Quiet quitting เทรนด์ทำงานที่กำลังมาแรงใน TikTok คืออะไร

  • เพอริชา คุดเฮล
  • บีบีซี นิวส์

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้พลิกโฉมหน้าของโลกแห่งการทำงานไปอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมในที่ทำงานที่เรียกว่า “quiet quitting” (ไควเอต ควิตติง) กำลังเป็นกระแสที่มีการพูดถึงอย่างมากในโซเชียลมีเดีย

quiet quitting คืออะไร

quiet quitting ไม่ได้หมายถึงการลาออกจากงาน แต่หมายถึงการทำงานเฉพาะหน้าที่ที่กำหนดไว้ในคำบรรยายลักษณะงาน ไม่มีการทุ่มเททำงานเป็นพิเศษเพื่อสร้างความประทับใจให้เจ้านาย

อาจพูดได้ว่า quiet quitting คือการเลิกทำงานเกินหน้าที่ คุณยังคงไปทำงานตามปกติ แต่ทำงานเฉพาะที่อยู่ในขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบในตำแหน่งงานของตัวเองเท่านั้น โดยไม่รับ “อาสา” ช่วยงานพิเศษที่เพิ่มขึ้นมา หรืออ่านอีเมลนอกเวลาทำงาน

นับตั้งแต่เกิดโรคระบาดใหญ่ มีคนรุ่นใหม่มากขึ้นที่รู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการทำงานเกินเวลาโดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือการเล็งเห็นคุณค่าจากผู้บังคับบัญชาหรือองค์กร

พวกเขาจึงไม่ยอมเผชิญกับภาวะหมดไฟจากการทำงานหนักเกินไป แล้วหันไปให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตที่สมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัว

quiet quitting มีแนวคิดสำคัญคือ “การรักษาใจตนเอง” และ “การทำงานตามเงินเดือนที่ได้”

คำว่า quiet quitting ได้รับความสนใจอย่างมากหลังจาก ผู้ใช้ TikTok (ติ๊กต็อก) ที่ชื่อ @zaidlepplin โพสต์วิดีโอที่กลายเป็นกระแสโด่งดัง โดยพูดว่า “งานไม่ใช่ชีวิตของคุณ”

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดการทำงานแบบนี้ อาจมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสติดแฮชแท็ก #tangping (ถ่าง ผิง) ที่แปลว่า “นอนราบ” (ปัจจุบันแฮชแท็กนี้ได้ถูกทางการจีนปิดกั้นไปแล้ว) เพื่อใช้แสดงการต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานหนัก แต่กลับไม่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า จนทำให้คนรุ่นใหม่ในจีนรู้สึกอ่อนล้าทั้งร่างกายและจิตใจ

“ฉันกอบกู้อำนาจให้ตัวเอง”

Georgia Gadsby March

ที่มาของภาพ, Georgia Gadsby March

จอร์เจีย แกดส์บี มาร์ช วัย 24 ปี จากมณฑลเดวอนในอังกฤษ เคยทำงานฝ่ายการตลาดให้บริษัทค้าปลีกและเครื่องใช้ในบ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งเธอต้องทำงานล่วงเวลาโดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ

หลังจากเริ่มต้นทำงานในตำแหน่งงานธุรการที่คอยสนับสนุนทีมงานต่าง ๆ ในบริษัท จอร์เจียก็เริ่มได้รับมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบมากขึ้น จนต้องทำงานสัปดาห์ละเกือบ 60 ชั่วโมง

เธอคุยกับผู้จัดการเกี่ยวกับค่าตอบแทนการทำงานที่เกินขอบข่ายความรับผิดชอบของเธอ และได้รับคำมั่นว่าจะมีการขึ้นเงินเดือนให้

“แต่มันไม่เคยเกิดขึ้น ฉันรู้สึกอับอาย” เธอบอก

“ตอนที่ฉันทำงานช่วงโควิดระบาด ฉันรู้สึกว่ามันปลอดภัยกว่าที่จะทำงานแบบ quiet quit แทนที่จะลาออกจากงานแล้วหางานใหม่ทำ มันเป็นช่วงที่งานหายาก”

จอร์เจียเริ่มปฏิเสธการทำงานที่อยู่นอกเหนือหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง เธอมักถูกตำหนิและกล่าวหาว่าเป็นคนเกียจคร้าน

แต่เธอไม่สนใจ “มันให้ความรู้สึกว่าฉันกอบกู้อำนาจให้ตัวเอง” เธอกล่าว

ในที่สุดจอร์เจียก็ลาออกจากงานนั้น

“การถูกปฏิเสธขึ้นเงินเดือน คือฟางเส้นสุดท้าย”

Emma O'Brien

ที่มาของภาพ, Emma O’Brien

เอ็มมา โอไบรอัน วัย 31 ปีจากกรุงลอนดอนเป็นอีกคนที่ใช้วิธี quiet quit จากงานผู้ช่วยส่วนตัวในธุรกิจค้าปลีก หลังจากถูกนายจ้างปฏิเสธขึ้นเงินเดือนให้

“ปริมาณงานของฉันเพิ่มขึ้น และฉันต้องดูแลคนทั้งทีมในช่วงโควิด” เธอเล่า

เธอพยายามขอคุยกับหัวหน้าเรื่องขอเงินเดือนขึ้นอยู่หลายสัปดาห์ และเมื่อได้เจรจากัน เขากลับตอบปฏิเสธ “มันคือฟางเส้นสุดท้าย” เอ็มมาบอก

“นั่นคือเหตุผลที่ฉันทำงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบเท่านั้น ไม่ทำอย่างอื่นเพิ่มเป็นพิเศษ”

เอ็มมาทำงานแบบ quiet quit อยู่ราว 1 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนงานเมื่อไม่นานมานี้

quiet quitting ดีจริงหรือ

ใช่ว่าทุกคนจะเห็นดีเห็นงามกับกระแส quiet quitting

แพตตี อาห์ไซ ผู้เชี่ยวชาญด้านมารยาทในที่ทำงานแสดงความไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ในวิดีโอที่เธอโพสต์ทาง TikTok โดยชี้ว่า คุณไม่มีวันจะประสบความสำเร็จในการทำงานหากมีทัศนคติหรือแนวคิดแบบนี้

“quiet quitting คือการทำงานให้น้อยที่สุดตามที่ตำแหน่งงานของคุณกำหนดไว้ และพึงพอใจกับงานคุณภาพปานกลางนี้” เธออธิบายให้บีบีซีฟัง

“ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและการได้ขึ้นค่าจ้างจะตกอยู่กับผู้ที่ทุ่มเททำงานมากพอที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้า ซึ่งไม่ใช่คนที่ทำงานขั้นต่ำอย่างแน่นอน” เธอกล่าว

Joanne Mallon

ที่มาของภาพ, Lauren Psyk

ขณะที่ โจแอนน์ มัลลอน ผู้แนะแนวอาชีพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ ระบุว่า ลูกค้าหลายคนของเธอเริ่มทำงานแบบ quiet quit แล้วตอนที่เข้ารับบริการแนะแนวด้านอาชีพจากเธอ

โจแอนน์ บอกว่า แม้เธอจะไม่เคยให้คำแนะนำให้ใครทำงานแบบ quiet quit แต่ก็มักถามถึงเหตุผลที่พวกเขาทำแบบนี้

“ทุกคนล้วนเคย quiet quit มาแล้วในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แต่ท้ายที่สุดแล้วนี่อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนงาน และออกจากงานที่ทำอยู่จริง ๆ” แบบเดียวกับที่จอร์เจีย และเอ็มมาทำในท้ายที่สุด เธอกล่าว

………..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว