กัมพูชา: สมบัติอาณาจักรขอมที่ถูกโจรกรรมถูกพบอีกครั้งในกรุงลอนดอน

 

One piece of recovered jewellery

Cambodian Royal Treasure Collection
ผู้เชี่ยวชาญพยายามค้นหาว่า สมบัติบางชิ้นมีไว้ใช้ทำอะไร

เครื่องประดับอัญมณีจำนวนมากของกษัตริย์เขมรในสมัยเมืองพระนคร (Angkor) ซึ่งบางชิ้นมีอายุย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 7 ที่ถูกโจรกรรมไปได้ถูกค้นพบอีกครั้งในกรุงลอนดอนช่วงกลางปี 2022

สมบัติโบราณที่ถูกขโมยไปเหล่านี้เป็นของนายดักลาส แลตช์ฟอร์ด นักค้าโบราณวัตถุชาวอังกฤษสัญชาติไทย

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ในบรรดาเครื่องประดับส่วนใหญ่ที่ถูกพบในครั้งนี้ พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน และตกตะลึงเมื่อรู้ว่ามีสมบัติล้ำค่าเหล่านี้อยู่

เครื่องประดับอัญมณีเหล่านี้ได้ถูกส่งกลับคืนสู่กรุงพนมเปญ ของกัมพูชาแล้วเพื่อเตรียมนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

นายแลตช์ฟอร์ดเสียชีวิตในปี 2020 ขณะรอการพิจารณาคดีในสหรัฐฯ ครอบครัวของเขาให้คำมั่นจะส่งคืนโบราณวัตถุที่เขาโจรกรรมไปให้แก่กัมพูชา แต่ทางการในขณะนั้นไม่ทราบแน่ชัดว่าของที่จะส่งคืนมีอะไรบ้าง และจะมีขึ้นเมื่อใด

ดักลาส แลตช์ฟอร์ด

Getty Images
ดักลาส แลตช์ฟอร์ด นักค้าโบราณวัตถุเขมร เสียชีวิตในกรุงเทพฯ ขณะอายุ 88 ปี

นายแบรด กอร์ดอน หัวหน้าชุดสืบสวนเรื่องนี้ของกัมพูชา เป็นบุคคลแรกที่ได้เห็นทรัพย์สมบัติโบราณเหล่านี้ตอนที่เขาเดินทางมายังกรุงลอนดอนช่วงฤดูร้อนปีก่อน

เขาให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า ตัวแทนของครอบครัวแลตช์ฟอร์ดได้ขับรถพาเขาไปยังสถานที่ลับ “ที่ลานจอดรถมีรถคันหนึ่งที่มีกล่อง 4 กล่องอยู่ด้านใน”

“ผมแทบจะร้องไห้ ผมคิดว่า ว้าว อัญมณียอดมงกุฎของอารยธรรมกัมพูชาโบราณถูกเก็บอยู่ในกล่อง 4 กล่องที่ท้ายรถคันหนึ่ง”

เมื่อเปิดกล่องออกมาปรากฏว่ามีเครื่องประดับที่ทำจากทองคำและเพชรพลอย 77 ชิ้น เช่น มงกกุฎ เข็มขัด และต่างหู นอกจากนี้ยังมีโถขนาดใหญ่ที่เชื่อว่ามีอายุย้อนไปในศตวรรษที่ 11 และแม้จะยังไม่ได้รับการตรวจพิสูจน์แต่ดูเหมือนว่าเป็นถ้วยที่ทำจากทองคำแท้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าอาจเป็นโถข้าวของสมาชิกราชวงศ์เขมรในสมัยเมืองพระนคร

Tourists walk in front of the Angkor Wat temple complex

Getty Images
มีความเป็นไปได้ที่สมบัติบางชิ้นอาจถูกขโมยมาจากปราสาทโบราณต่าง ๆ เช่น นครวัด

มงกุฎชิ้นหนึ่งดูเหมือนจะเป็นของในยุคก่อนสมัยเมืองพระนคร (pre-Angkorian period) ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า น่าจะเป็นฝีมือของช่างศิลป์ในศตวรรษที่ 7

นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นดอกไม้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบว่ามันใช้สำหรับทำอะไร

จนถึงบัดนี้ยังไม่ชัดเจนว่าทรัพย์สมบัติล้ำค่าเหล่านี้ถูกขโมยมาได้อย่างไรและเมื่อไร หรือถูกนำมายังกรุงลอนดอนได้อย่างไร

เครื่องประดับหลายชิ้นมีลักษณะเหมือนรูปแกะสลักที่กำแพงปราสาทนครวัด ซึ่งถูกโจรกรรมโบราณวัตถุไปจำนวนมากในช่วงที่กัมพูชาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ปราสาทหลายแห่งของกัมพูชาถูกโจรกรรมโบราณวัตถุในยุคการปกครองของเขมรแดงช่วงทศวรรษที่ 1970 และในช่วงที่เกิดความไม่สงบในประเทศหลายสิบปีหลังจากนั้น

ดร.โสเนตรา เส็ง นักโบราณคดีที่ศึกษาเครื่องประดับและอัญมณีสมัยเมืองพระนครจากภาพแกะสลักโบราณของกัมพูชาเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสได้สัมผัสของจริงที่ค้นพบในอังกฤษ

เธอบรรยายว่า “เครื่องประดับเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่อยู่บนภาพสลักและข่าวลือต่าง ๆ นั้นเป็นความจริง กัมพูชามีอดีตอันรุ่มรวย”

Sonetra Seng holding a piece of jewellery

BBC
ดร.โสเนตรา เส็ง จดจำเครื่องประดับบางชิ้นได้จากภาพแกะสลักโบราณ

เครื่องประดับบางชิ้นที่พบในครั้งนี้เคยปรากฏสู่สายตาชาวโลกมาก่อน โดยนายแลตช์ฟอร์ดได้เผยแพร่ภาพเครื่องประดับโบราณ 5 ชิ้น ในหนังสือ Khmer Gold ที่เขาเป็นผู้เขียนร่วมในปี 2008

ศาสตราจารย์ แอชลีย์ ทอมป์สัน จากวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน (SOAS University of London) ระบุว่า หนังสือเล่มดังกล่าวเป็นเหมือนโบรชัวร์ คู่มือให้บรรดานักสะสมวัตถุโบราณเอกชนได้เห็นว่าเบื้องหลังมีการลักลอบขายวัตถุโบราณอะไรบ้าง

Front and back of one piece of recovered jewellery

Cambodian Royal Treasure Collection
สมบัติที่พบมี 77 ชิ้น บางชิ้นทำจากทองคำล้วน และบ่งชิ้นมีการประดับอัญมณี

ทางการกัมพูชาเชื่อว่า ยังมีเครื่องประดับและอัญมณีสมัยเมืองพระนครที่ถูกโจรกรรมไปอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการค้นพบ ก่อนหน้านี้พบหลักฐานจากอีเมลของนายแลตช์ฟอร์ดที่บ่งชี้ว่า เขาพยายามขายเครื่องประดับที่ค้นพบชุดนี้จากคลังในย่านตอนเหนือของกรุงลอนดอนจนถึงปี 2019

บีบีซีสอบถามไปยังสำนักงานตำรวจนครบาลลอนดอนว่ามีการสืบสวนเพื่อเอาผิดต่อผู้ร่วมขบวนการของนายแลตช์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักรด้วยหรือไม่ แต่ตำรวจปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเรื่องนี้

เมื่อปีก่อน บีบีซีได้เดินทางไปยังกัมพูชาเพื่อสัมภาษณ์ผู้เคยร่วมขบวนการโจรกรรมวัตถุโบราณแล้วนำไปขายให้นายแลตช์ฟอร์ด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าวัตถุโบราณหลายรายการตกอยู่ในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์วิคตอเรียและอัลเบิร์ต (วีแอนด์เอ) และพิพิธภัณฑ์แห่งอังกฤษ (บริติชมิวเซียม)

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว