“ท่องเที่ยว” อิเหนาคืนชีพ EU ปลดบัญชีดำสายการบิน

สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศขึ้นบัญชีดำ “สายการบินอินโดนีเซีย” ตั้งแต่ปี 2007 ทำให้มี 68 สายการบินของอินโดนีเซียติดแบล็กลิสต์ด้านความปลอดภัย โดยอียูสั่งห้ามทุกสายการบินบินผ่านน่านฟ้า เนื่องจากปัญหาอุบัติเหตุหลายครั้ง และมาตรฐานความปลอดภัยที่ถดถอย จากการผ่อนคลายกฎระเบียบการบินในอินโดนีเซียช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 นับเป็นความเลวร้ายที่สุดของธุรกิจการบินแดนอิเหนา ซึ่งกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวโดยตรง

ทั้งนี้ ในปี 2016 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้ทยอยประกาศยกเลิกให้ 7 สายการบินอินโดนีเซีย อาทิ สายการบินแห่งชาติ การูดา, สายการบินต้นทุนต่ำ ซิติลิงค์ และไลอ้อนแอร์ รวมทั้งสายการบินแอร์เอเชีย พ้นจากบัญชีดำดังกล่าว และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีคำสั่งให้ทุกสายการบินที่เหลือของอินโดนีเซีย สามารถบินผ่านน่านฟ้าประเทศยุโรปได้เป็นปกติแล้ว

“อากุซ ซานโตโซ” ผู้อำนวยการทั่วไป กรมการขนส่งทางอากาศของกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซีย กล่าวว่า เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในรอบ 11 ปีของอินโดนีเซีย จากการที่อียูประกาศยกเลิกแบล็กลิสต์ให้กับทุกสายการบิน ขณะที่ ICAO หรือองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ได้ปรับอันดับมาตรฐานความปลอดภัยของสายการบินอินโดนีเซีย จากลำดับที่ 151 สู่ลำดับที่ 55 ในปี 2017 (จากสมาชิกทั้งหมด 191 ประเทศ) โดยให้เหตุผลว่าอินโดนีเซียสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลได้ดี และได้คะแนน 81.15% เกินระดับที่ ICAO กำหนดที่ 64.71%

บทวิเคราะห์ของ “จาการ์ตาโพสต์” ระบุถึงความพยายามอย่างหนักของทางการอินโดนีเซียในการปรับปรุงความปลอดภัยทางอากาศ เช่น การเพิ่มบทลงโทษนักบินที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบการบิน การปรับเพิ่มราคาตั๋วเที่ยวบินเล็กน้อยเพื่อกดดันให้สายการบินเพิ่มมาตรฐานของตัวเอง รวมถึงการสุ่มตรวจระบบความปลอดภัยในทุกสายการบิน 1-2 ครั้งต่อปี เป็นต้น

ทั้งนี้ ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ประกาศให้ “การท่องเที่ยว” เป็นอุตสาหกรรมสำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศ โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะมีสัดส่วนกว่า 3.2% ของเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2025 ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าปีนี้ อินโดนีเซียจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น จากปีที่ผ่านมาราว 14 ล้านคน เพิ่มเป็น 17 ล้านคน และ 20 ล้านคนในปี 2019 ในฐานะประเทศที่มีหมู่เกาะมากที่สุดในโลกกว่า 17,000 เกาะ ซึ่งรัฐบาลมีแผนผลักดันการท่องเที่ยวแหล่งใหม่ โดยเรียกโปรเจ็กต์นี้ว่า “บาหลี 10 แห่งใหม่”

การท่องเที่ยวในอินโดนีเซียที่ผ่านมาถือว่าซบเซาอย่างหนักตั้งแต่ปี 2015 นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 15 ปี, เหตุภูเขาไฟอากุงปะทุใกล้บริเวณบาหลี หนึ่งในจุดท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศ และเหตุปะทะกับกลุ่มก่อการร้ายที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในอินโดนีเซีย ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง

นักวิเคราะห์ของอินโดนีเซีย คาดว่าเป้าหมายการท่องเที่ยวของรัฐบาลมีโอกาสเกิดขึ้นสูง หลังจากที่อียูประกาศยกเลิกบัญชีดำต่อทุกสายการบินของอินโดนีเซีย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากประเทศยุโรป คือกลุ่มใหญ่อันดับ 2 รองจากนักท่องเที่ยวในเอเชียที่เดินทางมาอินโดนีเซีย

ขณะที่ “วินเซนต์ กัวเออร์เอ็น” เอกอัครราชทูตอียู ประจำประเทศอินโดนีเซีย มองว่า “การปลดล็อกของอียู จะช่วยให้ภาคการบินของอินโดนีเซียสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ ซึ่งเชื่อว่าจะเริ่มเห็นผลชัดตั้งแต่ปีนี้ โดยตลาดการบินอินโดนีเซียจะมีความคึกคักมากขึ้น โดยเราได้เห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจากชาติยุโรปเริ่มเดินทางเข้ามาอีกครั้ง หลังจากที่อียูยกเลิกแบล็กลิสต์ต่อ 7 สายการบิน”

โดยปีที่ผ่านมาสายการบินแห่งชาติอย่าง “การูดา” ได้ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ เตรียมเพิ่มเครื่องบินโดยสารอีก 2 เท่าภายใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมี 62 ลำ เป็น 116 ลำ และจะเพิ่มเส้นทางการบินอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะเส้นทางบินตรงไปเมืองต่าง ๆ ในประเทศยุโรป รวมทั้งแผนเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเป็น 27.6 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบัน 10.1 ล้านคนต่อปี

ด้าน เจอร์รี โซจาตแมนนักวิเคราะห์ธุรกิจการบินในกรุงจาการ์ตา เชื่อว่า “อินโดนีเซีย ยังเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางโดดเด่นของกลุ่มนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และข่าวดีจากอียูจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคการบินอินโดนีเซียและหนุนให้ภาคการท่องเที่ยวคึกคัก ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศกลับมาด้วย”