการเงินและค้าปลีกมากกว่า ซึ่งยังเป็นตลาดที่ปฏิรูปได้ยากและมีแรงเสียดทานมากกว่า

ประเด็นการขับไล่ชาวโรฮีนจา ที่ถูกนานาชาติประณามว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็เป็นอีกหนึ่ง “สาเหตุหลัก” ของผลกระทบการลงทุนจากต่างชาติที่ลดลง โดยเฉพาะจากนักลงทุนยุโรป ซึ่งค่อนข้างอ่อนไหวเรื่องความรุนแรงและสิทธิมนุษยชน

ขณะที่ “ซู จี” ก็ไม่ทำอะไรมาก เนื่องจากเธอยังกังวลต่อทัศนคติชาวพุทธกว่า 90% ในประเทศ ที่ไม่ยอมรับโรฮีนจาให้เป็นพลเมืองเมียนมา และซู จีเองก็ทำอะไรไม่ได้มาก กับอำนาจของทหารซึ่งยังครองเก้าอี้ในสภากว่า 25% และบล็อกข้อเสนอรัฐบาลได้ทุกครั้งไป

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้วันนี้เมียนมาเลือกที่จะถอยห่างจากนานาชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตกกลับไปซบอกพี่ใหญ่ “จีน”ซึ่งได้ลุกขึ้นมาปกป้องเมียนมากรณีโรฮีนจาในการประชุมสหประชาชาติล่าสุด ทำให้ในระยะหลังซู จี ดูจะสนใจจีนอยู่มาก ทั้งยังเอ่ยปากเชิญผู้นำจีนมาเยือนประเทศเมียนมาถึงสามครั้งสามครา

นักวิเคราะห์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมองว่า การเข้าหาจีน อาจจะสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มทหารได้ แต่ก็เหมือนสิ่งที่ซู จี จะต้องแลกเปลี่ยน เพราะเมียนมาจะได้ความมั่นคงประเทศในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอาจจะนำไปสู่การถูก “โดดเดี่ยว” ในเวทีโลกได้