“โป๊ปฟรานซิส” พบ “ซูจี” คุยปมวิกฤตโรฮีนจา เเต่หลีกเลี่ยงใช้คำว่า “โรฮีนจา” !

REUTERS/Phyo Hein Kyaw/Pool

โป๊ปฟรานซิสหารือนางอองซาน ซูจี ปมความรุนเเรงในรัฐยะไข่เเละวิกฤตการอพยพของชาวโรฮีนจา โดยเลี่ยงการใช้คำว่า “โรฮีนจา”

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกเสด็จไปพบนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา เพื่อหารือวิกฤตโรฮีนจาที่อพยพหนีภัยออกจากรัฐยะไข่เข้าบังคลาเทศแล้วกว่า 620,000 คน ซึ่งถูกจับตามองจากนานาชาติ

โดยโป๊ปฟรานซิสหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “โรฮีนจา” เเละกล่าวถึงเพียงว่าเป็นกลุ่มคนในเมียนมาที่ทุกข์ทรมานจากความขัดเเย้ง

ก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนวิเคราะห์ว่า ภารกิจการเยือนเมียนมาครั้งนี้เสี่ยงมากในประเด็นล่อแหลม แม้กระทั่งคำว่า “โรฮีนจา” โป๊ปฟรานซิสก็อาจตรัสไม่ได้ เนื่องจากชาวพม่าต้องการเรียกชาวโรฮีนจาว่า “เบงกาลี”

ขณะที่กลุ่มผู้นำคาทอลิกในเมียนมา ต่างแนะนำโป๊ปว่าอย่าทรงใช้คำว่าโรฮีนจาเรียกชาวมุสลิมที่ถูกขับไล่ออกจากรัฐยะไข่ อาจทำให้ชาวพุทธในเมียนมาไม่พอใจ จนเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวคริสต์ที่มีอยู่เพียง 700,000 คนในเมียนมา (จากประชากรทั้งหมด 51 ล้านคน)

ด้านพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา กล่าวว่า ทุกคนในประเทศสามารถนับถือศาสนาได้อย่างอิสระ เเละกองทัพเมียนมาพยายามฟื้นคืนสันติภาพ โดยความปรารถนาของทหารเมียนมาทุกนายก็คือสันติภาพของชาติ และเมียนมาไม่มีการเลือกปฏิบัติในกลุ่มชาติพันธุ์แน่นอน

ทั้งนี้ โป๊ปฟรานซิสได้พบปะ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และนายพลระดับสูงคนอื่นๆ ในเมืองย่างกุ้งเป็นเวลาราว 15 นาที

ขณะที่ในวันนี้ (28 พ.ย.) นางออง ซาน ซูจี ถูกสภาเมืองออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ถอดออกจากรางวัล “เสรีภาพแห่งออกซ์ฟอร์ด” อย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากที่สภาเมืองออกซ์ฟอร์ดเคยมอบรางวัลดังกล่าวให้กับนางซูจีเมื่อปี 2540 ในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมายาวนาน โดยสภาเมืองออกซ์ฟอร์ด ให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการที่จะให้รางวัลอันมีเกียรติดังกล่าวแก่บุคคลที่ทำตัวนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่

สำหรับภารกิจต่อไปของโป๊ปฟรานซิส คือการไปเสด็จเยือนบังคลาเทศในวันที่ 30 พ.ย. – 2 ธ.ค. ซึ่งบาทหลวงแพทริก ดีโรซาริโอ อาร์กบิชอปของกรุงธากา เจ้าหน้าที่นิกายคาทอลิกระดับสูงสุดในประเทศบังกลาเทศ กล่าวด้วยความหวังว่าหากโป๊ปเสด็จเยี่ยมกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮีนจาในประเทศบังกลาเทศ จะกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อบรรเทาวิกฤตโรฮีนจาให้เบาบางลงได้ แม้ว่าสถานการณ์จะยุ่งยาก