ทุนญี่ปุ่นเชื่อมั่น ศก.ไทยดีขึ้น “เวียดนาม” เหมาะเป็น “Thai+1”

หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (เจซีซี)เปิดผลสำรวจมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งแรกของปี 2017 (ระหว่างวันที่ 22 พ.ค.-14 มิ.ย.) โดยมีบริษัทตอบกลับครั้งล่าสุดสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 594 บริษัท จากสมาชิกทั้งหมด 1,735 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 34.2%

นายฮิโรกิ มิสึมาตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจของเจซีซี กล่าวว่า ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (DI) ครึ่งปีหลังของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นชัดเจน

ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตพบว่าบริษัทที่คาดว่าจะ “ลงทุนเพิ่มเติม” ในปีนี้ คิดเป็น 44% ขณะที่บริษัทที่ตอบว่าลงทุน “คงที่” มีราว 33% และลงทุน “ลดลง” มี 17% โดยส่วนใหญ่ต้องการลงทุนเพิ่มเติม 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เครื่องจักรในการขนส่ง 2) อุตสาหกรรมเหล็ก และ 3) อิเล็กทรอนิกส์

ADVERTISMENT

ขณะที่แนวโน้มส่งออก พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ 50% เชื่อว่าการส่งออกจะคงที่ ขณะที่ 35% เชื่อมั่นว่าการส่งออกจะสดใสขึ้น ส่วนใหญ่มุ่งความสนใจไปที่อุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอ เคมี เหล็ก และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนบริษัทที่เชื่อว่าการส่งออกลดลงมีอยู่ 15% โดยมีปัจจัยหนุนมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่หดตัว เนื่องมาจากตลาดในตะวันออกกลางที่มีเศรษฐกิจไม่สดใส

อย่างไรก็ตาม บริษัทญี่ปุ่นเชื่อว่า “ตลาดรถยนต์ในอาเซียน” ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจมากที่สุด ทั้งนี้ ตลาดส่งออกที่มีศักยภาพในอนาคตยังยกให้ “เวียดนาม” 3 ปีซ้อน

โดยผลสำรวจครั้งล่าสุดพบว่านักธุรกิจญี่ปุ่นถึง 45% ชี้ว่าเวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพเป็น “Thai+1” หมายความว่าเวียดนามเป็นตลาดแห่งที่สองที่นักลงทุนจะเลือกเข้าไปขยายฐานการผลิตต่อจากไทย ด้วยเหตุผล 3 ประการสำคัญ ไก้แก่ การเติบโตของเศรษฐกิจ แรงงานราคาถูก และสะดวกในการเข้าถึงประเทศไทย

ADVERTISMENT

ส่วนตลาดส่งออกที่มีศักยภาพอันดับ 2ได้แก่ “อินโดนีเซีย” นักธุรกิจญี่ปุ่นเชื่อมั่น 35% รองมา “อินเดีย” 32% “เมียนมา” 25% และ “ญี่ปุ่น” 18%

ขณะที่อุปสรรคในการดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่ตอบว่า “การแข่งขันรุนแรงขึ้น”ถึง 71% รองลงมา คือ “ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มขึ้น” และ “ขาดแคลนบุคลากรระดับวิศวกร”

ADVERTISMENT

นอกจากนี้นักลงทุนญี่ปุ่นมี “ข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐบาลไทย” ส่วนใหญ่กังวลเรื่อง “การพัฒนาระบบและปรับเปลี่ยนการใช้งานระบบภาษีศุลกากร” เป็นอันดับ 1 โดยนายมิสึมาตะกล่าวว่า “แม้ประเทศไทยจะมีการปรับเปลี่ยนระบบภาษีศุลกากรบ้าง แต่นักธุรกิจญี่ปุ่นยังมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ขณะที่ภาคปฏิบัติในการเรียกเก็บภาษีแต่ละด่านยังมีความซับซ้อนและไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน”

ขณะที่ นายซึโยชิ อิโนอูเอะ กรรมการผู้จัดการ เจซีซี กล่าวว่า เร็ว ๆ นี้ รัฐบาลไทยได้ประกาศ พ.ร.บ.ศุลกากร 2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 พ.ย. 2560 เชื่อว่าหลังจากที่กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้จะช่วยคลายความกังวลต่อนักธุรกิจญี่ปุ่นมากขึ้น

ส่วนข้อเรียกร้องอันดับสอง ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ, ปัญหาด้านคมนาคมในกรุงเทพฯ, ความสงบในประเทศ, ปรับเปลี่ยนการใช้ระบบภาษี และปัญหาที่ได้รับความสนใจมากขึ้น คือ การป้องกันเหตุอุทกภัยอย่างจริงจัง

ด้านแผนขยายการลงทุนใน EEC หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก พบว่าบริษัทญี่ปุ่นที่ตอบว่ามีแผนการลงทุนที่แน่นอนมีเพียง 5% สนใจลงทุนแต่ยังไม่มีแผนการชัดเจน 9% มีความสนใจระดับหนึ่ง 25% ไม่แน่ใจ 34% และไม่มีความสนใจที่จะลงทุนเพิ่มเติม 26%

โดยเจซีซีให้เหตุผลว่า สัดส่วนที่นักลงทุนญี่ปุ่นจะลงทุนใน EEC ไม่มาก เนื่องจากสมาชิกเกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) และส่วนใหญ่มีการลงทุนในกรุงเทพฯตอนเหนือแล้ว เช่น อยุธยา

นอกจากนี้ นักธุรกิจญี่ปุ่นให้เหตุผลในการขยายธุรกิจไปประเทศเพื่อนบ้าน โดย 30% มองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว, 24% เรื่องการเพิ่มขึ้นของค่าแรง, 7% การขาดแคลนแรงงาน และ 5% ปัญหาน้ำท่วม

“หากมองในระยะยาว 5-10 ปีข้างหน้าญี่ปุ่นยังมองว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่มีเสน่ห์ในด้านการลงทุน แม้ปัญหาและข้อเรียกร้องจากบริษัทญี่ปุ่นจะเหมือนเดิม แต่เชื่อว่ารัฐบาลไทยได้พยายามที่จะแก้ไขอย่างเต็มที่ และต้องใช้เวลาในการแก้ไข ส่วนความสนใจในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม มองว่าเป็นเพียงการเข้าไปขยายฐานลงทุน มิใช่การย้ายฐานจากประเทศไทย

อีกทั้งประเภทของอุตสาหกรรมระหว่างไทยและเวียดนามมีความต่าง เช่น ประเทศไทยเหมาะสำหรับเป็นฮับในด้านอุตสาหกรรมขั้นสูง ส่วนเวียดนามเป็นอุตสาหกรรมการผลิตขั้นพื้นฐานทั่วไป แต่ปัญหาที่ประเทศไทยควรกังวลมากกว่า ได้แก่ ประสิทธิภาพของบุคลากรที่ต้องการการบ่มเพาะมากขึ้น และปรับเปลี่ยนศักยภาพตามความต้องการของตลาดให้เป็น” ประธานเจโทรกล่าว