FTA อาเซียน-ฮ่องกง เปิดตลาดการค้า-ลงทุนบนเส้นทางสายไหม

ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 31 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 12-15 พฤศจิกายน 2560 ผู้นำอาเซียนรวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย มีกำหนดการที่จะลงนามในความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง ซึ่งประกอบด้วย ความตกลงด้านการค้าและบริการ (AHKFTA) กับความตกลงด้านการลงทุนระหว่างรัฐบาลของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐ ประชาชนจีน กับรัฐบาลของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (AHKIA) หลังจากใช้เวลาเจรจามานานเกือบ 3 ปีนับจากปี 2557 โดยความตกลงทั้ง 2 ฉบับนี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562

ฮ่องกงประตูเชื่อม OBOR

ฮ่องกงถือเป็นคู่ค้าสำคัญของอาเซียนในปี 2559 มีการค้าระหว่างกัน 100,234 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นอาเซียนส่งออก 78,751 ล้านเหรียญ-นำเข้า 21,482 ล้านเหรียญ โดยอาเซียนเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าฮ่องกง 57,268 ล้านเหรียญ ส่วนการค้าไทย-ฮ่องกงนั้น ฮ่องกงถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 ในปี 2559 มีมูลค่า 13,067 ล้านเหรียญ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมา 4 ปีนับจากปี 2556 โดยไทยส่งออก 11,467 ล้านเหรียญ-นำเข้า 1,599 ล้านเหรียญ ฮ่องกงเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 9,868 ล้านเหรียญ และฮ่องกงยังถือเป็นนักลงทุนอันดับที่ 7 ของไทย

ที่สำคัญฮ่องกงถือ เป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับจีน มีการทำความตกลง Closer Economic Partnership (CEPA) กับความร่วมมือ Pan Pearl River Delta (PPRD) ในอนาคตฮ่องกงจะมีบทบาทสำคัญในนโยบายเส้นทางสายไหมยุคใหม่ (One Belt One Road-OBOR) ดังนั้นการที่อาเซียนทำ FTA กับ “ฮ่องกง” จึงไม่ใช่เพียงการเปิดตลาดฮ่องกง แต่ยังเป็นการเปิดประตูสู่ตลาดจีนอีกด้วย

สตาร์ตลดภาษีสินค้า 6,300 รายการปี”61

สำหรับรายละเอียดของความตกลงทั้ง 2 ฉบับนั้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดประชุมประชาพิจารณ์รอบสุดท้าย เพื่อขอความเห็นการลงนามความตกลงไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หรือก่อนจะถึงกำหนดลงนามเพียง 4 วันเท่านั้น

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้เหตุผลว่า กรมได้จัดประชาพิจารณ์และประชุมรับฟังความเห็นกลุ่มย่อยก่อนหน้านี้ไปแล้ว หลายครั้ง ส่วนการประชุมครั้งนี้ กรมจะรวบรวมความเห็นที่ได้ไปนำเสนอระดับนโยบายในการปรับปรุงความตกลงในลำดับ ต่อไป

ทั้งนี้ ความตกลงอาเซียน-ฮ่องกง ครอบคลุม 14 ข้อบท ทั้งสินค้า-บริการและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและวิชาการ 5 ด้าน คือ บริการวิชาชีพ พิธีการศุลการ การอำนวยความสะดวกทางการค้า/โลจิสติกส์ เอสเอ็มอี และอีคอมเมิร์ซ

ในส่วนความตกลงด้านการค้าสินค้าและบริการ หรือ AHKFTA กำหนดว่า ไทยจะเริ่มลดภาษีนำเข้าสินค้าทันที 6,300 รายการให้กลายเป็น 0% ใน 3 ปีนับจากความตกลงมีผลบังคับใช้ ในกลุ่มสินค้าปกติ 1 ได้แก่ ล็อบสเตอร์, สัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์, สับปะรด, ฝรั่ง, มะม่วง, ขนแกะ, ทองแดง, เครื่องดับเพลิง, กล้องถ่ายภาพยนตร์

จากนั้นจะทยอยลดภาษีสินค้าปกติกลุ่มที่ 2 เช่น เห็ดมัชรูม, ส้ม, ยารักษาโรคที่มีเพนิซิลลิน, กลุ่มใยสังเคราะห์ทำด้วยโพลีเอสเตอร์ให้เป็น 0% ใน 10 ปี แต่ยังคงภาษีสินค้าอ่อนไหว เช่น แป้ง, ข้าวสาลี, เนื้อ, เครื่องใน, ลิ้นจี่, ลำไย, โลหะป้องกันหัวรองเท้า, รองเท้าสนับแข้งทำด้วยไม้, เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณที่เป็นของเทียมไว้ที่ 0-5% ภายใน 12 ปี และสินค้าอ่อนไหวสูง เช่น เครื่องนุ่งห่ม, โมเพ็ด และรถจักรยานที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์, จานเบรก, เครื่องทำน้ำร้อนด้วยไฟฟ้า, กระเบี้อง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยขอ “ยกเว้น” ไม่นำสินค้า 359 รายการมาเจรจาเปิดตลาด ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า, ข้าว, ข้าวโพด, ไหม, กระดาษ, กาแฟ, ชา, ไวน์, ยาสูบ, ผลิตภัณฑ์นม, ไข่ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์

โดยประเทศอาเซียนกลุ่มแรกที่จะลดภาษีพร้อมไทย คือ บรูไน-มาเลเซีย-ฟิลิปปินส์ ส่วนอินโดนีเซีย-เวียดนาม จะทยอยลดภาษีลงเป็น 0% ในสัดส่วนที่น้อยกว่าและช้ากว่า และกลุ่มสุดท้ายคือ ลาว-เมียนมา-กัมพูชา จะทยอยลดภาษีลงช้าที่สุดในระยะเวลา 8 ปี และยกสินค้าที่ไม่พร้อมที่จะเปิดเสรีออกได้ 15% จากสินค้าทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ได้คาดหวังจะให้ฮ่องกงเร่งลดภาษีลงมา เนื่องจากภาษีนำเข้าส่วนใหญ่ของฮ่องกงเป็น 0% อยู่แล้ว แต่การทำเอฟทีเอเป็นการ “ล็อกภาษีนำเข้าในอนาคตไว้ที่ 0%” ในสินค้ากลุ่มที่ฮ่องกงไม่ได้มีข้อผูกพันกับองค์การการค้าโลก (WTO) ว่า จะคงภาษีเป็น 0% ซึ่งมีถึง 53% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด เพื่อช่วยให้เอกชนไทยสามารถวางแผนการค้าการลงทุนในระยะยาวได้ และสามารถนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากฮ่องกงได้ในราคาถูกลง

ส่วนที่กังวล ว่า “สินค้าจีนจะทะลัก” โดยอาศัยการส่งออกผ่านฮ่องกงมาอาเซียนนั้น เลิกกังวลได้เลย เพราะเดิมจีนมีเอฟทีเอกับอาเซียนอยู่แล้ว สามารถส่งออกผ่านช่องทางดังกล่าวได้ไม่จำเป็นต้องผ่านฮ่องกง อีกทั้งความตกลงฉบับนี้ ได้กำหนดกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มงวดสามารถป้องกันไม่ให้สินค้าจีนแฝงมา ได้ต่อยอดเปิดเสรีธุรกิจบริการมากกว่า WTO

การเปิดเสรีภาคบริการ ประเทศไทยจะเปิดเสรีภาคบริการให้ฮ่องกง 74 สาขา (เทียบเท่ากับที่เปิดให้ความตกลงเปิดเสรีบริการอาเซียน โดยเปิดคู่ค้าอาเซียน-ฮ่องกงเข้ามาให้ถือหุ้นสูงสุด 70% ในสาขาบริการให้คำปรึกษา และบริการด้านพยากรณ์อากาศและอุตุนิยมวิทยา) และเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา 44 สาขาย่อย เช่น ผู้เยี่ยมเยือนทางธุรกิจ และผู้โอนย้ายภายในบริษัท เป็นต้น

ส่วน ฮ่องกงเปิดเสรีธุรกิจบริการ 87 สาขาหรือ “มากกว่า” ที่ไทยเปิดให้ฮ่องกง และที่สำคัญยังเปิดให้ถือหุ้น 100% ได้ในจำนวน 80 สาขาจาก 87 สาขา เช่น บริการเกี่ยวกับการผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ และ “ยกเว้น” บางสาขาที่ฮ่องกงเปิดตลาดแบบมีเงื่อนไข เช่น บริการวิศวกรรม, บริการด้านโทรคมนาคม และบริการด้านการเงิน ส่วนสาขาบริการที่เหลือจะหารือกันต่อหลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้ครบ 1 ปี

จะเห็นได้ว่า ฮ่องกงเปิดตลาดบริการให้กับอาเซียนมากกว่าที่ผูกพันไว้ใน WTO ถือเป็นโอกาสสำคัญของนักลงทุนไทยที่จะขยายการลงทุน ทั้งยังจะได้รับการอำนวยความสะดวกมากขึ้น และสามารถยกระดับมาตรฐานภาคบริการของไทยได้ ขณะที่ฮ่องกงต้องการขยายตลาดธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ เช่น บริการทางการเงิน โลจิสติกส์ มายังอาเซียน

ภาคการลงทุนเจรจาต่อหลังปี”62

สุดท้าย ความตกลงด้านการลงทุน AHKIA มี 29 ข้อบท ครอบคลุมการคุ้มครองการลงทุนซึ่งจะเน้นการปฏิบัติด้วยความเป็นธรรมและเท่า เทียมกัน การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน มุ่งเน้น การสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน กระบวนการที่ช่วยให้การขออนุมัติการลงทุนง่ายขึ้น การตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ และการเผยแพร่ข้อมูลการลงทุน

ส่วนประเด็นที่เหลือ “การระงับข้อพิพาทด้านการลงทุนระหว่างภาคีกับนักลงทุน” จะหารือกันต่อเนื่องในอีก 1 ปี หลังจากความตกลง AHKIA มีผลบังคับใช้แล้ว