ฉันฟ้องร้องเว็บไซต์ที่นำพาฉันไปเจอคนล่วงละเมิดทางเพศฉัน

 

artistic image of woman on phone being watched by sinister man

BBC

คำเตือน : บทความนี้มีเนื้อหาที่อาจสร้างความไม่สบายใจ

ตอนเป็นเด็ก อลิซ (นามสมมุติ) ได้เข้าใช้เว็บไซต์พูดคุยผ่านวิดีโอ “โอเมเกิล” (Omegle) ที่มีระบบสุ่มให้เธอได้รู้จักกับชายผู้มีรสนิยมใคร่เด็กคนหนึ่ง ซึ่งในเวลาต่อมาได้ล่อลวงให้เธอเป็นทาสทางเพศออนไลน์ของเขา

10 ปีให้หลัง หญิงสาวชาวอเมริกันผู้นี้ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อ Omegle ซึ่งหลายฝ่ายชี้ว่าเป็นคดีสำคัญที่อาจเปิดทางให้ผู้ใช้งานสามารถฟ้องร้องเอาผิดต่อผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียรายอื่น ๆ ได้

บางครั้งเรื่องเล็กน้อยที่สุดก็สามารถสะกิดใจให้อลิซหวนนึกถึงช่วงเวลาที่เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็กได้

คนล่วงละเมิดเธอมักสั่งให้เธอแต่งตัวในแบบที่เขาชื่นชอบอย่างเฉพาะเจาะจง เขาชอบให้เธอมัดผมหางม้าไว้ที่ด้านซ้ายของศีรษะ

“ฉันอายุแค่ 11 ปี แต่เขาอยากให้ฉันดูเด็กลงไปอีก” อลิซเล่า

จนถึงทุกวันนี้ ทุกครั้งที่ผมของอลิซถูกดึงไปอยู่ที่ด้านซ้าย มันทำให้เธอตัวสั่นเทาด้วยความกลัวที่ฝังใจมายาวนาน

แม้ปัจจุบันอลิซเติบโตขึ้นเป็นหญิงสาววัย 21 ปีที่มีความมั่นใจในตัวเอง และมีความสัมพันธ์ที่ดี แต่แผลเป็นในจิตใจจากการถูกล่วงละเมิดในวัยเด็กจะยังอยู่กับเธอไปชั่วชีวิต

อลิซรู้จัก Omegle ครั้งแรกตอนที่เธอไปนอนค้างบ้านเพื่อน

“ฉันกับเพื่อน ๆ เข้าเว็บไซต์ Omegle ในงานปาร์ตี้ค้างคืน…ทุกคนที่โรงเรียนรู้จักเว็บไซต์นี้ แต่เห็นได้ชัดว่าไม่มีใครรู้ว่ามันอันตรายแค่ไหน” เธอเล่า

การวิเคราะห์จาก Semrush ระบุว่า ปัจจุบันเว็บไซต์นี้มีผู้ใช้งานเดือนละ 73 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นคนในอินเดีย สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เม็กซิโก และออสเตรเลีย

จากคำค้นในกูเกิล คนไทยจำนวนหนึ่งก็รู้จัก และเข้าใจเว็บนี้

สำหรับวัยรุ่นบางคน นี่คือช่องทางที่จะได้จับคู่พูดคุยกับคนแปลกหน้าผ่านทางวิดีโอ ซึ่งอะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

'alice' on a park bench anonymous

BBC
อลิซกล่าวหาว่า Omegle เป็น “พื้นที่ล่าเหยื่อ” ของพวกใคร่เด็ก

หลังได้ลองใช้เป็นครั้งแรก อลิซก็ลองเข้าใช้ Omegle ตามลำพัง จนในที่สุดก็ทำให้เธอได้จับคู่สนทนากับ ไรอัน ฟอร์ไดซ์ พ่อลูกสองชาวแคนาดาผู้มีรสนิยมใคร่เด็ก

ในตอนนั้นอลิซก็ไม่ต่างจากวัยรุ่นตอนต้นทั่วไปที่มักรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง แต่นายฟอร์ไดซ์ทำให้เธอรู้สึกดีขึ้น จากนั้นก็ล่อลวงให้เธอบอกข้อมูลการติดต่อส่วนตัว

“เขาปั่นหัวฉันได้ในทันที…ภายในเวลาไม่นานฉันก็ถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่เด็กไม่ควรต้องทำ” เธอเล่า

หลังจากหลอกให้อลิซส่งรูปโป๊ของเธอให้เขาจนสำเร็จ นายฟอร์ไดซ์ก็หลอกให้เธอเข้าใจว่าเธอได้กลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการผลิตและเผยแพร่สื่อล่วงละเมิดทางเพศเด็กไปแล้ว

ความหวาดกลัวว่าจะถูกตำรวจจับ อลิซจึงเก็บเรื่องทั้งหมดเป็นความลับจากครอบครัวและเพื่อนฝูง

“ฉันใช้เวลาส่วนใหญ่ในวัยเด็กไปกับการรอคำสั่งจากเขา ต้องรอทำตามความต้องการของคนที่คิดร้ายกับเด็กอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน”

เหตุการณ์เช่นนี้ดำเนินไปร่วม 3 ปี จนกระทั่งในที่สุดดูเหมือนว่านายฟอร์ไดซ์เริ่มหมดความสนใจในตัวอลิซ และการสื่อสารของพวกเขาก็ค่อย ๆ หายไป

อลิซคิดจะเก็บเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความลับไปจนวันตาย แต่แล้วตำรวจแคนาดาก็ได้รับแจ้งเรื่องการเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็กทางออนไลน์

แพม คลาสเซน ตำรวจหญิง จากฝ่ายพิสูจน์หลักฐานสถานีตำรวจในเมืองแบรนดอน เมืองเล็ก ๆ รัฐแมนิโทบาของแคนาดาได้สืบสาวไปยังไอพีแอดเดรส หรือหมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านของนายฟอร์ไดซ์ แล้วขอหมายศาลเข้าตรวจค้นในวันที่ 12 ม.ค. 2018

Constable Pam Klassen

BBC
แพม คลาสเซน ตำรวจหญิง ตามอลิซเจอจากเครื่องแบบนักเรียนที่ปรากฏในภาพอนาจารของเธอ

แม้ว่าตอนที่ตำรวจไปถึง นายฟอร์ไดซ์ไม่อยู่ที่บ้าน มีเพียงภรรยาของเขา แต่ตำรวจก็สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของเขา แล้วค้นพบภาพถ่ายและวิดีโออนาจารของเด็กหญิงหลายคน ที่เหยื่อส่งให้ตามคำสั่งของเขา

ในจำนวนนั้นเป็นรูปถ่ายและคลิปวิดีโอ 220 ชิ้นที่อลิซถูกบังคับให้ทำท่าทางต่าง ๆ เช่น สำเร็จความใคร่ให้ตัวเอง และปัสสาวะ ในขณะที่เธอมีอายุระหว่าง 11-14 ปี

เมื่อนายฟอร์ไดซ์กลับไปทานข้าวเที่ยงที่บ้าน ตำรวจจึงจับกุมเขา จากนั้นก็ใช้หลักฐานที่พบ ซึ่งบางรูปเป็นภาพอลิซสวมเครื่องแบบนักเรียน ตามตัวเธอจนพบ

ในเดือน ธ.ค. 2021 นายฟอร์ไดซ์ ในวัย 30 ตอนปลายถูกพิพากษาจำคุก 8 ปี การตรวจสอบพบว่านอกจากอลิซแล้ว เขายังใช้ Omegle ในการล่อลวงเหยื่ออีก 2 คนด้วย

ฟ้องเอาผิด Omegle

หลังจากนายฟอร์ไดซ์ติดคุก อลิซก็ตัดสินใจเอาผิด Omegle ในคดีความที่กำลังได้รับความสนใจไปทั่วโลก

การฟ้องร้องครั้งนี้เป็นคดีที่เรียกว่า “คดีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์” (product liability lawsuit) ซึ่งอาจเป็นครั้งแรกที่บริษัทเทคโนโลยีถูกฟ้องร้องจากความบกพร่องในการสร้างผลิตภัณฑ์

แม้ในรอบปีที่ผ่านมา จะมีการฟ้องร้องคดีความลักษณะนี้ต่อผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เช่น อินสตาแกรม และสแนปแชต แต่คดีของอลิซดูเหมือนจะได้รับความสนใจมากที่สุด

แคร์รี โกลด์เบิร์ก ทนายความของอลิซอธิบายว่า ในสหรัฐฯ มีกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารที่เหมาะสม (Communications Decency Act) มาตรา 230 ที่ทำให้การฟ้องร้องสื่อออนไลน์ทำได้ยากมาก

ดังนั้น ทีมงานจึงคิดว่าควรจะดำเนินการฟ้องร้องคดีนี้โดยมองว่า Omegle เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่การออกแบบของเว็บไซต์มีข้อบกพร่อง และทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน

Carrie Goldberg

BBC
แคร์รี โกลด์เบิร์ก ทนายความของอลิซ มองว่า Omegle เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่การออกแบบของเว็บไซต์มีข้อบกพร่อง และทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน

ทีมกฎหมายของอลิซชี้ว่า Omegle เอื้อให้พวกใคร่เด็กใช้เว็บไซต์สนทนานี้เป็น “พื้นที่ล่าเหยื่อ” เนื่องจากระบบการจับคู่สนทนาแบบสุ่มให้ผู้ใช้งานไม่มีคำเตือน หรือการตรวจสอบและยืนยันอายุของผู้ใช้

พวกเขาหวังว่าจะใช้เหตุผลนี้ในการเอาผิด Omegle ซึ่งอาจช่วยให้อลิซได้รับเงินชดเชยหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ Omegle ต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการออกแบบระบบให้บริการของเว็บไซต์

ทีมกฎหมายคิดว่าคดีนี้จะเป็นจุดผกผันที่สำคัญ และเป็นบรรทัดฐานของการฟ้องร้องบริษัทผู้ให้บริการสื่อลักษณะนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานทั่วโลก

Omegle ยังอาจถูกดำเนินคดีในสหราชอาณาจักรด้วย หากร่างกฎหมายความปลอดภัยออนไลน์ของรัฐบาลผ่านการอนุมัติ โดยร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอให้ลงโทษปรับมูลค่ามหาศาลต่อบริษัทผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ที่ล้มเหลวในการปกป้องเด็กและเยาวชนจากอันตราย

ตามล่าผู้สร้าง Omegle

ฝ่ายกฎหมายของ Omegle อ้างในศาลว่า เว็บไซต์ไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับอลิซ และปฏิเสธว่าเว็บไซต์เป็น “พื้นที่ล่าเหยื่อ” ของพวกใคร่เด็ก

อย่างไรก็ตาม Omegle เป็นเว็บไซต์ที่ถูกอ้างถึงในคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กกว่า 50 คดีที่มีการฟ้องร้องทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีกว่า 20 คดีในสหรัฐฯ รวมทั้งในสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สเปน โคลอมเบีย และไซปรัส

เลฟ บรูกส์ ผู้สร้าง Omegle ไม่ต้องการแสดงความเห็นเรื่องคดีของอลิซทางอีเมล บีบีซีจึงเดินทางไปที่บ้านพักของเขาในเมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา เพื่อสอบถามถึงเรื่องนี้ แต่เจ้าตัวหลบเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ในทุกกรณี

Leif K Brooks picture

Twitter
เลฟ บรูกส์ สร้าง Omegle ขึ้นตอนอายุ 18 ปี

Internet Watch Foundation มูลนิธิที่ต่อสู้กับปัญหาสื่ออนาจารเด็กทางอินเทอร์เน็ต เป็นอีกองค์กรที่พยายามติดต่อให้นายบรูกส์ปรับปรุงเว็บไซต์

องค์กรเผยกับบีบีซีว่า ที่ผ่านมาพวกเขาต้องจัดการกับคลิปอนาจารเด็กจาก Omegle ถึงสัปดาห์ละ 20 คลิป

แม้ไม่ยอมให้สัมภาษณ์ แต่นายบรูกส์ได้ส่งแถลงการณ์มายังบีบีซีโดยระบุว่า ผู้ใช้ Omegle คือ “ผู้ต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของพวกเขาเอง” ในขณะใช้งานเว็บไซต์ อีกทั้งยืนยันว่า Omegle เล็งเห็นความปลอดภัยของผู้ใช้เป็นสำคัญ โดยมีการสอดส่องการใช้งานด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และจากทีมงานที่เป็นมนุษย์ นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และองค์กรต่าง ๆ เพื่อหยุดยั้งการหาประโยชน์จากเด็ก

เป็นความจริงที่ผู้ล่วงละเมิดทางเพศเด็กถูกลงโทษหลังจาก Omegle ส่งมอบไอพีแอดเดรสให้ตำรวจ

อย่างไรก็ตาม นายบรูกส์ได้เปลี่ยนแปลงเว็บไซต์เพียงเล็กน้อยหลังจากได้รับแจ้งเรื่องคดีความของอลิซ โดยมีการใส่ช่องบนหน้าเว็บไซต์เพื่อให้ผู้ใช้งานกรอกยืนยันว่ามีอายุเกิน 18 ปี จึงจะเข้าใช้งานได้

แต่ทีมทนายความของอลิซชี้ว่า นั่นยังไม่เพียงพอ

ส่วนอลิซบอกว่าเธออยากให้ Omegle ปิดตัวลงไปเลย

“ฉันไม่คิดว่ามันมีประโยชน์พอที่จะเปิดต่อไป และทำลายชีวิตเด็ก ๆ” เธอกล่าว

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว