อินเดีย : 22 ขวบปีของเด็กคนที่ 1 พันล้าน กับภาพสะท้อนปัญหาประชากรล้นประเทศ

  • กีตา ปันเดย์
  • บีบีซีนิวส์, นิวเดลี

อัษฎา อโรรา ลืมตาดูโลกท่ามกลางความสนใจของสังคม

ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเธอถือกำเนิดขึ้นเมื่อเวลา 05:05 น. ของวันที่ 11 พ.ค. ปี 2000 ที่โรงพยาบาลในกรุงนิวเดลี ทารกคนนี้ได้รับการประกาศให้เป็น “ประชากรคนที่ 1 พันล้าน” ของประเทศอินเดีย

เหล่ารัฐมนตรีในรัฐบาลขณะนั้นพากันถ่ายภาพของทารกแรกเกิดผู้นี้ที่ถูกห่อไว้ด้วยผ้าห่มนุ่มนิ่มสีชมพู

การเกิดของอัษฎาทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรแตะหลักพันล้านคนเช่นเดียวกับจีน ซึ่งขณะนั้นเป็นชาติเดียวในโลกที่มีประชากรเกิน 1 พันล้านคน

Aastha Arora just after her birth

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในงานที่จัดขึ้นเพื่อฉลองเหตุการณ์นี้ ไมเคิล วลาสซอฟฟ์ ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund หรือ UNFPA) ประจำอินเดีย กล่าวว่า หนูน้อยอัษฎาเป็นทารกที่ “พิเศษและไม่มีใครเสมอเหมือน”

ส่วนบรรดาเจ้าหน้าที่อินเดียต่างชี้ว่า การเกิดของเธอคือเครื่องเตือนใจให้คิดทบทวนถึงวิธีการควบคุมประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอินเดีย

อย่างไรก็ตาม การถือกำเนิดของหนูน้อยอัษฎาได้กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ทำให้กองทัพผู้สื่อข่าว ซึ่งรวมถึงบีบีซี ตามไปรายงานเรื่องราวของเธอถึงบ้านพักในย่านนาจาฟการห์ ซึ่งเป็นเขตที่พักอาศัยของกลุ่มชนชั้นกลางรายได้ต่ำ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงนิวเดลี

ยี่สิบกว่าปีต่อมา ทีมข่าวบีบีซีชุดเดิมได้เดินทางไปพบกับ “เด็กทารกผู้พิเศษ” คนนี้อีกครั้ง เพื่อดูว่าชีวิตของเธอเป็นอย่างไรในปัจจุบัน

Aastha Arora with a photograph of herself as a baby

อัษฎา ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 22 ปี เปิดประตูต้อนรับทีมข่าวในเช้าวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันเดียวที่เธอมีเวลาว่างจากการทำงานเป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง

พลเมืองคนที่ 1 พันล้านของอินเดียบอกว่า เธอเลิกรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิเศษมานานแล้ว พร้อมเผยว่า คำมั่นสัญญาต่าง ๆ ที่บรรดานักการเมืองเคยให้ไว้ในตอนที่เธอเกิดไม่เป็นจริงเลย

“ฉันอยากเรียนสายวิทย์เพื่อเป็นหมอ แต่พ่อแม่ไม่มีกำลังส่งฉันเรียนโรงเรียนเอกชน ฉันเลยต้องยอมรับสภาพและเรียนพยาบาลแทน”

อัษฎาเอาข่าวของเธอตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่พ่อแม่เก็บสะสมไว้มาให้ทีมข่าวบีบีซีดู นี่คือสิ่งที่ทำให้เธอได้รับรู้ว่าการเกิดของตัวเองเป็นเหตุการณ์ที่สังคมให้ความสนใจมากเพียงใด

กระแสความสนใจในตัวเธอดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยข่าวชิ้นหนึ่งรายงานว่าเธอได้รับเชิญไปงานเปิดตัวเว็บไซต์หนึ่งตอนอายุ 11 เดือน โดยมีรัฐมนตรีสาธารณสุขและตัวแทนของ UNFPA ไปร่วมด้วย

อัษฎาเริ่มรู้ตัวว่าเป็นคนพิเศษตอนที่เธอเข้าโรงเรียน

“ฉันอายุประมาณ 4-5 ขวบตอนที่ได้ยินคำว่าเด็กคนที่ 1 พันล้านเป็นครั้งแรกในวันประชากรโลกของยูเอ็น ซึ่งตอนนั้นมีช่างภาพมาที่โรงเรียน…สำหรับเด็กมันเป็นเรื่องใหญ่มากที่ได้อยู่ในทีวี และฉันก็ชอบที่ได้เป็นจุดสนใจ”

Aastha looks at news reports about her birth

ความสนใจจากสื่อยังส่งผลดีต่อเธอและครอบครัวด้วย เพราะพ่อของเธอเป็นพนักงานขายของที่มีรายได้เดือนละไม่ถึง 2,000 บาท และต้องดิ้นรนหาเงินส่งเสียลูกทั้งสองเรียนหนังสือ

“ทุกปีเวลามีนักข่าวมาทำเรื่องของฉัน มันคือการประชาสัมพันธ์โรงเรียนให้แบบฟรี ๆ เพราะฉะนั้นโรงเรียนก็เลยไม่เก็บค่าเล่าเรียนของฉันตั้งแต่ชั้นปีที่สอง” อัษฎาเล่า

อัษฎาเป็นเด็กเรียนดีและทำกิจกรรมเก่ง ตอนอายุ 16 ปีเธอได้รับรางวัล “นักเรียนมารยาทดี”

แม้จะโดดเด่นทั้งด้านการเรียนและกิจกรรม แต่ปัญหาทางการเงินของครอบครัวก็ทำให้อัษฎาต้องย้ายไปเรียนโรงเรียนรัฐบาลในชั้นปีที่ 11

“ฉันไม่มีความสุขที่โรงเรียนใหม่เลย และมันก็ส่งผลต่อเกรดของฉัน” เธอเล่า พร้อมบอกว่านี่คือจุดจบความฝันในการเป็นหมอของเธอ

แม้ครอบครัวจะยากจน แต่อัญชนา อโรรา แม่ของอัษฎาบอกว่าหลังจากลูกสาวคนนี้ถือกำเนิดเธอรู้สึกมีหวังว่าความฝันต่าง ๆ ของพวกเขาจะกลายเป็นจริงได้อยู่ระยะหนึ่ง

Aastha with her parents and brother

แม้ครอบครัวอโรราจะไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันคำกล่าวอ้างของตน แต่พวกเขาบอกว่า นางสุมิตรา มหาจัน รัฐมนตรีด้านสตรีและการพัฒนาเยาวชนในขณะนั้นให้คำมั่นขณะไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลว่าจะให้อัษฎาได้รับ “การศึกษา บริการสุขภาพ และการโดยสารรถไฟฟรี”

อัญชนาเล่าต่อว่า 2-3 เดือนหลังจากอัษฎาเกิด ส.ส.ชาฮิบ ซิงห์ เวอร์มา ผู้แทนราษฎรในท้องที่ได้ไปเยี่ยมที่บ้าน พร้อมรับปากจะช่วยหางานในภาครัฐให้พ่อของอัษฎา

“พวกเราพยายามติดต่อไปที่สำนักงานของเธอ (นางสุมิตรา มหาจัน) หลายครั้ง แต่ได้รับแจ้งว่าเธอไม่อยู่ทุกครั้ง”

ครอบครัวอโรราบอกว่า ความช่วยเหลือด้านการเงินเดียวที่พวกเขาได้รับคือจาก UNFPA ซึ่งตั้งกองทุนมูลค่า 200,000 รูปี ให้ครอบครัวใช้เป็นค่าเล่าเรียนระดับอุดมศึกษาของอัษฎาเมื่อเธออายุครบ 18 ปี โดยเงินส่วนนี้ ซึ่งภายหลังได้งอกเงยขึ้นมาเป็น 700,000 รูปีได้ถูกนำไปจ่ายค่าเรียนพยาบาลบางส่วนของอัษฎา

นายเวอร์มาเสียชีวิตในปี 2007 ทีมข่าวบีบีซีจึงโทรติดต่อนางสุมิตรา มหาจัน ซึ่งวางมือจากงานการเมืองไปในปี 2019 หลังจากดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาอินเดีย เพื่อสอบถามเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างของครอบครัวอโรรา

นางมหาจัน บอกว่าจำไม่ได้ว่าเคยให้คำมั่นสัญญาตามที่ครอบครัวอ้าง นอกไปจากเงินกองทุนของ UNFPA

“ฉันไปเยี่ยมครอบครัวนี้ไม่ใช่เป็นการส่วนตัว แต่ในฐานะรัฐมนตรี ฉันไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนานหลังจากนั้น แต่ฉันก็ยังอยู่ในนิวเดลี และยังอยู่ในแวดวงการเมือง แต่ทางครอบครัวไม่เคยติดต่อฉันเลย หากพวกเขาเขียนจดหมายถึงฉัน ฉันจะให้ความช่วยเหลืออย่างแน่นอน แม้กระทั่งทุกวันนี้ ถ้าพวกเขาติดต่อมา ฉันก็จะพยายามช่วยเหลือ” เธอชี้แจงต่อบีบีซี

การเฉลิมฉลองการเกิดของประชากรคนที่ 1 พันล้าน ยังหมายถึงช่วงเวลาแห่งการคิดทบทวนอย่างจริงจัง เพื่อสื่อสารกับคนอินเดียว่า การเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วอาจนำไปสู่ปัญหาในประเทศ เพราะจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถให้บริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง และทำให้การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนเป็นไปได้ยาก

India is the second most populated country in the world

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อัษฎาเองก็ใคร่ครวญถึงประเด็นนี้ โดยในวงสนทนาสาธารณะเธอบอกว่าประชากรจำนวนมากของอินเดีย “คือปัญหา”

เธอบอกกับบีบีซีว่า “อินเดียต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อควบคุมจำนวนประชากร” พร้อมชี้ว่า “มันเป็นวัฒนธรรมของเราที่อยากได้ลูกชายมากกว่าลูกสาว นี่จึงทำให้เรามาถึงจุดนี้”

นอกจากนี้เธอมองว่า รัฐบาลจะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อค่านิยมนี้

รัฐบาลอินเดียคาดการณ์เมื่อปี 2000 ซึ่งเป็นปีที่อัษฎาเกิดว่า อินเดียจะแซงหน้าจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกภายในปี 2045

แต่ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติระบุว่าเรื่องนี้อาจเกิดขึ้นได้ภายในปีหน้า หลังจากอินเดียมีประชากรแตะหลัก 1,400 ล้านคน

อัษฎาบอกว่าทุกวันนี้สังคมอินเดีย “มีการแข่งขันสูงในทุกด้าน คนจำนวนมากแย่งกันเข้าโรงเรียน มหาวิทยาลัย และแย่งกันทำงาน”

“ฉันคือเด็กคนที่ 1 พันล้าน แต่อีกไม่นานเราอาจมีเด็กคนที่ 2 พันล้าน ซึ่งฉันหวังว่าเราจะไม่ไปถึงจุดนั้น”

…….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว