“พาณิชย์” ยืนยันเร่งจบการเจรจา RCEP ครบ 16 ประเทศปลายปี

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ให้ความสำคัญสูงสุดกับการที่สมาชิกทั้ง 16 ประเทศ จะร่วมกันสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้ได้ภายในปี 2562 โดยตั้งเป้าให้มีการประกาศสรุปผลการเจรจาในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ณ กรุงเทพฯ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการค้าระหว่างสมาชิกทั้ง 16 ประเทศ ท่ามกลางวิกฤตสงครามการค้า รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับภูมิภาคอาเซียนและ RCEP นำไปสู่การขยายตัวทางการค้าและการลงทุน โดยความตกลงอาร์เซ็ปจะเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

โดยหลังจากที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้มีประชุมนัดพิเศษเรื่องการเจรจา RCEP เมื่อวันที่ 21-22 มิถุนายน 2562 ณ กรุงเทพ อาเซียนได้ร่วมกันเสนอข้อเสนอหลายเรื่องที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้การเจรจาอาร์เซ็ปคืบหน้าได้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้นำอาเซียนก็ได้ประกาศในการประชุมสุดยอดผู้นำ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 แสดงความมุ่งมั่นให้การเจรจา RCEP หาข้อสรุปให้ได้ในปีนี้

ล่าสุดไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเจรจา RCEP ครั้งที่ 26 และการประชุมคณะทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2562 ณ เมืองเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย เพื่อจะผลักดันข้อบทที่ยังติดขัดอยู่และมีแนวโน้มที่จะสำเร็จได้ให้คืบหน้าหาข้อสรุปได้โดยเร็ว

สำหรับประเด็นที่สมาชิก RCEP ยังไม่สามารถตกลงกันได้ในการประชุมคณะกรรมการเจรจา ณ เมืองเมลเบิร์น และจำเป็นต้องมีการตัดสินใจระดับการเมืองก็สามารถหยิบยกให้ที่ประชุมรัฐมนตรี RCEP ในเดือนสิงหาคม 2562 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป

ทั้งนี้ สมาชิก RCEP รวม 16 ประเทศ มีประชากรกว่า 3,560 ล้านคนหรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 30% ของมูลค่าการค้าโลก โดยในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 58.7 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 12.6 สำหรับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปที่ไทยส่งออกมากที่สุด ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ตามลำดับ โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา เครื่องจักรกล เหล็ก