เหตุใดผู้หญิงจีนยุคใหม่จึงไม่ต้องการมีบุตร

Getty Images อัตราการเจริญพันธุ์ของจีนในปี 2022 อยู่ที่ผู้หญิง 1 คนให้กำเนิดเด็ก 1.18 คน ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับหลายทศวรรษก่อน

“ฉันไม่มีปัญญาเลี้ยงลูก” กลอเรีย หญิงวัย 30 ปีเศษที่แต่งงานแล้วกล่าวกับบีบีซี

เธอได้ลองคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกในจีน และพบว่าอยู่ที่ประมาณเดือนละ 2,400 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 81,600 บาท) โดยที่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เธอต้องใช้เป็นประจำในแต่ละเดือน

เธอแจกแจงค่าใช้จ่ายดังกล่าวว่า “ค่าใช้จ่ายประจำวัน เช่น ค่าอาหาร 3,000 หยวน, ค่าโรงเรียนอนุบาล 2,000 หยวน, ค่าจ้างเลี้ยงเด็กในกรณีที่จำเป็น 1,000 หยวน รวมทั้งค่าการศึกษาในอนาคตอีกอย่างน้อย 10,000 หยวน”

กลอเรียทำงานเป็นครูโรงเรียนประถมแบบไม่เต็มเวลา ในมณฑลกวางตุ้ง ทางภาคใต้ของจีน

รายได้เฉลี่ยของคนทำงานภาคเอกชนในพื้นที่แถบนี้ของจีนอยู่ที่เดือนละประมาณ 6,000 หยวน (ราว 29,700 บาท)

การที่กลอเรียเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว เนื่องจากนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลจีนก็ทำให้เธอต้องมุ่งเน้นไปที่การผ่อนบ้าน และเก็บเงินสำหรับดูแลพ่อแม่ในวัยชรา

ประชากรหดตัว

จีนกำลังเผชิญปัญหาประชากรหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี และข้อมูลล่าสุดยังบ่งชี้ว่าผู้หญิงจีนส่วนใหญ่ต้องการมีลูกเพียงคนเดียว หรือไม่มีลูกเลย

ศูนย์วิจัยด้านประชากรและการพัฒนาของจีน ระบุว่า อัตราของผู้หญิงที่ไม่มีลูกเพิ่มขึ้นจาก 6% ในปี 2015 มาอยู่ที่ 10% ในปี 2020

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้หญิงจีนในวัยเจริญพันธุ์มีความต้องการมีบุตรลดลง โดยตัวเลขเฉลี่ยของจำนวนบุตรที่ต้องการมีอยู่ที่ 1.64 คนในปี 2021 จาก 1.76 คนในปี 2017

แม้ชาติอื่นในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จะมีอัตราการเกิดต่ำเช่นกัน แต่คนส่วนใหญ่ระบุว่าพวกเขาอยากมีลูก 2 คน ซึ่งสวนทางกับชาวจีน

ดร. ส่วง เฉิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านนโยบายสังคมระหว่างประเทศและสาธารณะ จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ลอนดอน ชี้ว่า “ในกรณีนี้ จีนแตกต่างออกไป เพราะไม่เพียงจะมีอัตราการเกิดต่ำ แต่ความต้องการมีบุตรยังต่ำด้วย”

ใน “การประชุมสองสภา” (The two sessions) ระหว่างสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) และสมาชิกคณะกรรมการแห่งชาติของสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน (CPPCC) ซึ่งเป็นการประชุมการเมืองครั้งสำคัญที่สุดของปีที่จัดขึ้นเมื่อ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา บรรดาที่ปรึกษาการเมืองได้เสนอแผนการต่าง ๆ ในการกระตุ้นจำนวนประชากร เช่น การสนับสนุนให้หญิงที่ยังไม่แต่งงานแช่แข็งไข่ รวมทั้งยกเว้นค่าเล่าเรียนและค่าตำราเรียนให้แก่เด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลไปถึงวิทยาลัย

อีกข้อเสนอหนึ่งคือการให้เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่มีคู่สมรสได้รับสิทธิเท่าเทียมกับเด็กจากครอบครัวที่พ่อแม่แต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ในจีน เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ยังไม่แต่งงานจะเผชิญความยากลำบากในการมีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือที่เรียกว่า “ฮู่โข่ว” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใช้ในการเข้าเรียน การรับบริการสาธารณสุข รวมทั้งสวัสดิการสังคมต่าง ๆ และการแจ้งชื่อเข้าทะเบียนบ้านของเด็กเหล่านี้ก็มีราคาค่อนข้างแพง

สังคมแห่งการแข่งขัน

Image of women looking at baby dolls

Getty Images
ทางการจีนไม่สนับสนุนการยุติการตั้งครรภ์ และให้ประชาชนเข้าถึงบริการรักษาผู้มีบุตรยากได้มากขึ้น

ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงบุตรที่สูงคือเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้หญิงจีนส่วนใหญ่เลือกไม่มีลูก

จีนเป็นสังคมที่มีการแข่งขันสูงตั้งแต่ลืมตาดูโลก พ่อแม่ชาวจีนมักพยายามหาโรงเรียนดี ๆ ให้ลูกด้วยการย้ายไปอยู่ในเขตที่มีโรงเรียนชื่อดัง และส่งลูกเรียนพิเศษต่าง ๆ

มีอา บัณฑิตวัย 22 ปี บอกกับบีบีซีว่า “ฉันไม่อยากให้กำเนิดชีวิตใหม่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการแข่งขันรุนแรงแบบนี้”

มีอาเกิดในเมืองล็ก ๆ ทางภาคเหนือของจีน และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ทุ่มเทเพื่อการศึกษา เธอสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือที่เรียกว่า “เกาเข่า” ที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดได้สำเร็จ และจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงปักกิ่ง

แต่เธอกลับรู้สึกเครียดอยู่ตลอดเวลา

มีอาอธิบายว่า หลังจากเรียนจบ เธอยังต้องแข่งขันกับคนที่ครอบครัวมีกำลังทรัพย์ส่งไปเรียนต่อเมืองนอก นี่ทำให้เธอคิดว่าตัวเองคงไม่สามารถหาเงินได้มากพอจะส่งลูกให้ได้รับการศึกษาแบบนี้

“ถ้าฉันไม่สามารถสนับสนุนลูกให้ได้รับโอกาสแบบนี้ แล้วฉันจะนำชีวิตใหม่มาสู่โลกนี้ทำไม”

ความสมดุลของชีวิตและงาน

Chinese woman holding her child

Getty Images
ผู้หญิงหลายคนกังวลว่าการมีบุตรอาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน

ผู้หญิงที่ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีทุกคนต่างบอกว่า ผลเชิงลบในการเป็นแม่ที่มีต่อหน้าที่การงาน คืออีกสาเหตุที่พวกเธอเลือกที่จะไม่มีลูก

พวกเธอเล่าว่า ในการสัมภาษณ์งานมักได้รับคำถามว่าพวกเธอมีแผนจะมีบุตรในอีก 2-3 ปีข้างหน้าหรือไม่ ถ้าตอบว่าใช่ โอกาสได้งานหรือการเลื่อนตำแหน่งก็จะลดลง

ดร.อวิ๋น โจว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ในสหรัฐฯ อธิบายว่า “ความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเรื่องพร้อมมีบุตรหรือไม่สำหรับผู้หญิงจีนที่มีการศึกษาสูงจำนวนมาก”

“การทำงานสำหรับผู้หญิงกลุ่มนี้คือการรู้จักตัวเอง…ในตลาดงานที่มีการกีดกันทางเพศสูง ทำให้เป็นเรื่องยากในการเลือกระหว่างหน้าที่การงานกับการมีลูก” เธอกล่าว

การต่อสู้ที่ยากลำบาก

มีอาไม่ต่างจากหนุ่มสาวจำนวนมากที่นำเสนอชีวิตของตัวเองผ่านทางโซเชียลมีเดีย หลังจากเธอโพสต์วิดีโออธิบายเหตุผลที่ไม่ต้องการมีลูก ก็ต้องประหลาดใจที่ได้รับกระแสตอบรับเชิงลบจำนวนมาก

ผู้ชมหลายคนกล่าวหาว่าเธอเห็นแก่ตัว บางคนบอกว่าเธอยังไม่รู้ใจตัวเองดีเพราะอายุแค่ 22 ปี และว่าเธอจะเสียใจกับการตัดสินใจนี้เมื่ออายุเข้าเลขสี่

บางคนเลยเถิดถึงขั้นกล่าวหาว่าเธอเป็น “พวกอิทธิพลต่างชาติ” ที่ยุยงให้ผู้คนไม่มีลูก

เมื่อเดือน พ.ค. 2021 รัฐบาลจีนประกาศใช้นโนบายลูก 3 คน หลังจากในปี 2020 หญิงจีนให้กำเนิดทารกเพียง 12 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขการเกิดต่ำที่สุดนับแต่ปี 1961

ดังนั้นหลายคนจึงมองว่าผู้หญิงที่เลือกไม่มีบุตรเป็นพวกที่สร้างความผิดหวังให้ประเทศชาติ

แต่มีอามองเรื่องนี้ว่า “มันคือทางเลือกส่วนตัวของฉัน ฉันไม่ได้ส่งเสริมความคิดให้คนอื่นไม่มีลูก ฉันเคารพคนที่ต้องการมีลูก”

Photo of Yuan Xueping

Yuan Xueping
ครอบครัวของ หยวน เสว่ผิง มองว่าผู้หญิงมีหน้าที่ให้กำเนิดลูกชายสืบสกุล

อีกคนที่ต่อสู้กับทัศนคติดังกล่าว คือ หยวน เสว่ผิง หญิงสาววัย 34 ปีจากเขตชนบทในจีนที่มีความเชื่อว่า ผู้หญิงมีหน้าที่ในการให้กำเนิดลูกชายเพื่อสืบสกุล

หยวนและพี่สาวของเธอไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย แม้ว่าเธอจะเป็น 1 ใน 3 ของเด็กเรียนเก่งที่สุดในโรงเรียน เพราะพ่อแม่ต้องส่งน้องชายของเธอให้เรียนในระดับสูง

“พ่อแม่ของฉันมักพูดว่า ‘เด็กผู้หญิงจะเรียนมหาวิทยาลัยทำไม เพราะไม่ช้าก็เร็ว พวกเธอก็ต้องแต่งงาน และอยู่บ้านเลี้ยงลูกอยู่ดี'” หยวนเล่า

ตอนที่น้าสาวของเธอหย่าจากสามี และต้องรับภาระเลี้ยงลูก 2 คนตามลำพัง ยิ่งทำให้เธอรู้สึกไม่อยากมีลูกขึ้นไปอีก

“ฉันไม่ศรัทธาเรื่องการแต่งงานอีกแล้ว” หยวนบอก ปัจจุบันเธอจากบ้านเกิดมาใช้ชีวิตในเมือง และมีความสุขกับการใช้ชีวิตที่ไร้พันธะ

“ฉันอ่านหนังสือ และใช้เวลาว่างกับเพื่อน ๆ ฉันรู้สึกเป็นอิสระ”

รายงานเพิ่มเติมโดย ลารา โอเวน

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว