ริชี สุนัค อดีต รมว.คลัง จ่อนั่งเก้าอี้ นายกฯ อังกฤษ คนต่อไป หลังบอริส จอห์นสันถอนตัว

Getty Images

นายริชี สุนัค ได้รับแรงสนับสนุนจาก ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ในการสืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากนายบอริส จอห์สัน ภายหลังลาออกจากตำแหน่งเมื่อ ก.ค.

ทว่าเขาล้มเหลวในการจูงใจให้สมาชิกพรรคที่มีกว่า 1.61 แสนคน โหวตเลือกเขา ส่งผลให้นางลิซ ทรัสส์ คู่ท้าชิง ได้เข้าไปนั่งทำงานที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บ้านหมายเลข 10 ถนนดาวนิ่ง เมื่อ ก.ย. ที่ผ่านมา

ในช่วงการหาเสียง นายสุนัคให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของสหราชอาณาจักร พร้อมนำเสนอนโยบายพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

เขากล่าวกับบีบีซีว่า ยินดีพ่ายแพ้ในศึกชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ดีกว่า “ชนะด้วยการให้คำมั่นสัญญาจอมปลอม” ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นการโจมตีคำประกาศยกเลิกแผนปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลของนางทรัสส์

ต่อมารัฐบาลของนางทรัสส์ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า “งบประมาณแผ่นดินฉบับย่อ” มูลค่า 4.5 หมื่นล้านปอนด์ แต่ไม่มีรายละเอียดว่าจะนำเงินจากไหนเพื่อใช้ขับเคลื่อนแผน ทำให้ค่าเงินปอนด์ร่วงต่ำเป็นประวัติการณ์ก่อนดีดตัวขึ้น อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านพุ่งพรวดพราด ราคาพันธบัตรรัฐบาลทรุดหนัก จนธนาคารกลางต้องเข้ามาแทรกแซง

ผลที่ตามมาคือ นางทรัสส์เลือกที่จะปลด “เพื่อนคู่คิดการเมือง” ที่คบหากันมากกว่า 10 ปีอย่างนายกวาซี กวาร์เทง พ้นเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แล้วแต่งตั้งนายเจเรมี ฮันต์ เป็นรัฐมนตรีคนใหม่

ทว่าสถานการณ์ของนายกฯ หญิงเลวร้ายลง เมื่อนายเจเรมีประกาศกลางสภาผู้แทนราษฎรว่าจะยกเลิกแผนการตัดลดภาษีแทบทั้งหมดของนางทรัสส์ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจาก ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟให้นางทรัสส์ลาออก

อย่างไรก็ตามนายสุนัคไม่ได้ให้ความเห็นต่อความโกลาหลที่เกิดขึ้น ซ้ำยังประกาศยืนเคียงข้างนายกฯ เพื่อแก้ไข “วิกฤตเศรษฐกิจดิ่งเหว” พร้อมรวมพรรคให้เป็นหนึ่งเดียว

ลิซ ทรัสส์

ที่มาของภาพ, PA Media

วานนี้ (23 ต.ค.) นายเจเรมี รัฐมนตรีคลังคนล่าสุดของสหราชอาณาจักร ประกาศสนับสนุนนายสุนัคเป็นผู้นำพรรคคนใหม่ โดยกล่าวว่าเขาจะเลือก “ตัวเลือกที่จำเป็นสำหรับความรุ่งเรืองในระยะยาวของเรา”

ถึงขณะนี้ดูเหมือนว่านายสุนัคจะเป็นตัวเต็งผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่ ที่จะได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรคนต่อไป

ขณะที่นายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาประกาศถอนตัวเมื่อคืน

ส่วนนางเพนนี มอร์เดินท์ ที่แม้ยังอยู่ในการแข่งขัน แต่ขณะนี้มีเสียงสนับสนุนยังไม่ถึง 100 คนตามกฎ โดยมี ส.ส. ไม่ถึง 30 คน ที่ประกาศต่อสาธารณะว่าพร้อมสนับสนุนเธอ

กราฟิค

ที่มาของภาพ, ฺBBC

เส้นทางการเมือง

นายสุนัคเป็น ส.ส. สมัยแรกเมื่อปี 2015 ในเขตเลือกตั้งริชมอนด์ของมณฑลนอร์ทยอร์กเชียร์ โดยไม่เป็นที่รู้จักของสาธารณชนมากนัก

ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยฯ ในรัฐบาลของนางเทรีซา เมย์ และดำรงตำแหน่งอีกครั้งในรัฐบาลนายบอริส จอห์นสัน เมื่อเดือน ก.ค. 2019 เพื่อตอบแทนที่เขาให้การสนับสนุนนายจอห์นสันอย่างแข็งขัน

กระทั่งเดือน ก.พ. 2020 เขาได้รับการขยับชั้นขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังจากนายซาจิด จาวิด ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวเพราะปัญหาภายในทำเนียบรัฐบาล แต่แล้ว นายสุนัคก็ลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า แนวทางการบริหารเศรษฐกิจของตัวเองแตกต่างจากของนายกฯ จอห์นสันมากเกินไป

นอกจากบทบาทในสภาและในรัฐบาล นายสุนัคมีส่วนสำคัญในการรณรงค์ให้ประชาชนลงมติออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และลงมติสนับสนุนข้อตกลงเบร็กซิทของนางเมย์ทั้ง 3 ครั้งที่ถูกนำเข้าสภา

เบร็กซิท

ที่มาของภาพ, AFP

คะแนนนิยมพุ่งสูง ก่อนตกลง

ในระหว่างทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัฐบาลนายจอห์นสัน นายสุนัคต้องบริหารจัดการเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยใช้งบประมาณมหาศาลถึง 350,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 15.5 ล้านล้านบาท) ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิดและมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้คะแนนนิยมในตัวเขาพุ่งสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามชื่อเสียงของเขาเริ่มเสียหาย จากการถูกตำรวจปรับฐานละเมิดกฎล็อกดาวน์ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีเมื่อ มิ.ย. 2020

เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีผู้ไม่เห็นด้วยกับพรรคคอนเซอร์เวทีฟบางส่วนตั้งคำถามว่า นักการเมืองมหาเศรษฐีผู้นี้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงปัญหาค่าครองชีพที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่หรือไม่

ในเดือนเดียวกันนั้น นายสุนัคและครอบครัวต้องเผชิญกับการตรวจสอบทางการเงินอย่างเข้มข้น ทำให้เรื่องภาษีของ อัคชาตา มูรตี ทายาทมหาเศรษฐี ผู้เป็นภรรยาของเขา ถูกเปิดเผย

ในเวลาต่อมา เธอประกาศว่าจะเริ่มจ่ายภาษีให้แก่สหราชอาณาจักรจากรายได้ที่มาจากต่างประเทศเพื่อลดแรงกดดันที่มีต่อสามี

ด้านพรรคเลเบอร์ได้ตั้งคำถามหลายข้อเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของนายสุนัค รวมถึงกรณีที่เคยได้รับประโยชน์จากการใช้ประเทศหรือดินแดนที่ไม่มีการเก็บภาษีหรือเก็บภาษีต่ำหรือไม่

หนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนต์ ระบุว่า เขาได้รับประโยชน์ โดยมีรายงานที่อ้างว่า เขาเป็นผู้รับผลประโยชน์จากทรัสต์ที่อยู่ในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน และหมู่เกาะเคย์แมน ในปี 2020 แต่โฆษกของนายสุนัคระบุว่า พวกเขา “ไม่ยอมรับ” ข้อกล่าวอ้างเหล่านี้

ริชี สุนัค

พื้นฐานครอบครัว

นายสุนัคเกิดที่เมืองเซาแธมป์ตัน สหราชอาณาจักร ในปี 1980 โดยพ่อแม่ของเขาซึ่งเป็นคนเชื้อสายอินเดีย อพยพมาจากแอฟริกาตะวันออก

พ่อของเขาเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ส่วนแม่มีร้านขายยาเป็นของตัวเอง

เขาเข้าเรียนที่วิทยาลัยวินเชสเตอร์ (Winchester College) โรงเรียนเอกชน และทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองเซาแธมป์ตันช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน จากนั้นเขาได้ศึกษาต่อด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด

ในช่วงที่เขาเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เขาได้พบกับ อัคชาตา มูรตี บุตรสาวของนารายณ์ มูรตี เศรษฐีพันล้านชาวอินเดีย และผู้ร่วมก่อตั้ง Infosys บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านให้บริการไอที ซึ่งกลายเป็นศรีภรรยาของเขาในเวลาต่อมา โดยทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกัน 2 คน

ปี 2001-2004 นายสุนัคเป็นนักวิเคราะห์ในวานิชธนกิจ โกลด์แมนแซคส์ และต่อมาได้เป็นหุ้นส่วนในเฮดจ์ฟันด์ 2 แห่ง

เมื่อเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเข้าสู่โลกการเมือง จึงมีการคาดการณ์กันว่านายสุนัคน่าจะเป็นหนึ่งใน ส.ส. ที่รวยที่สุด แต่เขาไม่เคยพูดถึงความมั่งคั่งของตัวเองอย่างเปิดเผย

ในระหว่างให้สัมภาษณ์บีบีซีเมื่อปี 2019 นายสุนัคเล่าถึงภูมิหลังของตัวเองไว้ว่า “พ่อแม่ของผมอพยพมาที่นี่ คุณมีคนรุ่นที่เกิดที่นี่ พ่อแม่ของพวกเขาไม่ได้เกิดที่นี่ พวกเขามาประเทศนี้เพื่อมาสร้างชีวิต”

นักการเมืองรายนี้นับถือศาสนาฮินดู ไม่ดื่มเหล้า และไปวัดทุกสุดสัปดาห์

เขากล่าวว่า เขาโชคดีที่ไม่ได้เผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติมากนักในช่วงที่เติบโต แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่เขาจำได้ไม่เคยลืม

“ผมออกไปข้างนอกกับน้องสาวและน้องชาย ผมน่าจะอยู่ในช่วงวัยรุ่นกลาง ๆ เราไปที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแห่งหนึ่ง และผมก็กำลังดูแลน้อง ๆ อยู่ มีคนที่นั่งอยู่ไม่ไกลพูดคำที่หยาบคายออกมาคือ คำที่ขึ้นต้นด้วยตัวพี (ตัว P มาจากครับว่า Paki ซึ่งในอังกฤษเป็นคำที่ใช้เหยียดคนที่มาจากเอเชียใต้) นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเจอเหตุการณ์เช่นนี้” นายสุนัคกล่าวกับบีบีซีเมื่อปี 2019

….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว