ไต้หวัน “มุ่งใต้ใหม่” บ่มเพาะความสัมพันธ์อาเซียน

AFP PHOTO / Ed JONES

คอลัมน์ รู้จักอาเซีนน
โดย มัธธาณะ รอดยิ้ม


การครบรอบการคืนเกาะฮ่องกงสู่แผ่นดินจีนเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม เสมือนกับกำชับถึงความเป็นจีนเดียว และแน่นอนว่าสิ่งที่จีนกำลังดำเนินการส่งผลกระทบโดยตรงต่อหอกข้างแคร่ อย่างไต้หวัน ที่นับวันจะถูกนานาชาติโดดเดี่ยว และจีนก็พยายามทำทุกวิถีทางในการครอบงำเกาะไต้หวัน

ทำให้เกิดการกระดิกพลิกตัวของไต้หวันที่พยายามเอาตัวรอดจากพี่น้องภาษาเดียวกันแต่ต่างความคิดทางการเมือง โดยการขยับขยายสู่ชาติเอเชียอื่นผ่านนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Go South) ของประธานาธิบดีหญิงไช่ อิ้งเหวิน

กลายเป็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคเอเชียใต้กลายเป็นสถานที่ที่ไต้หวันสนใจอย่างยิ่งในการะกระชับทั้งเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรม การศึกษา วัฒนธรรม และการกสิกรรม

ที่น่าสนใจกับการขยับของไต้หวันคือ พยายามผลักดันให้นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไต้หวันออกมา นอกประเทศ ผ่านการเรียนภาษา การอบรมหรือการฝึกงานในภาคธุรกิจที่ชาวไต้หวันเข้าไปลงทุน

มุมมองนี้คล้ายกับมุมมองของหลายประเทศในยุโรป ที่มุ่งเน้นให้ผู้คนมีความเข้าใจกันมากขึ้นในระดับนานาชาติ ไม่ใช่เพียงแต่แค่เก็บตัวอยู่แต่ในประเทศและขาดความเข้าใจ จนนำไปสู่การดูถูกหมิ่นเกียรติศักดิ์ศรีต่อประเทศเพื่อนบ้าน

ในคู่มือนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย มีการระบุถึงหลักสูตรบุคลากรด้านภาษาวัฒนธรรมและเศรษฐกิจเอเชียอาคเนย์ด้วยเช่นกัน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะส่งเสริมให้นักศึกษาของไต้หวันไปศึกษาด้านภาษาในประเทศเอเชียอาคเนย์และฝึกอบรมด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจการค้าโดยจะคัดเลือกนักศึกษาส่งไปฝึกงานกับนักธุรกิจไต้หวันในประเทศเป้าหมาย

ไม่เพียงแต่ให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เพิ่มความรู้เกี่ยวกับประเทศอันเป็นเป้าหมายการลงทุน แต่ยังเป็นการสร้างความเข้าใจกับธุรกิจและเรียนรู้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีขึ้นระหว่างนักลงทุนที่เข้ามาในประเทศปลายทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นับว่าไต้หวันลงทุนด้านทรัพยากรบุคคลได้อย่างน่าสนใจ และเป็นแนวโน้มสำคัญที่บ่งชี้ว่าไต้หวันต้องการสร้างฐานทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์กับอาเซียนให้มั่นคงยิ่งขึ้น

แต่ในอนาคตไต้หวันอาจต้องทำงานหนักมากขึ้น เมื่อทุนของพญามังกรจีนกำลังโปรยปรายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านโครงสร้างพื้นฐาน และบางประเทศในอาเซียนก็เข้าพวกกับแผ่นดินใหญ่อย่างชัดเจน อย่างที่นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเคยย้ำจุดยืนไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่าจะสนับสนุนนโยบายจีนเดียว

อย่างไรก็ตามการลงทุนด้านทรัพยากรบุคคลของไต้หวันถือว่าเป็นเรื่องระยะยาว และมีความเป็นไปได้สูงว่าบรรดาเยาวชนที่เคยมาเยือนอาเซียน อาจกลับมาใหม่ในรูปแบบของเอ็กซ์แพต (Expat) หรือรูปแบบของนักลงทุนที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียนให้ก้าวไปข้างหน้า