เลือกตั้ง 2566 : เช็กชื่อ ส.ส. ย้ายค่าย มองปรากฏการณ์ “ดูด” กระจายในการเมืองไทย

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์วิเคราะห์ 6 ปัจจัยที่ทำให้ ส.ส. หลายสิบชีวิตย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย (ภท.) สร้างปรากฏการณ์ “ดูด” ครั้งใหญ่ทางการเมือง

ตลอดเดือน ธ.ค. มี ส.ส. อย่างน้อย 32 คน จาก 10 พรรคการเมือง ยอมยุติบทบาทในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ก่อนกำหนดทั้งที่เหลือวาระอีก 3 เดือน เพื่อเคลียร์สถานะตามกฎหมาย-ย้ายเข้าต้นสังกัดใหม่ หลัง ภท. กำหนดดีเดย์เปิดบ้านต้อนรับสมาชิกพรรคชุดใหม่ 16 ธ.ค. นี้

ผลจากการลาออกของ ส.ส. ล็อตใหญ่ ทำให้เหลือ ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 442 คน แบ่งเป็น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 250 คน และฝ่ายค้าน 192 คน ขณะที่องค์ประชุมอยู่ที่ 221 คน นั่นหมายความว่า รัฐบาลมีเสียงเกินองค์ประชุมอยู่ 29 เสียง แต่ถ้าหักเสียงรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. จำนวน 12 คนออกไป รัฐบาลก็จะเหลือเสียงในสภา 238 เสียง เกินองค์ประชุมมา 17 เสียง

อนุทิน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา นายอนุทิน ชาญวีรกูล ถ่ายภาพกับลูกพรรคในระหว่างการประชุมสภา

นั่นทำให้คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ระบุว่า “ต้องเตรียมแผนรองรับ” อย่างไรก็ตามนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานวิปรัฐบาล แสดงความเชื่อมั่นว่า การลาออกของ ส.ส. จะไม่กระทบต่อองค์ประชุมของสภา และมั่นใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลยังสามารถประสานงานเพื่อขับเคลื่อนงานต่อไปได้

ขณะที่ ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามผ่านบีบีซีไทยว่า ใครจะเป็นคนแบกต้นทุนของการไป “ดูด” ส.ส. เข้ามาจำนวนมหาศาล เพราะการคุมคนต้องมีการ “ตกรางวัล” และ “ลงโทษ”

ปรากฏการณ์ “ดูด” กระจายในหลายพรรค

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดปรากฏการณ์ “ดูด-ดึง” นักการเมืองข้ามค่าย ก่อนการเลือกตั้ง 2562 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร 2557 เป็นนายกฯ ในสมัยที่สอง เคย “ดูด” และ “ช้อน” อดีตนักการเมืองระดับชาติจากพรรคต่าง ๆ ราว 60 ชีวิตเข้าไปไว้ในสังกัด ไม่เว้นแม้กระทั่งนักเลือกตั้งต่างเฉดอุดมการณ์อย่างพรรคเพื่อไทย (พท.)

“อันนี้แสดงให้เห็นว่า สีไหน อุดมการณ์ไหนก็ไม่สำคัญ มันเลยทำให้ความสำคัญ เปลี่ยนจากพรรคการเมือง ไปอยู่ที่ตัวบุคคล ก๊กการเมือง หรือบ้านการเมือง สภาพการณ์การเมืองไทยจึงย้อนกลับไปสู่ยุคก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 คือถ้าพรรคไหนอยากชนะเลือกตั้ง ต้องซื้อคนให้ได้มากที่สุด” ดร.เข็มทองระบุ

สามมิตร
AFP/Getty Images นายสมศักดิ์ เทพสุทิน (คนที่ 2 จากซ้ายมือ) และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (คนที่ 4 จากซ้ายมือ) เป็นแกนนำกลุ่ม “วังน้ำยม” เมื่อครั้งสังกัด ทรท. โดยปัจจุบันทั้งคู่เป็นแกนนำกลุ่ม “สามมิตร” ใน พปชร.

ในห้วงเวลานั้น นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษบีบีซีไทย โดยจำแนกอดีต ส.ส. ที่ไหลออกจาก พท. ตามแรง “ดูด” ว่ามีคนอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ 1. คนมีคดี จะได้หลุดคดี 2. คนเป็นหนี้ อยู่ ๆ เอาเงินก้อนใหญ่มาให้ก็น่าสนใจ และ 3. คนมั่น ที่คิดว่าคะแนนนิยมของตัวเองดี

เมื่อกลับมามองปรากฏการณ์ “ดูด” ก่อนการเลือกตั้ง 2566 อาจารย์เข็มทองเห็นว่า การทำกิจกรรมทางการเมือง การลงพื้นที่ต้องควักกระเป๋า ทำให้ ส.ส. อ่อนไหวต่อการถูกดูด

“ในยุคทักษิณ (2544-2549) เป็นการซื้อยกกลุ่ม ควบรวมมุ้งต่าง ๆ ดูดเข้าไปในบ้านไทยรักไทย เราจึงไม่ค่อยเห็นปัญหาระหว่างพรรครัฐบาลกับฝ่ายค้าน เพราะการเป็นฝ่ายค้านมันอดอยากปากแห้ง ทุกคนอยากเป็นรัฐบาลทั้งนั้น เลยเข้าไปเป็นมุ้งย่อยภายในไทยรักไทย ปัญหาจึงย้ายไปอยู่ภายในพรรค โดยที่คุณทักษิณต้องลงมาจัดการในร่มไทยรักไทย แต่การดูดในครั้งนี้มันต่างออกไป มันกระจัดกระจาย และก็ทำกันหลายพรรค” ดร.เข็มทองกล่าว

“พล.อ. ประยุทธ์เป็นหมากตายในกระดาน”

ดร.เข็มทองให้ความสนใจกับปรากฏการณ์ พปชร. “ดูด” นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคเศรฐกิจใหม่ (ศม.) และอดีตหัวหน้าพรรคโอกาสไทย เข้าสังกัด เพราะเมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ออกไป  ก็ทำให้นักการเมืองที่พูดว่าจะไม่จับมือกับ พปชร. โล่งอก-มีทางลง

“พอเป็นพลังประชารัฐซึ่งไม่ใช่แบบเดิมที่เป็น ‘พรรคประยุทธ์’ เป็นพลังประชารัฐ  2.0 ก็พอจับมือได้” และ “พล.อ. ประยุทธ์เป็นหมากตายในกระดาน พอเขาไม่อยู่ในพลังประชารัฐ จึงเปิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในทางการเมือง”

นักวิชาการสำนักตามจุรีเชื่อว่า การแยกทางระหว่างพี่น้อง 2 ป. – พล.อ. ประยุทธ์ กับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า พปชร. – ไม่ได้เกิดจากการวางยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์” ระหว่าง พปชร. กับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) แต่เป็นการ “หาทางลง” ของตัว พล.อ. ประยุทธ์ เอง เพราะไปต่อไม่ได้แล้วทางการเมือง เนื่องจากเหลือวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ เพียง 2 ปี มีบาดแผลเต็มตัว ที่สำคัญคือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ พปชร. ไม่สามารถไปจับมือกับพันธมิตรอื่น ๆ ได้

ในทัศนะของ ดร.เข็มทอง สิ่งที่ต่างออกไปจากช่วงก่อนเลือกตั้ง 2562 คือ “การไม่เห็นสัญญาณคนเดินหมากประยุทธ์มาสักพักหนึ่งแล้ว”

“ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มีความต้องการหลักประกัน ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์เป็นหลักประกันที่ดีที่สุดของชนชั้นนำ แต่ตอนนี้ระบบค่อนข้างนิ่ง ผ่านวิกฤต ไม่มีคลื่นลมอะไรที่สำคัญ ไม่มีใคร ‘ทะลุเพดาน’ จึงไม่จำเป็นต้องเป็น พล.อ. ประยุทธ์ อีกต่อไป” เขาวิเคราะห์

ลุงตู่

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

6 ปัจจัยที่ทำให้นักเลือกตั้งไหลเข้า ภท.

อย่างไรก็ตามพรรคที่สร้างปรากฏการณ์ “ดูด” หรืออาจถึงขั้น “สูบ” ส.ส. ล็อตใหญ่เข้าพรรคในการเลือกตั้งที่ใกล้มาถึง หาใช่ พปชร. ไม่ หากแต่เป็นพรรคอันดับสามในสภาอย่าง ภท.

แม้แต่ ส.ส. ที่ไม่มีพื้นที่อย่าง ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ภท. ก็ยังดึงเข้าไปร่วมงานกับพรรค ซึ่งในช่วงกลางเทอมของสภา ดร.เข็มทองเข้าใจว่าเป็นเพราะหวังผลเรื่องการโหวตในสภา แต่เมื่อถึงฤดูเลือกตั้ง ยังมองไม่เห็นเหตุผลที่ชัดเจนไม่ออก แต่เป็นไปได้ว่าต้องการ “โชว์ศักยภาพของพรรค”

แม้ ภท. ไม่ใช่พรรคที่ได้เปรียบจาก “กติกาใหม่” ภายหลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยกการตัดสินใจเลือกระหว่าง ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซ้ำยังใช้สูตรหาร 100 คำนวณยอดหายอด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่แต่ละพรรคพึงมีได้ ทว่า ภท. กลับเป็นพรรคการเมืองที่ “เนื้อหอม” แบบสุด ๆ และเป็นที่หมายปองของบรรดานักเลือกตั้งอาชีพ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.เข็มทองมีข้อวิเคราะห์ สรุปได้ ดังนี้

  • ภท. เป็นตัวเลือกที่สมเหตุสมผลสำหรับที่นักการเมืองที่ไม่ต้องการมีภาพเกี่ยวข้องกับเผด็จการอย่างชัดแจ้ง หรือมีภาพของ พล.อ. ประยุทธ์ทับซ้อน
  • นักการเมืองเหล่านั้นไม่เชื่อว่าชื่อทักษิณยังขายได้อยู่
  • นักการเมืองเหล่านั้นทำนายว่า พปชร. หมดอนาคตการเมืองแล้ว ไม่สามารถชนะเลือกตั้ง หรือเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ดังเดิม
  • ภท. ไม่ถูกผูกมัดด้วยภูมิภาคนิยม แม้มีฐานการเมืองแรกเริ่มที่ จ.บุรีรัมย์
  • ภท. เป็นพรรค “ปฏิบัตินิยม” และ “จัดให้ได้” ตามคำขอ

ภท. มีโอกาสขยับชั้นทางการเมือง จากปัจจุบันที่เป็นพรรคอันดับสามของสภา เพราะครั้งนี้ “ดูเหมือนจะคิดใหญ่ขึ้น” สะท้อนผ่านคำให้สัมภาษณ์ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่พร้อมเสนอตัวเป็นนายกฯ คนที่ 30

“ภูมิใจไทยไม่มีภาระต้องแบกคุณทักษิณ หรือ พล.อ. ประยุทธ์ อุดมการณ์ไม่มี อะไรก็ได้ passion (ความมุ่งมาดปรารถนา) กลาง ๆ จุดหมายเดียวคือชนะ เขาจึงไม่มีข้อจำกัดที่จะจับมือกับใครก็ได้” ดร.เข็มทองกล่าว

“มันนี่ โพลิติก” ผลที่ตามมาหลังเลือกตั้ง 66

ตลอดวาระของสภาชุดที่ 25 ดร.เข็มทองเห็นว่า ภท. คุมแนวพรรคตัวเองได้ค่อนข้างดี แต่การคุมตรงนี้ต้องมีการ “ตกรางวัล” และ “ลงโทษ” แล้วใครเป็นคนแบกต้นทุนของการไปดูดคนเข้ามา

เขาจึงชี้ชวนให้สังคมร่วมกันจับตามองผลที่ตามมาหลังปรากฏการณ์ “ดูด” ล็อตใหญ่ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง 2566

“ที่ผ่านมา มีการพูดเรื่องการ ‘แจกกล้วย’ ในสภา เป็นความลับที่ปิดกันให้แซด รู้กันทั่วไปเลย เรื่องเล่าที่เคยได้ยินกันมาในยุคก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 มันกลับมาหลังการเลือกตั้ง 2562 และถ้ามองถึงการเลือกตั้ง 2566 ที่มีการดูดขนาดนี้ มันย่อมต้องใช้เงินจำนวนมากในการทำให้คนอยู่ในแถว ปัญหาคือการเมืองที่ใช้เงินจำนวนมากขนาดนี้ จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย”

อย่างไรก็ตามนักรัฐศาสตร์รายนี้ยอมรับว่า ผู้คนในสังคมบางส่วนเริ่มชาชินกับสิ่งที่เกิดขึ้น หลังผู้มีอำนาจปล่อยให้มีการ “ดูด” และ “แจกกล้วย” โดยไม่มีการระงับการกระทำหรือเอาผิด ทำให้ปทัสถานการเมืองไทยเปลี่ยนไป เปรียบเหมือนปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ปีแรก ๆ ผู้คนตกใจ ก่อนทน ๆ กันไป อยู่ด้วยกันไป โดยที่รู้ว่าอาจจะทำให้เป็นมะเร็งนะ แต่ยังไม่ตายตอนนี้ รออีก 10 ปี

เข็มทอง
BBC Thai ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

“สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ขอบฟ้าของประชาชนหดลง ถ้าประเทศนี้เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย คนก็ settle (ตัดสินใจ) กับผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่อยู่ใกล้ตัว จับต้องได้ เหนือผลประโยชน์เชิงอุดมการณ์ที่เป็นเรื่องระยะไกล กว่าจะเปลี่ยนแปลงได้ต้องใช้เวลาอีก 10-20 ปี และยิ่งเศรษฐกิจแย่จนคนต้องดิ้นรน ทุกอย่างมันบีบให้โหวตเตอร์เหลือจินตนาการการเมืองนิดเดียว” ดร.เข็มทองกล่าวทิ้งท้าย

line

BBC

เปิดรายชื่อ ส.ส. หน้าเก่า ย้ายเข้าค่ายใหม่ก่อนเลือกตั้ง 2566

บีบีซีไทยรวมรวมรายชื่อนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 เฉพาะที่เป็น  ส.ส. ซึ่งไปเปิดหน้า-เปิดตัวสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว และกำลังจะเปิดตัวเข้าสังกัด ภท. 16 ธ.ค. นี้

พรรคภูมิใจไทย (ภท.)

ตลอดเดือน ธ.ค. มี ส.ส. ทยอยยื่นหนังสือลาออกต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยล็อตใหญ่อยู่ในช่วง 13-15 ธ.ค. หลังแกนนำ ภท. เปิดเผยกำหนดการ “ต้อนรับสมาชิกพรรคใหม่” ในวันที่ 16 ธ.ค. โดยคาดว่าจะมีนักการเมืองอย่างน้อย 32 คน จาก 10 พรรคการเมือง ดังนี้

พรรคพลังประชารัฐ 11 คน ได้แก่ 1. นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม. 2. นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. 3. น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. 4. นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม 5. นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท 6. นายประทวน สุทธิอํานวยเดช ส.ส.ลพบุรี 7. นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี 8. นายอัฏฐพล โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี 9. นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี 10. นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก 11. นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ

พรรคเพื่อไทย 8 คน ได้แก่ 1. นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. 2. นายนพ ชีวานันท์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา 3. นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก 4. นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก 5. นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา 6. นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี 7. นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ 8. นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.เชียงราย ลาออกเมื่อ 1 ธ.ค. (ยื่นหนังสือลาออกเมื่อ 1 ธ.ค.)

นอกจากนี้ยังมี ส.ส. สังกัด พท. อีก 2 คนซึ่งแม้ยังไม่ยื่นใบลาออกจากการเป็น ส.ส. และประกาศว่าจะนั่งเก้าอี้ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะยุบสภา หรือครบวาระของสภา ทว่าในการเลือกตั้งสมัยหน้า ทั้งคู่จะไม่อยู่กับค่ายเดิมแน่นอนแล้วคือ นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ และนางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ ที่แจ้งสื่อมวลชนว่าจะส่งภรรยาคือ นางอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ และสามีคือ นายปวีณ แซ่จึง ลงสนามแทนในนาม ภท. และเตรียมไปร่วมแสดงความยินดีในงานเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของ ภท. ด้วย

พรรคก้าวไกล 5 คน ได้แก่ 1. นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี 2. นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย 3. นายพีรเดช คําสมุทร ส.ส.เชียงราย 4. นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5. นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรคเศรษฐกิจไทย 2 คน ได้แก่ 1. นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก 2. นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี

พรรคประชาธิปัตย์ 1 คนคือ น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี

พรรคเสรีรวมไทย 1 คนคือ นายเดชทวี ศรีวิชัย ส.ส.ลำปาง

พรรคเพื่อชาติ 1 คนคือ นายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรครวมพลัง 1 คนคือ น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรคชาติพัฒนากล้า 1 คนคือ นายสมัคร ป้องวงษ์ ส.ส.สมุทรสาคร

พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คนคือ น.ส.นันทนา สงฆ์ ประชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ส.ส. พรรคภูมิใจไทยร่วมถ่ายภาพหมู่กลางสภา
Thai News Pix ส.ส. พรรคภูมิใจไทยร่วมถ่ายภาพหมู่กลางสภา

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

พรรคแกนนำรัฐบาลทยอยเปิดตัวอดีต ส.ส. ที่ย้ายเข้าสังกัด พปชร. อย่างน้อย 2 คน โดยมาจาก 2 พรรคการเมือง ดังนี้

พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คนคือ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรค ศม. ซึ่งต่อมาได้ลาออกจากการเป็น ส.ส. เมื่อเดือน ก.พ. ก่อนย้ายไปสังกัดพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคโอกาสไทย โดยที่เขาได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค แต่แล้วนายมิ่งขวัญก็ทิ้งพรรคหลังอีกครั้ง แล้วย้ายไปเปิดตัวในนาม พปชร. เมื่อ 6 ธ.ค. และอ้างว่าหัวหน้าพรรครับปากจะเสนอชื่อเขาเพื่อพิจารณาเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของ พปชร.

พรรคประชาธิปัตย์ 1 คนคือ นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ซึ่งมีกำหนดการเปิดตัวภายใต้ต้นสังกัดใหม่ 13 ธ.ค. แต่พอถึงวันจริง เจ้าตัวรู้สึกไม่สบาย และเกรงติดเชื้อโควิด-19 จึงไม่ได้ไปงานแถลงข่าว

พรรคเพื่อไทย (พท.)

พท. รับสมาชิกใหม่จากขั้วฝ่ายค้านด้วยกัน โดยมาจาก 1 พรรคการเมือง ดังนี้

พรรคก้าวไกล 1 คนคือ นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ หรือ “ทนายบิลลี่” ส.ส.กทม. เปิดตัวเป็นเป็นสมาชิก พท. เมื่อ 10 พ.ย.

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ท่ามกลางกระแส “เลือดเก่าไหลออก” ปชป. ก็มี “เลือดใหม่ไหลเข้า” ด้วยเช่นกัน โดยมาจาก 1 พรรคการเมือง ดังนี้

พรรคพลังประชารัฐ 1 คนคือ น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ “มาดามเดียร์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ เปิดตัวเป็นสมาชิก ปชป. เมื่อ 22 ก.ย.

พรรคไทยภักดี (ทภด.)

พรรคการเมืองอายุ 1 ปี ก่อตั้งโดยอดีตนักการเมืองค่าย ปชป. ได้อดีตผู้แทนฯ ที่เป็น “เกลอร่วมพรรค” ไปร่วมงานแล้ว 1 คน ดังนี้

พรรคประชาธิปัตย์ 1 คนคือ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา และอดีต รมช.คมนาคม ที่พ้นจากสถานภาพ ส.ส. ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 8 ธ.ค. 2564 กรณีต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลจาก “คดีกบฏ กปปส.” ไดเปิดตัวเป็นสมาชิก ทภด. เมื่อ 29 ก.ย. 2565 และมีตำแหน่งเป็นประธานพรรคด้วย

พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

พรรคการเมืองน้องใหม่ที่คาดว่าจะเป็น “ฐานการเมืองใหม่” ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อตั้งโดยอดีตคน ปชป. เช่นกัน และกำลังรวบรวมไพร่พลเข้าสังกัดอยู่ ซึ่งถึงขณะนี้มี ส.ส. จากสภาชุดปัจจุบันไปร่วมงานอย่างน้อย 1 คน ดังนี้

พรรคประชาธิปัตย์ 1 คนคือ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช ที่แจ้งผู้บริหาร ปชป. ว่าจะขอย้ายไปสังกัด รทสช. และไม่ได้ไปงานเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช ของ ปชป. เมื่อ 12 พ.ย. อย่างไรก็ตามขณะนี้เธอยังไม่ได้ลาออกจากการเป็น ส.ส. แต่อย่างใด

………

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว