ยาน้ำเชื่อมแก้ไอมรณะ พ่อแม่อินโดนีเซียจี้ทางการรับผิดชอบหลังลูกน้อยเสียชีวิต

  • ฟรานซิส เหมา และวาลเดีย บาราปุตรี
  • บีบีซี นิวส์
Agustina Melani and her only child Nadira

ที่มาของภาพ, SUPPLIED

ตอนที่หนูน้อยนาดีราล้มป่วยด้วยอาการไอและไข้หวัดใหญ่ อากุสตินา มาอูลานี ผู้เป็นแม่ได้ซื้อยาน้ำเชื่อมแก้ไอที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอลให้เธอจากศูนย์อนามัยแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของกรุงจาการ์ตา

อากุสตินาเล่าให้บีบีซีฟังว่า “ฉันให้ลูกกินยาทุก 4 ชั่วโมง เพราะไข้ของเธอไม่ยอมลด แม้ลูกจะมีอาการดีขึ้น แต่ไข้ก็กลับมาอีก ท้ายที่สุดลูกก็หยุดถ่ายปัสสาวะ”

หลังจากนั้น นาดีราถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่อาการไม่ดีขึ้น ผลตรวจค่าไตจากห้องแล็บบ่งชี้ว่าเธอมีระดับสารยูเรียและครีอาตินีนสูงเกินค่ามาตรฐาน สารทั้งสองชนิดเป็นของเสียที่สะสมในร่างกายเมื่อไตหยุดทำงาน

“ในที่สุดลูกก็เสียชีวิตลงอย่างรวดเร็ว และความเจ็บปวดทรมานนั้นก็น่าตกใจมาก” อากุสตินาเล่าให้บีบีซีฟังพร้อมน้ำตา

อินโดนีเซียกำลังเผชิญคลื่นการเสียชีวิตที่น่าตกใจของเด็กอย่างน้อย 157 คน ที่เสียชีวิตไปในปีนี้ด้วยภาวะไตวายเฉียบพลัน (acute kidney injury) และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการใช้ยาที่มีสารปนเปื้อน โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุไม่ถึง 5 ขวบ

หนูน้อยนาดีราเสียชีวิตในเดือน ส.ค. ต่อมาในเดือน ต.ค. ทางการอินโดนีเซียระบุว่าเธอคือหนึ่งในเด็กที่เสียชีวิตจากความผิดปกติทางไตที่ไม่สามารถอธิบายได้

ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียสั่งห้ามจำหน่ายยาน้ำทุกชนิด แต่ในเวลาต่อมาได้จำกัดการห้ามขายผลิตภัณฑ์ราว 100 ชนิด ซึ่งเป็นชนิดที่พบอยู่ตามบ้านของเด็กที่ล้มป่วยและเสียชีวิต

บรรดาร้านขายยาทั่วอินโดนีเซียต่างเก็บผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกจากชั้นจำหน่ายสินค้า พร้อมแนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครองบดยาเม็ดให้ลูกหลานที่ล้มป่วยและจำเป็นต้องกินยา

นายบูดี กุนาดี ซาดีคิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียระบุว่า จากการตรวจสอบเด็กที่เสียชีวิตกลุ่มนี้พบว่าร่างกายมีสารอันตราย เช่น เอทิลีนไกลคอล, ไดเอทิลีนไกลคอล และเอทิลีนไกลคอล บิวทิว อีเทอร์

สารไดเอทิลีนไกลคอล และเอทิลีนไกลคอลนั้น มักใช้เป็นส่วนผสมของสารป้องกันการเกิดน้ำแข็งในเครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น รวมทั้งเป็นตัวทำละลายในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น เครื่องสำอาง แต่เป็นการใช้ในระดับความเข้มข้นที่ต่ำมาก องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ระบุว่า ต้องไม่นำสารเหล่านี้มาใช้เป็นส่วนผสมในยา

นายซาดีคิน ระบุว่า “มีการยืนยันว่า สารเหล่านี้ทำให้เกิด (ภาวะไตวายเฉียบพลัน)”

กรณีที่พบในอินโดนีเซียเกิดขึ้นหลังจากมีรายงานการเสียชีวิตของเด็กเกือบ 70 คนในประเทศแกมเบีย โดย WHO ระบุว่า ตรวจพบปริมาณที่สูงเกินจะยอมรับได้ของสารไดเอทิลีนไกลคอล และเอทิลีนไกลคอลในยาน้ำเชื่อมแก้ไอผลิตในอินเดียที่ส่งไปขายในแกมเบีย

ขณะนี้ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นใน 2 ประเทศมีความเกี่ยวข้องกัน โดยทางการอินเดียและบริษัทไมเดนฟาร์มาซูติคอลส์ ระบุว่ายาน้ำเชื่อมแก้ไอ 4 ชนิดที่มีปัญหานั้นส่งไปจำหน่ายที่แกมเบียเพียงประเทศเดียว ขณะที่ทางการอินโดนีเซียระบุว่า ยาน้ำเชื่อมแก้ไอที่วางขายในประเทศไม่ได้นำเข้าจากอินเดีย

เมื่อ 24 ต.ค. สำนักงานอาหารและยาของอินโดนีเซีย หรือ BPOM ระบุว่าจะสอบสวนบริษัทผู้ผลิตยา 2 แห่งที่เพิ่งเปลี่ยนผู้จัดหาสินค้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตยา จากเดิมคือบริษัทผู้จัดหาสินค้าด้านเวชภัณฑ์มาเป็นผู้จัดหาสินค้าด้านเคมีภัณฑ์

pharmacist takes medicine off shelves

ที่มาของภาพ, EPA

ขณะนี้อินโดนีเซียมีเด็กที่เข้ารักษาอาการไตวายเฉียบพลันหลายสิบคน และได้ร้องขอความช่วยเหลือจากสิงคโปร์และออสเตรเลียให้ช่วยจัดส่งยาต้านพิษหายากที่เรียกว่า “โฟมีพิโซล” (fomepizole) เพื่อใช้รักษาเด็กเหล่านี้

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นสร้างความตกตะลึงให้อินโดนีเซีย โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินอินโดนีเซียได้วิพากษ์วิจารณ์กระทรวงสาธารณสุขและ BPOM ว่าดำเนินมาตรการไม่เพียงพอในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ยาที่วางจำหน่ายในท้องตลาดว่ามีมาตรฐานตามที่กำหนดไว้หรือไม่

ศาสตราจารย์ เอริก ชาน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า รู้สึกประหลาดใจที่ยังคงได้ยินข่าวการเสียชีวิตลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง และบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียว่า “มหันตภัยต่อมวลมนุษย์”

เขาระบุว่า ในอดีตมีการใช้สารไดเอทิลีนไกลคอลเพื่อทำให้ยามีรสชาติหวานขึ้น แต่ก็เป็นสารที่มีพิษ

ศ. ชาน อธิบายว่า เมื่อไดเอทิลีนไกลคอลเข้าสู่ร่างกายก็จะทำให้เกิดกรดไกลโคลิคสะสม และทำลายเซลล์ในไต ซึ่งจะทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที และการถ่ายปัสสาวะลดลงคือสัญญาณเบื้องต้นที่บ่งชี้ถึงภาวะไตวาย

เขาบอกว่า การพบกรณีนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศอินโดนีเซียบ่งชี้ว่าบริษัทผลิตยามีเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง ขณะที่เจ้าหน้าที่การแพทย์ตามสถานพยาบาลท้องถิ่นอาจไม่คุ้นเคยกับการรับมือผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ ดังจะเห็นได้จากการที่เด็กถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลหนึ่งไปรักษาที่อีกโรงพยาบาลหนึ่ง พร้อมเตือนว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มสูงขึ้น

Umar Abu Bakar

ที่มาของภาพ, SUPPLIED

ที่เมืองเบอกาซี ทางตะวันออกของกรุงจาการ์ตา ซิตี สุฮาร์ดิยาตี จำใจต้องเก็บกวาดของเล่นลูกชายที่วางอยู่ตามพื้น

อูมาร์ อาบู บาการ์ อายุเพียง 2 ขวบตอนที่เขาเสียชีวิตเมื่อ 24 ก.ย. เขาได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการไตวายเช่นกัน

2 สัปดาห์ก่อนตาย หนูน้อยอูมาร์มีอาการหวัด ไข้สูง และท้องร่วง ซิตีผู้เป็นแม่จึงพาเขาไปรักษาที่คลินิกท้องถิ่น

แพทย์ได้จ่ายยามาให้ 3 ชนิด รวมถึงยาพาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อม แต่ 3 วันต่อมาอูมาร์ก็หยุดถ่ายปัสสาวะ

ซิตีเล่าว่า “ฉันมักเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกตอนเช้า และผ้าอ้อมมักจะเต็ม แต่ครั้งนี้ไม่มีอะไรเลย”

หนูน้อยอูมาร์ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลท้องถิ่น ก่อนจะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลในกรุงจาการ์ตา แต่มันก็สายเกินไป

“ทำไมถึงมีสารอันตรายอยู่ในยาน้ำเชื่อมแก้ไอนี้ได้ ถ้ามันผ่านการอนุมัติจาก BPOM แล้ว มันควรได้รับการตรวจสอบ” ซิตีตัดพ้อ

อากุสตินา แม่ของหนูน้อยนาดีราก็ต้องการคำตอบเช่นกัน

“หากนี่คือการปล่อยปละละเลย…พวกเราขอเรียกร้องให้หาผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูก ๆ ของพวกเรา” เธอกล่าว

……….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว