พ.ร.บ. ควบคุมสื่อ : เมื่อรัฐเตรียมกำหนดว่าใครเป็น “สื่อแท้-สื่อเทียม”

 

Getty Images

Getty Images
ผู้ที่คัดค้านกฎหมายควบคุมสื่อนี้ มองว่า ข้อความข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ภาครัฐต้องการที่จะตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชน ให้เป็นไปตาม “จริยธรรม และศีลธรรมอันดีของประชาชน”

พ.ร.บ. ควบคุมสื่อ ทำไมถึงกลายเป็นวาระด่วนในรัฐสภา เพื่อเร่งผ่านร่างก่อนการเลือกตั้ง กับการตั้งคำถามขององค์กรสื่อหลายแห่งที่มองว่า กฎหมายนี้จะมอบอำนาจให้รัฐกำหนดว่าใครเป็น “สื่อแท้-สื่อเทียม” เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

หนึ่งในร่างพระราชบัญญัติ ที่ถูกหยิบยกมาเพื่อพิจารณาเป็นพิเศษ ในระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 8 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ที่จัดขึ้นเมื่อ 7 ก.พ. คือ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ….. ซึ่งเป็นร่างที่คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้เสนอ และยื่นเป็นวาระเร่งด่วน เพียงไม่นานก่อนเส้นตายยุบสภา นำไปสู่การเลือกตั้ง

คณะรัฐมนตรี ได้หยิบยกหลักการ และเหตุผลให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน อิงมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ระบุว่า บัญญัติให้บุคคล ซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ย่อมมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร หรือ การแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เสรีภาพดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน แต่ให้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ และภารกิจของหน่วยงานตนสังกัดอยู่ด้วย

“สมควรกำหนดให้มีองค์กร เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพของบุคคล ซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติรับรอง และกำหนดให้มีการส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชน เพื่อให้การทำหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพเป็นไปอย่างเหมาะสม” จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ผู้ที่คัดค้านกฎหมายควบคุมสื่อนี้ มองว่า ข้อความข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ภาครัฐต้องการที่จะตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชน ให้เป็นไปตาม “จริยธรรม และศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ด้านภาครัฐมองว่า สื่อมวลชนในยุคปัจจุบันไม่มีองค์กรควบคุมดูแล และกฎหมายรับรอง คล้ายกับสภาวิชาชีพอื่น ๆ เช่น สภาวิชาชีพทนายความ สภาวิชาชีพบัญชี สภาวิศวกร เป็นต้น

หาก ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่าน ผู้ที่ต้องการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน จำเป็นต้องได้รับ “ใบอนุญาต” จากสภาวิชาชีพสื่อมวลแห่งชาติ ก่อนที่จะสามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ สู่สาธารณชนได้ นั่นหมายความว่า องค์กรสื่อที่คัดค้านจึงวิจารณ์ว่า การผ่านกฎหมายนี้ ภาครัฐจะมีสิทธิ์ในการตีตราว่าใครคือ “สื่อแท้” และใครคือ “สื่อเทียม”

นิยามที่กว้าง

ในมาตราที่ 5 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุไว้ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมสื่อมวลชน “แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่าง”

คำว่า “หน้าที่ของปวงชนชาวไทย” และ “ศีลธรรมอันดีงาม” ถูกสื่อที่คัดค้านตั้งคำถามว่า เป็นนิยามที่กว้างขวางเกินไป โดยในเว็บไซต์ Change.org หัวข้อ “หยุด! ร่าง พ. ร.บ. ที่ควบคุมการสื่อสารของสื่อและประชาชน” ได้ตั้งคำถามต่อข้อสังเกตดังกล่าวว่า

“ถ้าสื่อนำเสนอประเด็นการยกเลิกใส่ชุดนักเรียน ชุดลูกเสือ หรือเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพ ตลอดจนงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ จะถือว่าเป็นการขัดกับ ‘หน้าที่ปวงชน’ หรือไม่ ? และถ้าหากสื่อนำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศ เซ็กส์ทอย หรือเนื้อหาเกี่ยวกับเซ็กส์ จะถูกตีความว่าขัดกับ “ศีลธรรมอันดี” หรือไม่ ?”

Thai News Pix
ในการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม “ราษฎร” เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 ได้ชูข้อเสนอยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามว่า ใครจะเป็นคนกำหนดว่า เสรีภาพในการสื่อสารรูปแบบใดที่ขัดกับคำว่า “หน้าที่ปวงชน และศีลธรรมอันดี”

อินฟลูเอนเซอร์โดนด้วย

ความพิเศษของร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฉบับนี้ ไม่ได้ควบคุมเพียงแค่สื่อที่อยู่ในสำนักข่าวต่าง ๆ ของไทยเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงเหล่าบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีรายได้จากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ตามคำนิยามที่ปรากฎอยู่ในมาตราที่ 3 ที่ระบุใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่า

“สื่อมวลชน หมายความว่า สื่อหรือช่องทางที่นำข่าวสาร สาร หรือเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่ประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปแบบอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการจัดทำสื่อหรือช่องทางดังกล่าวที่ดำเนินการเพื่อใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนโดยมิได้มุ่งแสวงหากำไร”

คำนิยามตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการแสดงความคิดเห็น หรือ นำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างเสรีภาพบนโลกออนไลน์ในอนาคต

นอกจากนี้ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะได้รับเงินอุดหนุนหลายทาง ไม่ว่าจะเป็น ภาษีประชาชน เงินจากรัฐบาลจัดสรรให้เป็นทุนเดิน เงินจากกองทุน กสทช. รวมถึงเงินจาก พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี อย่างน้อย 25 ล้านบาทต่อปี ซึ่งทำให้ถูกตั้งข้อสงสัยว่า สภาวิชาชัพที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่นี้ จะมีความน่าเชื่อถือ และความเป็นอิสระมากน้อยแค่ไหน โดยไม่ถูกแทรกแซงจากภาครัฐ

Thai Newx Pix

Thai News Pix

ความพยายามปิดปากสื่อในอดีต

การยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ภาครัฐพยายามออกกฎหมายเพื่อควบคุมเสรีภาพสื่อ หากย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2560 ได้มีการยื่นเสนอร่างกฎหมายที่มีลักษณะคล้ายกัน โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ้งเป็นองค์กรที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งขึ้นมา

แต่การผลักดันร่าง พ.ร.บ. ในครั้งนั้น ถูกคัดค้านอย่างมากจากตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนกว่า 30 แห่ง ตลอดจนประชาชนจำนวนมาก ทำให้กฎหมายควบคุมสื่อในปี 2560 ไม่เกิดผล และเงียบหายไป

ความพยายามดังกล่าว ได้กลับมาอีกครั้ง ในวันที่ 11 ม.ค. พ.ศ.2565 หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ก่อนที่วุฒิสภาจะผลักดันอย่างเร่งด่วนเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อส่งให้รัฐสภาพิจารณาในวันที่ 7 ก.พ.

สื่ออาจโดนดำเนินคดี

หนึ่งในมาตราของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ที่ทำให้เกิดความวิตก คือ มาตรา 44 ที่ระบุว่า ในกรณีที่คณะกรรมการจริยธรรมพิจารณาแล้วเห็นว่าการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน “เป็นความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย จะแจ้งให้หน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้น เพื่อดำเนินการตามหน้าที่ และอำนาจต่อไปก็ได้”

ข้อสังเกตของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย อาทิ เครือข่ายสื่อเสรี ภาคีนักเรียนสื่อ และสมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย หรือ DemAll คือ ประโยคที่ว่า “เป็นความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย”

หมายความว่า สื่อมวลชนอาจสามารถถูกดำเนินคดีได้ทั้งทางอาญา และทางแพ่ง หากการนำเสนอเนื้อหาไม่เป็นไปตามสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่กำหนดไว้ จนทำให้เกิดข้อถกเถียง และข้อกังวลว่า อะไรที่จะเป็นตัวกำหนดว่า เนื้อหาใดที่เข้าข่ายการปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน และเนื้อหาใดที่ไม่เข้าข่าย ซึ่งอาจทำให้เป็นช่องโหว่ในการสร้างความไม่เป็นธรรม และการปิดปากสื่อมวลชน หากนำเสนอเนื้อหาที่ขัดใจต่อคณะกรรมการสภาวิชาชีพได้

Thai News Pix

Thai News Pix

ตบเท้าร่วมคัดค้าน

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. เครือข่ายสื่อเสรี ภาคีนักเรียนสื่อ และ DemAll ได้ร่วมกันยื่นจดหมายถึง กมธ. ขอให้ชะลอการผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ….. โดยชี้ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว จะเป็นการแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน และขอให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงรอบด้าน

เมื่อวานนี้ (6 ก.ค.) หนึ่งวัน ก่อนการพิจารณาในรัฐสภา สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านการออก พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เป็นการดำเนินการโดยรวบรัด ขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ครบถ้วน และรอบด้านจากทุกภาคส่วนของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่มีหลายหลายประเภทแตกต่างตามช่องทางการเปิดรับสื่อที่เปลี่ยนแปลงรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

พร้อมชี้ว่า สาระสำคัญในจำนวนบทบัญญัติทั้ง 49 มาตรา ที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติจริยธรรมวิชาชีพ พ.ศ. … มุ่งหมายให้มีการจัดตั้งองค์กรชื่อ “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน อาจกลายเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนโดยอ้างเหตุผลการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนได้ในอนาคต

ด้านสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ออกแถลงการณ์เสนอให้ถอดถอนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ออกจากการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพราะร่างฎหมายนี้ดำเนินการร่างและผ่านขั้นตอนยาวนาน ขณะที่บริบทและสังคมสื่อเปลี่ยนแปลงไปมาก ยังมีเนื้อหาที่อาจไม่เหมาะกับยุคสมัย และมีสื่อใหม่ ๆ เกิดขึ้นไม่เข้าใจที่มาและหลักคิด แนวทางของกฎหมายฉบับนี้

พร้อมกับกังวลประเด็นการเปิดช่องให้รัฐใช้อำนาจแทรกแซงความอิสระของสื่อมวลชนและทำลายกลไกการกำกับดูแลกันเอง โดยเฉพาะที่มาของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และที่มาของรายได้สภาวิชาชีพสื่อมวลชน

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว