ศบค. ยังไม่เคาะ เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังรับทราบแผนปรับโควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รับทราบแผนการปรับลดระดับสถานการณ์โควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. นี้

ศ.นพ. อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หากดูจากจำนวนผู้ป่วยที่เข้าในระบบอยู่ที่ประมาณ 2,000 คน/วัน ส่วนผู้ป่วยที่มีผลตรวจคัดกรองเอทีเคในระบบมีประมาณ 30,000 คน/วัน และคาดว่ามีผู้ป่วยที่ไม่เข้าในระบบประมาณ 1-2 เท่า ทำให้ภาพรวมขณะนี้มีคนไข้ประมาณ 60,000 คน/วัน ซึ่งอยู่ในระดับนี้มา 1 เดือนแล้ว และคาดว่าหลังวันที่ 1 ต.ค. จะลดลง ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เข้าในระบบโรงพยาบาลเหลือประมาณ 1,000 คน/วัน และยอดผู้เสียชีวิตก็ลดลง

“ก็จะเข้าข่ายการเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น ซึ่งการปรับไปเป็นโรคประจำถิ่น ต้องรออีกระยะหนึ่ง” ที่ปรึกษา ศบค. กล่าว

โควิด

ที่มาของภาพ, Thai news Pix

แม้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังจะกลายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในอีกเดือนเศษข้างหน้า แต่ ศบค. ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร แต่อย่างใด

“หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในวันที่ 1 ต.ค. ศบค. ก็ต้องหายไปด้วย และอาจนำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ กลับมาปัดฝุ่นใช้ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งและตั้งให้มีหน่วยงานคล้ายกับ ศบค. เป็นหน่วยงานในการช่วยประสานงาน โดยอาจมีการปรับมาเป็นรูปแบบของคณะกรรมการร่วม แต่ข้อสรุปจะต้องรอการประชุมก่อนครบกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในวันที่ 30 ก.ย. อีกครั้ง” ศ.นพ. อุดมกล่าว

นายกฯ

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลภายใต้การนำ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อ 25 มี.ค. 2563 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 26 มี.ค. 2563 ต่อมา ศบค. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาแล้ว 19 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดจะไปสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2565

พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณา ถ้าลดระดับได้ก็พร้อมลดให้ แต่ตอนนี้ มีไว้ก็เป็นการสำรองไว้ “ผมไม่ได้มุ่งหวังการใช้ พ.ร.ก. เพื่อประเด็นอื่น ๆ เลย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยโควิด จะได้มีการทำงานร่วมมือกัน ก็ขอให้มองในแง่ดีบ้าง มีแล้วเกิดประโยชน์ ถ้าไม่มีจะเกิดผลอย่างไร”

นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค. ยังไม่มีการพูดคุยกันว่าจะเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ ตอนนี้ยังไม่มีความเร่งด่วนจำเป็นใด ๆ ที่ต้องมาพูด เพราะประกาศ พ.ร.ก. เอาไว้ยาวถึงเดือน ก.ย. ซึ่งที่ประชุมรับทราบ และขอรอดูสถานการณ์ต่ออีกระยะ

ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มานาน 2 ปี 5 เดือนแล้ว

อย่างไรก็ตามในระหว่างแถลงข่าวของ น. ทวีศิลป์ ได้นำเสนอสไลด์ประกอบการแถลง โดยระบุถึงแนวปฏิบัติตามห้วงเวลาในช่วง 5 เดือนของปีนี้ (ดูในตาราง) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในเดือน ส.ค.-ก.ย. ยังคงสถานการณ์ฉุกเฉิน และใช้ ศบค. เป็นกลไกการจัดการ แต่ในเดือน ต.ค. จะใช้วิธีประกาศโรคระบาดเฉพาะพื้นที่ (เมื่อมีเหตุจำเป็น) โดยใช้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคโควิด-19 (อีโอซี) และคณะกรรมการโรคติดต่อระดับชาติ/จังหวัด/กทม. เป็นกลไกการจัดการ และในเดือน พ.ย.-ธ.ค. จะใช้วิธีประกาศโรคระบาดเฉพาะพื้นที่ (เมื่อมีเหตุจำเป็น) โดยมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. เป็นกลไกการจัดการ

ศบค.

ที่มาของภาพ, ศบค.

ความเสี่ยงตามการประเมินของ สธ.

ในระหว่างการประชุม ศบค. วันนี้ (19 ส.ค.) นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ไว้ ดังนี้

  • ทั่วโลกยังมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อหลังจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 ระบาด เนื่องจากการกลายพันธุ์รวดเร็ว แต่จำนวนผู้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตไม่สูงมากหากเทียบกับช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ BA.1/2 และเดลตา เนื่องจากตัวเชื้อเบาลง
  • ผลการสำรวจภูมิต้านทานของประชาชนไทย เมื่อ เม.ย.-พ.ค. 2565 พบว่า ประชาชนกว่า 90% มีภูมิต้านทาน
  • ข้อมูลศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนที่จริงในไทย พบว่า การฉีด 3 เข็มในทุกสูตร สามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้สูงกว่า 90% และต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน แต่ป้องกันการติดเชื้อได้ต่ำ
  • คาดกาณ์ว่าโควิด-19 จะมีลักษณะคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่อาจมีการระบาดบางช่วงเวลา โดยการป่วยที่รุนแรงและเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเกิดกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน, กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีโรคร่วม (กลุ่ม 608) ที่รับวัคซีนไม่ครบ

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,110  ราย เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย รวมมีผู้ติดเชื้อสะสมสะสมนับจากปี 2563 จำนวน 4,630,310 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 31,971 ราย

ด้านสถิติการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ไทยฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้ว 142.2 ล้านโดส

แนวทางการรักษาใหม่

covid

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ผลจากการลดระดับสถานการณ์โรค ทำให้ สธ. ต้องปรับแนวทางปฏิบัติ (ด้านการรักษา) ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะหลังการระบาดใหญ่ (Post–Pandemic) โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  • การใช้ยาต้านไวรัส : ควรให้เฉพาะกลุ่มที่มีอาการ หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง
  • การจัดบริการด้านการรักษาพยาบาล : พิจารณาอาการผู้ป่วย ถ้าไม่มีอาการให้แยกกักที่บ้าน ถ้ามีอาการอื่น ๆ จากโรคประจำตัว, มีปัจจัยเสี่ยง, เป็นกลุ่ม 608, มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% ให้รับตัวไว้ในโรงพยาบาล
  • ระยะเวลาการรักษาโรค : เปลี่ยนมาใช้สูตร 5+5 คือรักษาตัว 5 วัน และแยกกักเพื่อสังเกตอาการ 5 วัน จากเดิมใช้สูตร 7+3
  • การกระจายยา : ตั้งแต่ 1 ก.ย. หน่วยบริการนอกสังกัด สธ. จัดซื้อยาได้ และร้านขายยาสามารถจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ได้

ยืดเวลาวีซ่านักท่องเที่ยวเป็น 45 วัน แต่ยังไม่ถกยืดเวลาปิดผับตี 4

ศบค. ยังมีมติให้ขยายระยะเวลาพำนักของวีซ่านักท่องเที่ยว (Tourist Visa) เป็น 45 วัน จากเดิมไม่เกิน 30 วัน และขยายระยะเวลาพำนักของวีซ่าหน้าด่าน (Visa on Arriva : VoA) เป็นสูงสุดเกิน 45 วัน จากปัจจุบันไม่เกิน 15 วัน โดยให้มาตรการมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565-31 มี.ค. 2566

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทย 3.15 ล้านคน สร้างรายได้ราว 1.57 แสนล้านบาท ซึ่งการเพิ่มระยะเวลาพำนักก็จะช่วยเพิ่มรายได้ด้ารการท่องเที่ยวให้ประเทศด้วย

นักท่องเที่ยว

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ส่วนการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงในพื้นที่ควบคุม หรือโซนนิ่ง ตามเมืองท่องเที่ยวหลัก ถึงเวลา 04.00 น. จากปัจจุบันเปิดให้บริการได้ถึง 02.00 น. ตามข้อเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังไม่มีการพิจารณาในที่ประชุม ศบค. วันนี้

ก่อนหน้านี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ออกมาเปิดเผย 8 พื้นที่นำร่องจัดโซนนิ่ง ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 60-70% ประกอบด้วย ถนนข้าวสาร กรุงเทพฯ, ถนนบางลา หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต, วอล์คกิ้ง สตรีท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี, อ่าวนาง จ.กระบี่, เขาหลัก จ.พังงา, หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่

รมว.ท่องเที่ยวฯ ให้เหตุผลว่า ข้อเสนอดังกล่าวสอดรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวยุโรปและตะวันออกกลาง ซึ่งเริ่มรับประทานอาหารมื้อค่ำเวลาประมาณ 22.00 น. กว่าจะทานเสร็จและเริ่มดื่มก็ตอนเที่ยงคืนกว่า พอเริ่มสนุก ก็ถึงเวลาปิดสถานบันเทิงแล้ว จึงไม่ตอบความต้องการของนักท่องเที่ยวนัก

“กระทรวงท่องเที่ยวฯ คิดมาอย่างดีแล้ว เมื่อมีโอกาสทำก็จำเป็นต้องทำ ตอนนี้ไม่ใช่เวลากลัว เพราะการฟื้นการท่องเที่ยว ก็เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ให้กลับมาขยายตัวได้” นายพิพัฒน์กล่าว และคาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 20%

ในการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง นายพิพัฒน์ระบุเงื่อนไขไว้ว่าไม่ได้ทำทุกวัน แต่จะขยายเฉพาะวันหยุด วันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เท่านั้น พร้อมแสดงความมั่นใจว่า หากมีการกำหนดโซนนิ่งขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง จะสามารถรับประกันความปลอดภัยจากอาชญากรรมได้ 70-80%

ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ อยู่ระหว่างการสำรวจความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้อำนวยการเขต ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ประกอบการ หากพื้นที่หรือจังหวัดใดมีความพร้อม ก็ให้สรุปรายละเอียดมาอีกครั้ง โดยคาว่าจะเสนอที่ประชุม ศบค. พิจารณาได้ภายในเดือนนี้ หรืออย่างช้าเดือน ต.ค. เพื่อเริ่มต้นการขยายเวลาได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปีหน้า ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว