วันเด็ก : เปิดโมเดล “เด็กในฝัน” ผ่าน 9 คำขวัญวันเด็กของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

วันเด็กแห่งชาติประจำปี 2566 เป็นอีกปีหนึ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีโอกาสเป็นผู้มอบคำขวัญวันเด็ก ซึ่งเป็นคำขวัญที่ 9 นับตั้งแต่ปี 2558 ที่เขาได้มอบคำขวัญวันเด็กเป็นครั้งแรกหลังก้าวขึ้นสู่การเป็นนายกฯ คนที่ 29 ของไทยขณะที่ควบเก้าอี้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี” คือ คำขวัญวันเด็กประจำปี 2566 ซึ่งตรงกับวันที่ 14 ม.ค

จำนวนคำขวัญที่ผู้นำประเทศไทยมีโอกาสมอบให้แก่เด็ก ๆ แปรผันไปตามระยะเวลาการครองอำนาจของพวกเขา นั่นทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีโอกาสมอบคำขวัญวันเด็กแห่งชาติชิ้นที่ 9 ให้แก่เด็กไทยในปี 2566 ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ก้าวขึ้นมาครองแชมป์นายกฯ ที่มอบคำขวัญวันเด็กมากที่สุด ร่วมกับจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ฝากคำขวัญวันเด็กไว้มากที่สุดรวม 9 คำขวัญ (ปี 2508-2516)

บีบีซีไทยย้อนดูคำขวัญวันเด็ก และสารนายกรัฐมนตรีเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มักนำไปประกอบพิธี “อ่านสารหน้าเสาธง” ให้นักเรียนได้ฟัง คิด และนำไปปรับใช้กับชีวิต หรืออย่างน้อยก็จำไปตอบคำถามแลกรางวัลเมื่อวันเสาร์ที่สองของเดือน ม.ค. มาถึง

เยาวชนแบบไหนคือ “เด็กในฝัน” ของผู้นำวัย 68 ปี ซึ่งมักเรียกแทนตัวเองว่า “ลุง” ในยามต้องพูดคุยกับเด็ก ๆ ร่วมถอดรหัสจากสิ่งที่เขาสื่อสารในรอบ 8 ปีกว่าที่ผ่านมา

2558 : ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต

พล.อ. ประยุทธ์มีโอกาสมอบคำขวัญวันเด็กครั้งแรกเมื่อปี 2558 หรือผ่านมากว่าครึ่งปีหลังเป็นผู้นำก่อรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 และก้าวขึ้นสู่การเป็นนายกฯ คนที่ 29 ของไทย ควบเก้าอี้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต” คือคำขวัญวันเด็กประจำปี 2558 ซึ่งเจ้าของคำขวัญอธิบายว่า มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง นอกจากความรู้ที่ได้บ่มเพาะจากครอบครัวและโรงเรียนแล้ว ควรได้รับการปลูกฝังให้ตระหนักถึงหน้าที่ของตน หมั่นศึกษาเล่าเรียน เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความใฝ่รู้ ใฝ่ดี ตลอดจนมีจิตสาธารณะ รู้จักการทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม คำนึงถึงประเทศชาติ โดยมีคุณธรรมนำจิตใจ

พล.อ. ประยุทธ์ เปรียบเปรยเด็กและเยาวชนเป็นเสมือน “ต้นกล้าทรัพยากรมนุษย์” ที่ผู้ใหญ่มีหน้าที่เลี้ยงดู อบรมสั่งสอน ให้การศึกษา บ่มเพาะสติปัญญาให้เติบโตสมบูรณ์ รวมถึงต้องได้รับการปลูกฝังค่านิยมทัศนคติที่ถูกต้อง เพื่อให้มีความเพียบพร้อมทั้งความรู้ ความคิดที่ถูกต้อง มีเหตุผล มีจิตใจที่มีคุณธรรม จริยธรรม

ที่สำคัญคือ “ต้องรู้ค่านิยมไทย 12 ประการ” และ “มีความภาคภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย”

สำหรับ “ค่านิยม 12 ประการ” เป็นนโยบายของ คสช. ที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็น “ค่านิยมหลักของคนไทย” ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้นำไปแต่งเป็นบทเพลง/บทอาขยาน ส่งให้นักเรียนตั้งแต่ ป. 1-ม. 6 ได้ร้องและท่องจำ

2559 : เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต

ในปีที่สองของการมอบคำขวัญให้เด็ก ๆ พล.อ. ประยุทธ์ย้ำว่าต้องการให้เยาวชนไทยตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตน ประพฤติปฏิบัติตนเป็น “เด็กดี” จึงมอบคำขวัญวันเด็กประจำปี 2559 ไว้ว่า “เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต”

นายกฯ วัยเกษียณให้ความหมายของคำว่า “เด็กดี” ไว้ว่า “คิดดี พูดดี มีจิตใจดี มีความมั่นเพียร และไม่ย่อท้อในการเรียนรู้วิชาการแขนงต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญาของตน มีความกตัญญูรู้คุณ เชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา ครูอาจารย์ รู้จักหน้าที่มีความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติในอนาคต”

2560 : เด็กไทย ใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง

ปี 2560 ถือเป็นครั้งแรกที่ พล.อ. ประยุทธ์ ใส่มิติความมั่นคงลงไปในคำขวัญวันเด็กว่า “เด็กไทย ใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง” พร้อมเผยความมุ่งหมายในใจว่าต้องการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมความเป็นไทย มีความจงรักภักดีในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพื่อจะได้เติบโตเป็นทั้งคนเก่งและคนดีของประเทศชาติ

พล.อ. ประยุทธ์ยังขอให้เด็ก ๆ “น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อความสุข ความเจริญรุ่งเรืองแก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ”

2561 : รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี

นอกจากส่งความรักและความปรารถนาดีให้แก่เด็กและเยาวชนไทยเฉกเช่นทุกปี ในปีที่รัฐบาลประกาศนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ผู้นำรัฐบาลจึงบรรจงบรรจุคำว่าเทคโนโลยีลงไปในคำขวัญประจำปี 2561 ว่า “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” แต่มิลืมเตือนเด็กไทยไม่ให้ลืมรากเหง้าความเป็นไทย

พล.อ. ประยุทธ์ชี้ว่า ในช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ เด็ก ๆ ควรได้รับการส่งเสริมให้มีความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อให้มีความรู้ทั้งในด้านวิชาการ และทักษะในการใช้ชีวิต

คาถาที่เขามอบให้เด็ก ๆ คือต้อง “รู้จัก” สารพัดสิ่ง ทั้งรู้จักคิด, ใช้เหตุผล, วิเคราะห์อย่างเป็นระบบ, แยกแยะความผิดถูก และเป็นผู้ที่มีทัศนคติในทางบวก

“ต้องหมั่นเรียนรู้ตลอดชีวิต และสามารถปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะการมีองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ในยุคประเทศไทย 4.0 ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตสำหรับโลกศตวรรษที่ 21 รวมทั้งมีความรักชาติบ้านเมือง มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพื่อธำรงความเป็นชาติไทยให้คงอยู่ต่อไป” สารนายกฯ ระบุตอนหนึ่ง

2562 : เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ

ในเวลา 2 เดือนเศษก่อนที่ พล.อ. ประยุทธ์กำลังจะพ้นจากอำนาจในฐานะผู้นำรัฐบาล คสช. เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มี.ค. 2562 เขามอบคำขวัญทิ้งทวนให้เด็กไทย

นี่เป็นอีกครั้งที๋ พล.อ. ประยุทธ์เปรียบเปรยเด็กและเยาวชนเป็น “ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของประเทศ” ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพจึงต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย ทั้งในด้านการพัฒนาการด้านสติปัญญา ด้านวิชาการ และด้านทักษะทางอารมณ์อย่างสมดุล พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดความกล้าที่จะคิดและทำสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ เพื่อให้เติบโตเป็น “คนเก่ง” และ “คนดี” ของสังคม

ส่วนคำขวัญประจำปี 2562 ที่ว่า “เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ” นายกฯ มุ่งหวังให้เยาวชนไทย “น้อมนำแนวทางจิตอาสาพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาสืบสานต่อยอดพระราชปณิธานของพระองค์ในการเป็นผู้ให้ มีจิตใจโอบอ้อมอารี และอุทิศตนเพื่อส่วนรวม รวมทั้งตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนเองด้วยใจที่รักและยึดมั่นต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และตั้งใจศึกษาเล่าเรียน หมั่นพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อเด็กและเยาวชนมีจิตอันเป็นสาธารณะประกอบกับความรู้ความสามารถแล้ว ก็จะสามารถปฏิบัติตนให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและประเทศชาติต่อไป”

2563 : เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย

ส่วนคำขวัญวันเด็กชิ้นที่ 6 ทว่าเป็นปีแรกที่ พล.อ. ประยุทธ์ปรับสถานะจาก “นายกฯ ที่มาจากการรัฐประหาร” เป็น “นายกฯ ที่มาด้วยการสนับสนุนของนักการเมืองหลังการเลือกตั้ง” เขาจงใจปลุกจิตสำนึกของเด็กไทยผ่านคำขวัญที่ว่า “เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย” โดยหวังให้เด็ก ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของตนเองในฐานะ “พลเมืองของชาติ” ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต.. กล้าคิดกล้าแสดงออกในทางสร้างสรรค์ มีทัศนคติเชิงบวก ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

“ร่วมกันสร้างสังคมแห่งความรักความสามัคคี โดยการน้อมนำแนวทางอุทิศตนเป็นผู้ให้และเสียสละเพื่อส่วนรวมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาสร้างคุณประโยชน์แก่สังคม และประเทศชาติ ซึ่งจะเป็นการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของชาติ ที่จะส่งเสริมให้สังคมและปรเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป” สารของนายกฯ ระบุ

2564 : เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดี มีคุณธรรม

ตลอดปีที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ต้องบริหารประเทศท่ามกลางเสียงตะโกนขับไล่จากขบวนการนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ซ้ำยังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนในสังคมต้องปรับไปใช้ชีวิตแบบ “วิถีใหม่” (new normal)

นี่จึงเป็นอีกครั้งที่ประมุขฝ่ายบริหารย้ำให้เห็นถึง “หน้าที่ของพลเมืองไทย” และยังคาดหวังให้เด็กไทยตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมในยุคชีวิตวิถีใหม่ แต่ไม่ละเลยการมีส่วนร่วมในการทําประโยชน์เพื่อสังคมตามฐานะหน้าที่ของตน

“มีความรัก ความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อร่วมกันสร้างชาติไทยให้ก้าวไปสู่อนาคตที่สวยงาม โดยใช้คุณธรรมเป็นเครื่องประคับประคองจิตใจและสติให้สามารถดํารงตนอยู่ในความดีงาม” สารนายกฯ ระบุ

สิ่งสำคัญที่เด็กและเยาวชนทุกคน “ต้องยึดมั่นไว้” ตามความเห็นของ พล.อ. ประยุทธ์คือ “ความภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ รู้จักกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดา ผู้มีพระคุณ และครูอาจารย์ เพื่อให้สามารถเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ และเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณค่าได้อย่างน่าภาคภูมิใจ”

ส่วนคำขวัญปีล่าสุดที่ว่า “เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดี มีคุณธรรม” เป็นการนำคำที่เคยหลุดจากปากผู้นำตั้งแต่ปีก่อน ในช่วงต้องฝ่าวิกฤตโควิด-19 มาเรียงร้อยต่อกัน ไม่ว่าจะเป็น การใช้ชีวิต “วิถีใหม่” หรือแนวคิด “รวมไทยสร้างชาติ” และไม่ลืมผสมผสานคำอื่น ๆ ที่ พล.อ. ประยุทธ์เคยสื่อสารไว้ เช่น การประกาศขอ “อยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดี” ในช่วงเผชิญกับความเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ

2565 : รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม

ปี 2565 เป็นปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงต้องรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ที่สถานการณ์ย่ำแย่หนักตั้งแต่เกิดการระบาดระลอกเดือน เม.ย. เป็นต้นมา ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของเด็กไทยประสบปัญหาหนัก โดยเฉพาะด้านการเรียนที่นักเรียนจำนวนมากยังคงต้องเรียนออนไลน์

แต่เมื่อมีโอกาสลงพื้นที่ในจังหวะที่สถานการณ์โควิดดีขึ้นในบางช่วง อย่างเช่นเมื่อครั้งไปเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อเดือน ก.ค. การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ที่ จ.กระบี่ เมื่อเดือน พ.ย. การเดินทางไปตรวจความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ จ.อุดรธานีเมื่อต้นเดือน ธ.ค. และล่าสุดคือการลงพื้นที่ จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี เพื่อตรวจงานด้านความมั่นคงและการป้องกันโควิด-19 นายกฯ มักหาโอกาสทักทายและสนทนากับเด็ก ๆ ที่มาต้อนรับอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง

ที่ จ.กระบี่ เขาได้พูดคุยกับตัวแทนนักเรียนที่มารอรับว่า เด็กทุกคนต้องมีกระบวนการคิด เรียนรู้ ตั้งข้อสงสัย และสอบถาม

เด็กทุกคนต้องมีกระบวนการคิดในสมองตัวเอง วิสัยทัศน์ นายกฯ ก็พยามทำตรงนี้อยู่ คิดให้เป็นกระบวนการ ปัญหาอยู่ตรงนี้ใช่ไหม ปัญหาของเราคือตรงไหน ตรงโน่นตรงนี้ ย้อนกลับมาที่ตัวเราอยู่ตรงไหน ตัวเราทำอะไรหรือยัง”

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ยังยกการเรียนรู้ของตัวเองเป็นตัวอย่างว่า

“ข้าราชการทุกคนต้องพัฒนาใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ ต้องเรียนรู้อย่างที่ผมพูด…ผมพูดมาตลอด ต้องคิด นายกฯ ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ มาก่อนตั้งแต่เกิด ไม่ได้เป็น แต่ที่เป็นมาก็พัฒนาตัวเองมาจากทหารจากอะไรมา แล้วก็คิด คิด คิด อ่านหนังสือ เอาข้อมูลต่าง ๆ มาดูแล้วคิดในสมองว่าจะทำยังไงเรื่องนี้แล้วปรึกษาหารือกับ ครม. และ ส.ส.”

คำขวัญวันเด็ก “รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบสังคม” จึงเหมือนเป็นการตอกย้ำสิ่งที่นายกฯ ให้ความสำคัญนั่นก็คือ กระบวนการคิดและการเรียนรู้ เช่นที่เขาเคยพูดกับนักเรียนชาวกระบี่เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา

คำพูดนายกฯ

BBC

 

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว